ส.ส.ก้าวไกล สุดกังวลคดีม็อบ ทำคนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม


เพิ่มเพื่อน    

30 มี.ค.64 -  นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และกองทุน กล่าวถึงกรณีการดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมต่างๆ ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จนล่าสุดการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่สนามหลวง ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 อย่างรุนแรง และในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาล 2 รอบ ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมถึง 99 คน ทั้งๆ ที่เป็นการชุมนุมที่ขออนุญาตและเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น ได้สร้างความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฏหมายและปฏิบัติการที่รุนแรงเกินเหตุ สะเทือนไปถึงสิทธิของผู้ถูกจับกุมในกระบวนการยุติธรรมตลอดสาย

ตนเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องเคารพสิทธิการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนที่ได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยิ่งเป็นการชุมนุมที่แจ้งขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กลับอ้างเหตุการควบคุมโรคระบาด และใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึง พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงเทคนิค มาดำเนินการกับผู้ชุมนุม โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น สลายการชุมนุมโดยไม่ได้ขอคำสั่งศาลก่อน อีกทั้งเป็นการจับกุมและทำร้ายผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ผู้ชุมนุมมิใช่อาชญากร ในขณะที่การรวมตัวกันของผู้คนเป็นจำนวนมากในเหตุอื่น ทั้งการแสดงดนตรี ทั้งงานเลี้ยงต่างๆ จนถึงล่าสุดงาน “รัตนโกเซิร์ฟ” ที่มีศิลปิน นักแสดงไปร่วมงานไถเสก็ต ไม่ไกลจากหมู่บ้านทะลุฟ้าโดยไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย กลับสามารถจัดได้ และไม่มีใครถูกดำเนินคดีเหมือนกันกับผู้ชุมนุม ทำให้ถูกมองว่าตำรวจปฏิบัติเป็นสองมาตรฐานหรือเลือกใช้กฎหมายกับเฉพาะบางกลุ่ม

อีกหนึ่งประเด็น เมื่อมีการจับกุมผู้ชุมนุมหลายครั้งเจ้าหน้าที่มิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การนำผู้ถูกจับกุมไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 หรือ บก.ตชด.1 หรือล่าสุดที่ กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 2 หรือ บก.ปส. ทั้งๆ ที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.83 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้มีการนำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ถูกจับโดยทันที แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเป็นลายลักษ์อักษร ว่าอะไรคือข้อกฎหมายที่ให้ตำรวจนำผู้ถูกจับไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 ได้ และรวมถึงสิทธิในการพบทนายโดยทันที สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล เหมือนดังล่าสุดที่มีผู้ชุมนุมเกิดอาการชักเกร็งหลังถูกจับกุม สิทธิที่จะได้พบญาติ นี่ยังไม่นับอีกหลายกรณี เช่น กรณีการจับกุมเด็กและเยาวชน ที่ตนเองได้เข้าไปมีส่วนติดตามคดีในหลายครั้งซึ่งพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจขาดความเข้าใจต่อกฎหมายและไม่มีทักษะในการจัดการคดีที่เด็กและเยาวชนตกเป็นผู้ต้องหา ขนาดมีโอกาสไปสอนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในประเด็นเกี่ยวกับ กฎหมายการคุ้มครองเด็ก ยังถูกนักศึกษาตั้งคำถามว่า “อาจารย์ยังเชื่ออยู่ว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้เป็นธรรมจริง” ตนเองก็ยังสะอึกไปกับประโยคดังกล่าว

อย่างที่สาม คือหลักประกันในการชั้นราชทัณฑ์ ในฐานะที่ตนเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ... สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกลายมาเป็น พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ในวันนี้ ขณะยกร่างกฎหมายเราพูดกันมากถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง แต่ในวันนี้กลับมีเสียงสะท้อนและความกังวลหลายประการในการดูแลผู้ต้องขัง ซึ่งไม่อยากจะโทษไปที่เจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติงาน แต่เป็นเรื่องที่ รมต.ยุติธรรม และผู้ใหญ่ในกรมราชทัณฑ์ ต้องสร้างหลักประกันว่าผู้ต้องขังต้องได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย อยู่ในสถานะที่ในทางกฎหมายสันนิษฐานว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะได้ตัดสิน โดยการกล่าวเช่นนี้ตนมิได้ต้องการเรียกร้องอภิสิทธิ์ให้แก่ผู้ถูกจับกุมที่เป็นผู้ชุมนุมคนใด แต่ต้องการให้ราชทัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในการดูแลและแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังจริง ๆ

นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้พูดไปหลายครั้งคือหลังพิงสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม คือ ศาลยุติธรรม ในอดีตที่ผ่านมาเราเชื่อมั่นในศาลสถิตย์ยุติธรรมมาโดยตลอดว่าจะสามารถให้ความยุติธรรมอันเป็นที่ยุติและเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง แต่นับตั้งแต่คดีอากง และการฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา นายคณากร เพียรชนะ ที่ได้กล่าวประโยคอมตะไว้ว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนคำยุติธรรมให้กับประชาชน” ทำให้สังคมคลางแคลงสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น

“ยิ่งตอนนี้มีการพูดกันว่าในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีผู้พิพากษาศาลฎีกาบางท่านได้ตั้งคำถามถึงสิทธิในการประกันตัวและการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาและจำเลยว่าเพราะเหตุใดศาลถึงไม่ให้ประกันตัว ทั้งๆ ที่ไม่มีเงื่อนไขที่จะไม่ให้ประกันตัว ยิ่งเป็นเรื่องที่ศาลต้องแถลงข่าวสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนว่าจะไม่มีผู้ใดสามารถแทรกแซงในการออกคำสั่งและพิจารณาพิพากษาคดีอันเป็นอิสระของผู้พิพากษาในทุกระดับชั้นได้” อีกทั้งศาลต้องแสดงบทบาทตรวจสอบถ่วงดุลย์การใช้อำนาจฝ่ายบริหาร เช่น การออกคำสั่งทางปกครองหรือการกระทำทางปกครอง รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ  นั้น ผู้ไม่เห็นด้วยย่อมนำเสนอหรือฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ที่จะได้พิจารณาตามกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ได้

"ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรให้เราเชื่อมั่นและศรัทธากันจริงๆ" นายณัฐวุฒิ กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"