เกม ‘หยุดยิง’ 1 เดือน ของมิน อ่อง หล่าย


เพิ่มเพื่อน    

        นี่คือภาพทีมข่าว CNN สัมภาษณ์พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่เนปยีดอเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

                ถือเป็นการเปิดตัวของผู้ก่อรัฐประหารเมียนมาต่อสื่อตะวันตกเป็นครั้งแรก

                เป็นวันเดียวกับที่กองทัพเมียนมาประกาศเสนอ “หยุดยิง” 1 เดือนเริ่มตั้งแต่เมื่อวานเพื่อเปิดการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์และการปรองดองแห่งชาติ

                และเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตะจาน (สงกรานต์ของเมียนมา)

                แต่ข้อเสนอหยุดยิงที่ว่านี้มีข้อยกเว้น

                ไม่ปิดทางที่ทางทหารเมียนมาที่จะจัดการกับการกระทำใดๆ ที่ขัดขวางการทำงานของรัฐบาลทหารและการปกครองของรัฐบาลรัฐประหาร

                และแน่นอนนี่มิใช่การประกาศ “สงบศึก” กับฝ่ายผู้ประท้วงทั่วประเทศ

                การปราบปรามผู้ลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหารก็ยังจะดำเนินต่อไปอย่างโหดเหี้ยม

                ยอดคนตายตั้งแต่วันรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนตอนที่ผมเขียนคอลัมน์อยู่ (เช้าพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน คือ 536 (ไม่นับที่หายตัวไปโดยไม่มีร่องรอย)

                พลเอกมิน อ่อง หล่าย จับจังหวะนี้เสนอ “หยุดยิง” เพราะมีแรงกดดันจากนานาชาติหนักหน่วงยิ่งขึ้น

                คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตรียมประชุมนัดฉุกเฉิน โดยมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ยกระดับการคว่ำบาตรกองทัพเมียนมาให้หนักขึ้น

                มีการเสนอจากบางประเทศให้สหประชาชาติเข้า “แทรกแซง” ทางใดทางหนึ่งมากกว่าเพียงแค่ออกแถลงการณ์ประณามเท่านั้น

                อีกบางประเทศก็เสนอให้สหประชาชาติใช้ “เครื่องมือทุกอย่างที่มีอยู่” ในการแก้ปัญหาซึ่งอาจจะหมายรวมถึงมาตรการ Responsibility to Protect (R2P) ซึ่งหากถึงวิกฤติขนาดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริงๆ ก็อาจต้องส่ง “กองกำลังนานาชาติ” เข้ากู้สถานการณ์ก็ได้

                ในวันเดียวกับที่มิน อ่อง หล่าย ขยับไปในทิศทางที่ดูเหมือนจะ “ฟังเสียงข้างนอก” บ้าง ก็มีข้อเสนอจากฝั่งต่อต้านรัฐประหารเป็นร่างกฎบัตรประชาธิปไตยแบบ “สหพันธรัฐ”

                เรียกเป็นทางการว่า Federal Democracy Charter เป็นข้อเสนอจาก “รัฐบาลคู่ขนาน” หรือ “รัฐบาลพลัดถิ่น” ที่มาจากกลุ่ม CRPH หรือคณะกรรมการตัวแทนรัฐสภาสหภาพเมียนมา

                ข้อเสนอนี้เป็นการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสหภาพเมียนมาเป็นสหพันธรัฐเมียนมาตามเจตนารมณ์ของการสร้างสมานฉันท์แห่งชาติตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกแช่แข็งมาถึงวันนี้

                เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทหารเขียนขึ้นเมื่อปี 2008 ที่มีข้อจำกัดมากมายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยังเป็นอุปสรรคสำหรับการให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายได้เข้ามาร่วมในการสร้างชาติอย่างเท่าเทียมและสมศักดิ์ศรี

                หากไม่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภา. ที่ผ่านมา วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา จะเป็นวันสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะรัฐบาลอองซาน ซูจี ชุดแรก

                และเมื่อวานนี้ (1 เมษายน) ควรจะเป็นวันเริ่มต้นการทำงานของรัฐบาลอองซาน ซูจี ชุดใหม่ เพราะชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาอย่างท่วมท้น

                แต่ทหารก็คว่ำกระดานด้วยการยึดอำนาจเสียก่อน            

                ทำให้พม่าเข้าสู่สภาวะกลียุคทุกวันนี้

                เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา อองซาน ซูจี ได้รับอนุญาตจากกองทัพให้พบกับทนายความได้เป็นครั้งแรก

                ทนายความรายงานว่า จากที่ได้พูดคุยกับอองซาน ซูจี ผ่านออนไลน์ เธอดูสุขภาพดี

                แต่ก็เจอกับข้อหาเพิ่มขึ้นอีกหลายข้อหา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลทำให้เธอและพรรค NLD อาจจะถูกข้อหาอาญาจนหมดสิทธิ์ทางการเมืองหากกองทัพจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามคำมั่นสัญญา (ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีขึ้นหรือไม่ และจะมีขึ้นเมื่อไหร่ภายใต้กฎกติกาอย่างไร)

                ผมสนใจว่าทีมข่าว CNN นำโดยนักข่าวอาวุโส Clarissa Ward ที่ได้เข้าไปย่างกุ้งและสัมภาษณ์มิน อ่อง หล่าย นั้นได้ต่อรองเงื่อนไขอะไรบ้าง

                เพราะหากเป็นนักข่าวมืออาชีพ ก็จะต้องต่อรองว่าถ้าจะสัมภาษณ์ผู้นำรัฐประหาร ก็ต้องได้สัมภาษณ์อองซาน ซูจี ด้วยเพื่อจะให้ได้ภาพของทั้ง 2 ฝ่าย

                แน่นอนว่า มิน อ่อง หล่าย ต้องปฏิเสธ

                แต่นักข่าวอาชีพต้องยืนยันสิทธิ์ของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะนำเสนอความเห็นของตนผ่านสื่อที่มีหน้าที่สะท้อนถึงภาพที่แท้จริงของฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในความขัดแย้ง

                ท้ายที่สุดก็ต้องรอดูว่า CNN จะรายงานข่าวเรื่องนี้อย่างไร

                เพราะภาพที่ออกมานั้น ทีมข่าวนี้ได้รับการ “อารักขา” อย่างเหนียวแน่นจากทหารพม่าด้วย

                ไม่แน่ว่าเป็นการ “คุ้มครอง” หรือ “ควบคุม” กันแน่

                อีกทั้งยังสัมภาษณ์พระเถระชั้นผู้ใหญ่ คือประธานมหาเถรสมาคมพม่าด้วย

                และลงพื้นที่ไปดูย่านโรงงานชานเมืองย่างกุ้งที่มีเจ้าของเป็นคนจีนที่เคยถูกเผา

                น่าจะเป็นการชี้แนะของฝ่ายทหารให้ CNN ไปสัมภาษณ์ผู้คนที่จะพูดเข้าข้างฝ่ายทหาร

                มิน อ่อง หล่าย เล่าเกมปราบปรามหนักแล้วก็หันมาเล่นเกมสร้างภาพลักษณ์กับโลกภายนอก

                หรือแรงกดดันจากข้างในและข้างนอกกำลังมีผลต่อเขา?

                เรายังต้องเกาะติดกันทุกย่างก้าวทีเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"