เปิดยุทธศาสตร์”เคทีซี”ปี2564   เร่งรุกขยายธุรกิจมุ่งสู่การเป็นสินเชื่อครบวงจร  


เพิ่มเพื่อน    

 

โควิด-19 เข้ามาเร่งหลายปัจจัยให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีและการปรับตัวของธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์ โดยความไม่แน่นอนหลายอย่างทำให้ภาคธุรกิจต้องวางแผนงานให้รัดกุม และเน้นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น สำหรับ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  หรือเคทีซี ก็ประกาศเตรียมพร้อมที่จะรุกขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อ หวังสร้างโอกาสสู่ผู้นำธุรกิจสินเชื่อเบ็ดเสร็จครบวงจร  ควบคู่ไปกับการเตรียมศึกษาโมเดลธุรกิจใหม่ สินเชื่อมีหลักประกันหลังการเข้าถือหุ้นใหญ่เคทีบี ลีสซิ่ง ที่จะมุ่งเน้นกำไรโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และสานต่อการพัฒนาคน กระชับองค์ความรู้แน่นให้คนกับเทคโนโลยีทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จเดียวกัน  

เปิดยุทธศาสตร์เดิมเกมปี 64 

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี เปิดเผยว่า  สถานการณ์เศรษฐกิจในปีที่ผ่านมามีความผันผวนค่อนข้างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรงในหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะภาคของการท่องเที่ยวและโรงแรมที่ประสบปัญหาอย่างหนัก รวมถึงธุรกิจร้านอาหารและซัพพลายเชนทั้งหมด ที่ต้องเจอปัญหาค่อนข้างมากไม่แตกต่างกัน ภาครัฐพยายามบรรเทาความเดือดร้อนธุรกิจระดับหนึ่ง แต่หากธุรกิจไปไม่ได้ก็คือไปไม่ได้ จะเห็นได้ว่าบางกลุ่มรายได้หายไป อย่างเช่นนักบินที่เคยเป็นที่ต้องการอย่างมาก ก็ต้องถูกเลิกจ้าง  

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกเทลและเอสเอ็มอีเองก็มีผลกระทบหนักไม่แตกต่างกัน แน่นอนว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องทำหลายอย่างที่แตกต่างไปจากอดีต โดยปกติหากมีความเสี่ยงสูง อัตราดอกเบี้ยจะสูง แต่กลับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อแบ่งช่วยภาคธุรกิจและคนที่ได้รับผลกระทบ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่คาดหมายและหวังว่าจะเกิดมาก่อน ทำให้แต่ละที่ต้องปรับตัว   

จากวิกฤติที่รุนแรงของโควิด-19 และมาตรการต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง เป็นตัวกระตุ้นให้แผนยุทธศาสตร์ของเคทีซีในปี 2564 นี้ ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้เคทีซีเติบโตได้มากขึ้นและเร็วขึ้น คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจเดิม เน้นทำกำไรแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างคลื่นใต้น้ำจนเป็นพลังคลื่นลูกใหญ่รับเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด หรือที่เรียกว่า Infinite Game โดยจะมุ่งขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันที่หลากหลาย เพื่อให้เคทีซีเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดที่ผู้บริโภคมองหา  

การเข้าถือหุ้นในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือเคทีบี ลีสซิ่ง 75.05% จะทำให้เคทีซีสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันได้อย่างครบวงจร และยังได้ใช้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม  โดยบริษัทจะเข้าไปศึกษาระบบในเคทีบี ลีสซิ่ง และคาดว่าจะเริ่มออกแบบโมเดลธุรกิจได้หลังจากผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น 

เดินหน้าเต็มสูบ 

สำหรับธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเคทีซี พี่เบิ้ม แม้จะเป็นธุรกิจน้องเล็กที่เพิ่งเข้ามาเมื่อปลายปี 2563 แต่บริษัทคาดหวังจะมุ่งขยายตลาดเป็นหลักในปี 2564 ด้วยความที่เป็นสินเชื่อมีหลักประกันซึ่งมีความสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนรวดเร็วสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยจะเน้นทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์ มีทีมงาน “พี่เบิ้ม Delivery” ติดต่อประสานงานกับลูกค้าเป้าหมายโดยตรง  

พร้อมกันนี้ยังมีแผนขยายพื้นที่ให้บริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เริ่มต้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนบน อีกทั้งร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจและธนาคารกรุงไทยขยายฐานสมาชิกและออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ตลอดจนร่วมมือกับเคทีบี ลีสซิ่ง เพื่อหาโอกาสต่อยอดและสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถร่วมกัน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการกลุ่มเป้าหมาย และสร้างประสบการณ์ที่ดีด้วยเป้าหมายยอดสินเชื่อในปี 2564 ประมาณ 1,000 ล้านบาท 

ส่วนธุรกิจเดิมซึ่งเป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล บริษัทจะมุ่งรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ที่ดี เน้นรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับระบบปฏิบัติการและระบบไอทีที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้สมาชิกเกิดความมั่นใจและได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยทุกครั้งที่ทำรายการธุรกรรม  

ทั้งนี้ กลยุทธ์หลักในการทำตลาดธุรกิจบัตรเครดิต จะยังใช้คะแนน KTC FOREVER ขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้จ่ายผ่านบัตร อีกทั้งรักษาและขยายความแข็งแรงของเครือข่ายพันธมิตรคู่ค้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และสนับสนุนการเติบโตของพันธมิตรด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเคทีซี เน้นส่งเสริมการตลาดในลักษณะออนไลน์มากขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้บัตรของผู้บริโภคปัจจุบัน ที่เปลี่ยนจากใช้เงินสดมาจ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมถึงสร้างคอนเทนต์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายในปี 2564 เติบโต 8% หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท 

สร้างแบรนด์ 

ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะใช้กลยุทธ์การตลาดสร้างความผูกพันกับฐานสมาชิกเดิม วางตัวเป็นบัตรกดเงินสดใบแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน โดยออกแคมเปญแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและส่งเสริมให้สมาชิกมีวินัยการชำระเงิน อีกทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยจุดเด่น “รูด โอน กด ผ่อน” ภายในบัตรเดียว กับบริการเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอป KTC Mobile 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์เข้าบัญชีธนาคารได้ถึง 13 ธนาคาร และบริการเพิ่มวงเงินฉุกเฉิน หรือขอรหัสเบิกถอนเงินสดที่ทำรายการได้เองตลอด 24 ชั่วโมง  

นอกจากนี้ จะเดินหน้าสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดสัมมนาให้ความรู้การเงิน และคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบของสื่อที่เข้าใจง่าย รวมทั้งเวิร์กช็อปสัมมนาพารวยที่เน้นการนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เสริม พร้อมคำแนะนำด้านการคำนวณต้นทุนและวิธีหาช่องทางขายเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต โดยตั้งเป้ารักษายอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลในปี 2564 ให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา 

เพิ่มออนไลน์ 

นายระเฑียร กล่าวว่า กลยุทธ์การขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเคทีซี พราว จะให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้สมัครมากขึ้น เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าคุณภาพที่ต้องการสินเชื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและมีวินัยทางการเงิน ลดความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และอัตราหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ผ่าน 4 ช่องทางหลัก คือ ธนาคารกรุงไทย ผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินเคทีซี (อิสระ) ทั่วประเทศ เคทีซี ทัช ทุกสาขา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายทางโทรศัพท์ โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายจำนวนสมาชิกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ บัตรเครดิต 235,000 ใบ และสมาชิกบัตรกดเงินสดเคทีซี พราว 135,000 ราย 

ในส่วนของการขยายฐานร้านค้ารับบัตรเคทีซี จะเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  เพื่อเข้าถึงร้านค้าขนาดกลาง ร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าออนไลน์ รองรับการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ และโซเชียล คอมเมิร์ซ รวมถึงเพิ่มช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Link Pay และสแกน QR Code ที่ลูกค้าสามารถทำรายการธุรกรรมได้ง่ายด้วยตนเอง รวดเร็วและสะดวกทุกที่ทุกเวลา  

พัฒนาศักยภาพองค์กร 

บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กรต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคนเคทีซีให้เตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงและการขยายธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่งเสริมให้คนทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวไปกับองค์กรทุกสถานการณ์ ทั้งเรื่องของดิจิทัล การรีสกิลและอัพสกิลในเนื้องาน โดยพนักงานสามารถเลือกเรียนรู้ได้เองตามความสมัครใจผ่านอีเลิร์นนิ่งและการเข้าคอร์สเรียน 

“ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทยังต้องประเมินผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะ โดยคาดว่าสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดยังมีอยู่ และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ บริษัทมีแผนจัดสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น และระดมเงินกู้ยืมระยะยาวไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ในช่วงอายุที่สั้นลงจากเดิม เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2564 และการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อบริษัท โดยจะเน้นการบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นสำคัญ และบริหารพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดี โดยคาดว่าในปี 2564 บริษัทจะมีอัตราการเติบโตของกำไรในระดับที่ยอมรับได้และดีกว่าปีที่ผ่านมา”  

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการเคทีซีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ย ค้างรับรวมเท่ากับ 90,149 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวมเท่ากับ 1.8% ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,575,684 บัตร สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 60,235 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิต 1.3% ธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 814,329 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,915 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับ 2.7%. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"