วิกฤติพม่าก็คือวิกฤติอาเซียน ...และ ‘วิบากกรรม’ ของไทย


เพิ่มเพื่อน    

      สัปดาห์นี้เราจะได้เห็นการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนเพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤติพม่าหรือไม่

                เป็นคำถามที่มีความหมายมากสำหรับการพิสูจน์ว่ากลไกอาเซียนจะยังมี “น้ำยา” ในการแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อน แต่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ขององค์กรภูมิภาคนี้หรือไม่อย่างไร

                ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู้นำอาเซียนจะสามารถหาทาง “พูดเป็นเสียงเดียวกัน” อย่างชัดเจนในประเด็นที่กำลังท้าทายศักยภาพของอาเซียนอย่างหนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมากว่า 50 ปี

                ณ จุดนี้เราพอจะเห็นว่าอาเซียนเองก็แยกเป็นสองสามกลุ่มในกรณีเมียนมา

                กลุ่มแรกที่มีความคึกคักและกระตือรือร้นในการที่จะให้อาเซียนแสดงบทบาท “เชิงรุก”

                มีอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

                ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งในอาเซียนที่เลือกจะใช้แนวทาง “เชิงตั้งรับ” เพราะเกรงใจกองทัพเมียนมาพอสมควร นั่นคือ เวียดนาม, สปป.ลาว และกัมพูชา

                ส่วนบรูไนในฐานะเป็นประธานอาเซียนปีนี้วางตัวเองไว้ตรงกลางเพื่อการประสาน

                ถามว่าประเทศไทยเรายืนอยู่ตรงไหนของสมการที่ว่านี้

                น่าจะบอกว่า “ยืนอยู่ตรงกลาง”...แต่ก็เป็นกลางที่เอนเอียงไปข้าง “เกรงอกเกรงใจ” ฝ่ายกองทัพของมิน อ่อง หล่าย

                นั่นคือ “วิบากกรรม” ของไทยที่จะต้องวางจุดยืนของเราให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย

                และคำนิยามของผลประโยชน์ของไทยจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของอาเซียน

                ซึ่งต้องไปทางเดียวกับผลประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมาด้วย

                และต้องเป็นแนวทางเดียวกับทิศทางของประชาคมโลก

                โดยจำเป็นต้องสอดประสานกับจุดยืนของสหประชาชาติ, สหรัฐและสหภาพยุโรป

                ที่สอดประสานกับแนวทางของประเทศยักษ์ๆ ในเอเชีย เช่น อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้

                ที่ไปทางเดียวกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

                แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการประสานกับยักษ์ใหญ่อย่างจีนและรัสเซีย

                ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการวางตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับประเทศไทยในสภาพของ “ทางหลายแพร่ง” ขณะนี้

                แต่ก็ไม่มีทางเลือกสำหรับไทยที่จะต้องตัดสินใจแสดงบทบาทที่เป็น “เชิงรุก”

                และต้องเป็น “เชิงรุก” ที่สร้างสรรค์, เชื่อมโยง และตอบโจทย์สำคัญๆ ของประชาคมโลกด้วย

                เพราะหาไม่แล้ว หากวิกฤติของเมียนมาไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาก็จะนำไปสู่การล่มสลายของเมียนมา

                ซึ่งก็จะนำมาซึ่งภัยคุกคามต่อความมั่นคงทั้งด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                ความยากเย็นยิ่งของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในการปรึกษาหารือเพื่อปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนนั้นคือคำถามที่ว่า

                จะเชิญ “ผู้นำ” ของเมียนมามาร่วมประชุมด้วยหรือไม่

                ถ้าเชิญ จะเชิญมิน อ่อง หล่าย หรือ อองซาน ซูจี และถ้าเชิญทั้ง 2 คน มิน อ่อง หล่าย จะยอมปล่อยตัว อองซาน ซูจี เพื่อร่วมประชุมหรือไม่

                หากเป็นแค่ มิน อ่อง หล่าย จะทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ถูกมองว่าโอนเอียงไปข้างทหารหรือไม่

                หรือหากผู้นำอาเซียนจะประชุมเพียง 9 ประเทศสมาชิก โดยไม่มีผู้นำจากเมียนมา จะมีมติไปทางใด

                คำถามสำคัญต่อมาก็คือว่า สมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะมี “จุดยืนร่วมกัน” หรือ “พูดเป็นเสียงเดียวกัน” (Speak with one voice) ได้หรือไม่

                และหากประนีประนอมเป็น “เสียงเดียวกันที่อ่อนปวกเปียก...ไร้พลัง” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของอาเซียนเองหรือไม่

                เพราะหากพูดเป็นเสียงเดียวกันไม่ได้ เพราะมีความเห็นต่างกันอย่างมาก ก็จะสะท้อนว่าอาเซียน “หมดมนต์ขลัง” ไร้น้ำยา

                แต่หากต่อรองกันจนมีคำแถลงการณ์ร่วมที่ไร้พลัง ใช้ภาษากว้างๆ ที่ไม่มีผลทางปฏิบัติก็อาจจะทำให้อาเซียนหมดความสำคัญลงไปเช่นกัน

                ทางออกที่อาจจะนำไปสู่การ “ปริแยก” ของอาเซียน แต่อาจจะจำเป็นก็คือการ “ตกลงที่จะไม่ตกลง” ในมวลหมู่สมาชิกอาเซียน

                นั่นคือสูตร ASEAN Minus X หรือ “อาเซียนลบเอ็กซ์”

                อันหมายถึงการที่สมาชิกกลุ่มหนึ่ง (ไม่ต้องครบทั้ง 10 ประเทศ) เดินหน้าประกาศทิศทางของอาเซียนไปก่อน ใครไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องร่วมขบวนการนี้

                หากเดินหน้าด้วยสูตรนี้ก็อาจจะถูกมองว่า “อาเซียนแตก” แต่ก็อาจจำเป็น

                เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ อาเซียนเองก็อาจจะต้องเผชิญวิกฤติที่ใหญ่กว่าการไม่ทำอะไรเลยก็ได้

                ทั้งหมดนี้คือภาพ “ฉากทัศน์” สำหรับก้าวต่อไปของอาเซียนที่กำลังท้าทายว่ากลไกภูมิภาคแห่งนี้จะเผชิญกับการท้าทายที่หนักหน่วงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งมาได้หรือไม่

                เป็นการท้าทายว่าอาเซียนจะกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดไม่เคยลองมาก่อนหรือไม่

                วิกฤติเมียนมาก็คือวิกฤติอาเซียน

                และกลายเป็นวิบากกรรมของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"