เปิดตัวคู่มือ “บ้านนี้มีความหลากหลายทางเพศ”


เพิ่มเพื่อน    

สสส.-เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เปิดตัว “คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ” ครั้งแรกในประเทศไทย 31 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน International Transgender Day of Visibility หรือ TDOV รู้เรื่องเพศมีมากกว่า 11 รายการ LGBTQ+สร้างองค์ความรู้ เสริมความเข้าใจเด็ก-เยาวชนในครอบครัว ครอบครัว รร. สังคมมีบทบาทสร้างความมั่นใจ คลายกังวล “ไม่กล้าเปิดตัว-ร่างกายเปลี่ยนแปลง-อนาคตการศึกษา”

 

 

          “จำได้มั้ยว่าเรารักลูกตั้งแต่เมื่อไหร่ เรารักลูกตั้งแต่วินาทีที่รู้ว่ามีเขา ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าเขามีเพศอะไรไม่ใช่หรือ ความรักมันอยู่ตรงนั้นแล้ว แล้วทำไมต้องมาทุกข์เมื่อรู้ว่าเขามีความหลากหลายทางเพศ ที่ทุกข์เพราะความคาดหวัง แล้วคนที่เป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวังจะให้ลูกมีความสุข แล้วทำไมเราต้องผิดหวังที่ลูกเป็นตัวเอง เพราะมนุษย์จะมีความสุขแน่ๆ เมื่อเขาได้เป็นตัวของตัวเองและได้รับการยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น” หมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านคุยกับ ซินดี้ สิรินยา วินศิริ ใน “Balanced Mama” The Standard Podcast "พ่อแม่ควรทำความเข้าใจอย่างไรในวันที่ลูกมาบอกว่าเป็น LGBTQ+" ๒๓ มิ.ย.๒๕๖๑

          “เราเลี้ยงลูกผิดไปหรือเปล่า” “แล้วต่อไปลูกจะมีความสุขเหมือนคนอื่นๆ มั้ยนะ” ข้อความเหล่านี้เป็นความทุกข์ใจของคนเป็นพ่อแม่ เมื่อพบว่าลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวมีความหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม ถูกรังเกียจติฉินนินทา ใช้ชีวิตลำบาก ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ มารองรับเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ หลุมหลบภัยกลับเป็นกับดักระเบิดร้ายทำร้ายชีวิตของพวกเขาเสียเอง

          "บ้านนี้มีสีรุ้ง” คู่มือการดูแลสุขภาวะของเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นเสมือนเส้นประเส้นแรก ทำหน้าที่เส้นประเพียงบางๆ เพื่อเป็นไกด์ไลน์หรือสะพานเชื่อมความรู้ ความเข้าใจ การสื่อสารความรู้สึกเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง ปลอดภัยซึ่งกันและกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อรับมือกับความทุกข์ ความสุข ความชัง ความสมหวัง ความผิดหวังที่ปะทะกับชีวิตได้อย่างเท่าทัน มีความพึงพอใจในเนื้อตัวหัวใจเพศสภาพของตัวเองอย่างอิสระและเต็มภาคภูมิ....

 

 

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเวทีเสวนา เรื่องเล่าสายรุ้ง We Are Different : A Journey of the Rainbow เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ เปิดตัว “คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” เพื่อเป็นสื่อกลาง เนื่องด้วยวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสากลของการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ (International Transgender Day of Visibility หรือ TDOV อันเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราทุกคนจะร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ ให้ตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีสุขภาวะ

          วิทยากรบนเวทีเสวนา มัจฉา พรอินทร์ เครือข่ายครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ ศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงแห่งเอเชีย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนัก 9 สสส. อ.นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี ดำเนินรายการโดย เวณิกา วิชัยวัฒนา ผู้ประกาศข่าวบันเทิงทีวีไทย มีล่ามภาษามือถ่ายทอดให้คนเป็นใบ้ได้เข้าใจการเสวนาบนเวทีและทางออนไลน์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ วิทยากรผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดพร้อมใจกันเปิดประตูสายรุ้ง

 

ภรณี ภู่ประเสริฐ

         

          ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ความหลากหลายทางเพศสะท้อนมิติทางสุขภาวะ เพราะหลายคนยังขาดการยอมรับจากครอบครัว การดำเนินงานของโครงการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ความกังวลของครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ 3 ประเด็น คือ 1.ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เพราะกลัวไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัวและสังคม

          2.ไม่กล้าเปิดเผยหรือเปลี่ยนร่างกายให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะมีข้อจำกัดในชีวิต 3.มีความกังวลต่ออนาคตด้านการศึกษาและหน้าที่การงาน สอดคล้องกับการศึกษาอีกหลายฉบับทั้งของไทยและต่างประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนการจัดทำ “คู่มือผู้ปกครองดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจ จนเกิดพื้นที่ปลอดภัย ระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองกับบุตรหลานหลากหลายเพศ รวมไปถึงคำแนะนำต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายเพศ เพราะสุขภาวะที่ดีเริ่มต้นได้ที่บ้าน เมื่อครอบครัวรับฟังบุตรหลานด้วยความรักและความเข้าใจ เขาก็จะกล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจและมีความสุขในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

          หนังสือคู่มือบ้านนี้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเพื่อนคู่คิดก่อนใช้ประสบการณ์ การยอมรับด้วยการเปิดเผยตัวเอง กว่าลูกจะรวบรวมความกล้าเพื่อบอกคนในครอบครัวว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศอย่างไร หนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มืออย่างดีสำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ได้เข้าใจลูก ด้วยพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน การใช้ศิลปะในการพูดคุยเพื่อลูกจะได้เข้าใจและได้รับการยอมรับ เพื่อเป็นการป้องกันการคุกคามทางเพศ สสส.มีความสนใจเรื่องราวหลากหลายทางเพศ เพราะโลกปัจจุบันมีเพศทั้งหมดมากกว่า 11 รายการ LGBTQ+ บางครั้งก็เป็นเพศชาย เพศหญิง เรื่องเพศเป็นสากลที่ได้รับการยอมรับมากกว่า 10 ปีมาแล้ว ไม่ได้มีเพียง 2 เพศดังแต่ก่อน

 

 

          เด็กบางคนรู้ว่าตัวเองมีเพศตรงข้ามกับกายภาพตั้งแต่อายุน้อยลงไปเรื่อยๆ อายุ 7 ขวบก็รู้แล้ว บางคนตั้งแต่เกิด ยิ่งรู้เร็วสามารถปรึกษาแพทย์ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ สามารถปรับฮอร์โมนเพศได้ กลุ่มที่มีปัญหาข้อจำกัดทำให้มีปัญหาอุปสรรคเข้าถึงระบบประกันสุขภาพเหมือนกับคนทั่วไป หลายคนเข้าไม่ถึง ไม่ได้รับการบริการที่เป็นมิตร มีการแบ่งโซนพื้นที่ชายหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มเปราะบางเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ต้องเลือกใช้คำนำหน้า นาย หรือนาง นางสาว ทำให้ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิในการใช้ชีวิต ส่งผลกระทบต่อความสุข สุขภาวะที่ควรจะได้รับ ข้อมูลหลายอย่างถูกซ่อนไว้ใต้ดินไม่ได้รับการเปิดเผย การจัดทำคู่มือนี้จะได้ให้ทุกฝ่ายได้ศึกษา ไม่ต้องไปรอถามเพื่อนฝูง

 

ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์

 

          ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ ทำงานเชิงรุกร่วมกับ สสส.นานกว่า 2 ปี เพื่อถอดบทเรียนและประสบการณ์ดูแลเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ คู่มือฉบับนี้นอกจากแบ่งปันความรู้เรื่องสุขภาวะ ยังสะท้อนมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรม ผ่านการสะท้อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาสุขภาพและเป็นคู่มือฉบับแรกๆ ของไทย จากการสานพลังกับภาคีเครือข่ายครอบครัว เด็ก-เยาวชน สถาบันการศึกษาที่สนใจขับเคลื่อนความเข้มแข็งเรื่องเพศทางเลือก ที่จะใช้เป็นองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาในครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ และเนื่องจากวันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน International Transgender Day of Visibility หรือ TDOV ซึ่งมีความสำคัญสำหรับคนข้ามเพศ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของพวกเขาตระหนักถึงตัวตนคนข้ามเพศให้เติบโตได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยในชีวิต

 

มัจฉา พรอินทร์ และ ศิริวรรณ พรอินทร์

 

          มัจฉา พรอินทร์ เครือข่ายครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ กล่าวว่า วันหนึ่งที่ลูกบอกกับเธอและคู่ชีวิตของเธอว่า “หนูชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง” หลายครอบครัวอาจกังวล เพราะยังมีอคติเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่เธอและคู่ชีวิตได้เปิดพื้นที่ให้ลูกสามารถพูดคุยได้อย่างเปิดใจทุกเรื่อง และเราทั้งคู่ก็ทำให้ลูกได้เห็นรูปแบบความรัก ความสัมพันธ์ ความอบอุ่นที่นอกเหนือจากหญิงและชาย เธอมองว่า แต่ละครอบครัวควรจะหาเครื่องมือหรือวิธีการในการพูดคุยสื่อสารในพื้นที่ที่รับฟังกันด้วยหัวใจ คู่มือเล่มนี้จะช่วยทลายกำแพงอคติทางเพศก็ได้

          “เราเป็น NGO ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เด็กกลุ่มเปราะบาง ปกป้องคุ้มครองเด็กในสถานศึกษาที่ถูกเลือกปฏิบัติ เด็ก LGBTQ+ ไม่มีกลไกคุ้มครองในโรงเรียน เรามีลูกสาวที่นั่งอยู่ข้างๆ ต่อสู้คุ้มครองในครอบครัวสีรุ้ง เรื่องนี้มีความซับซ้อน จึงได้ใช้กระบวนการต่อสู้เพื่อคนกลุ่มนี้จะได้รับการคุ้มครอง ครอบครัวเรากล้าพูดเรื่องเพศ เขาบอกว่าเขาชอบผู้หญิง ถ้าเป็นครอบครัวอื่นถ้าลูกพูดแบบนี้คนเป็นพ่อแม่ตกใจ วิตกกังวล แต่ครอบครัวเราดีใจจนออกนอกหน้า เด็กอายุเท่านี้รู้ตัวเองว่าชอบใคร เราทำให้เขารู้สึกสบายใจที่เปิดเผยอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าลูกจะเผชิญปัญหาอะไรจากภายนอก แต่ภายในบ้านแม่จะไม่บังคับในสิ่งที่สังคมภายนอกบังคับให้เป็น หนูจะได้เป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้จะปฏิเสธไม่ให้พาเพื่อนมาที่บ้าน กลัวถูกต่อว่าต่อขานเลี้ยงลูกไม่ดี เด็กผู้ชายต้องเป็นเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงต้องเป็นเด็กผู้หญิง”

          มัจฉากล่าวว่า ในช่วงแรกกังวลใจว่าเมื่อลูกไป รร. เพื่อนๆ จะ Bully กลั่นแกล้ง ไม่ได้รับการยอมรับสูงมาก เพราะบ้านเรามีการกลั่นแกล้งติดอันดับของโลก สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นที่ UNESCO ให้ข้อมูลว่า 40% เด็กถูกกลั่นแกล้งจนอยากฆ่าตัวตาย เราต้องมีวิธีคิด มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของลูก เมื่อออกไปใช้ชีวิตภายนอกแล้วเขาต้องยืนได้ด้วยตัวเอง เมื่อเดินทางสู่โลกกว้างต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก

          ศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงแห่งเอเชีย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า “หนูเติบโตมาในครอบครัวที่มีองค์ประชุม รับรู้ประสบการณ์รุ่นพี่แต่ละคนเจอประสบการณ์พบปัญหาอะไรมาบ้าง เข้าใจความต้องการในเรื่องเพศของตัวเอง เมื่อเรียนชั้น ม.2 รู้สึกตัวว่าเราชอบเพื่อนผู้หญิง ตัดสินใจบอกแม่ว่าหนูชอบเพื่อนผู้หญิง เพื่อนๆ ก็มีความหลากหลายทางเพศตามอัตลักษณ์ชายขอบมารวมกลุ่มกัน เมื่อมีปัญหาอะไรก็ช่วยเหลือกัน เรารู้สึกว่าเรามีแม่สองคน เขาสอนให้หนูมีความมั่นใจในตัวเอง หนูอยากให้ครูทุกคนเข้าใจเด็ก เมื่อเด็กมีปัญหาครูให้ความช่วยเหลือได้ สังคมบ้านเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีความหลากหลายทางเพศ ครูบูลลี่เด็ก ล้อเด็ก ทั้งๆ ที่ความหลากหลายทางเพศไม่ได้สร้างปัญหาให้กับใครแต่อย่างใด หนูอยากทำงานช่วยแบ่งเบาภาระให้แม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกตั้งใจเล่าเรียนและส่งไปเรียนพิเศษ ไม่มีเวลาสนใจในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น”

          คนที่มีความหลากหลายทางเพศบางคนเก่ง มีความสามารถเหมือนฟ้าประทาน แต่เราไม่ได้เก่งเหมือนกันทุกคน “หนูไม่ได้เรียนเก่ง เรียนแค่พอเอาตัวรอดได้ หนูมีความสามารถในการวาดรูปสื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ แม่พาหนูไปดูวิดีโอดูหนัง แต่แม่ไม่มีกำลังเงินจะซื้อได้ แม่พยายามพาหนูไปดูในสิ่งที่หนูชอบ เป็นการเปิดกว้างความรู้”

          ครอบครัวที่มีความสุข ไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเท่านั้น หากแต่ครอบครัวที่มีความสุขต้องยินดีและสนับสนุนให้คนในครอบครัวเลือกชีวิตทางเพศของตัวเองได้ เราเติบโตมาอยู่ในครอบครัวที่มีแม่สองคน แต่เรามีสิทธิ์ในการเลือกเพศของตัวเอง และการที่แม่ทั้งสองเตรียมความพร้อมและมีพื้นที่การพูดคุยเรื่องเพศในบ้านได้ จะทำให้ลูกสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ภายนอกได้

 

 คิวอาร์โค้ดดาวน์โหลดคู่มือ

 

 

“ถ้าถามหมอว่า ลูกเป็นคนข้ามเพศ ป่วยไหม ต้องรักษาไหม เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่โรค”

 

นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล (หมอเบนซ์) แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic) โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

          ความหลากหลายทางเพศเป็นมิติหนึ่งของมนุษย์ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่โรคที่เกิดจากพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิต ที่ผ่านมามีหลายครอบครัวเข้ามาปรึกษา หลังพบบุตรหลานมีชีวิตไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง เพราะมีความหลากหลายทางเพศ หลายครอบครัวต้องเผชิญกับความรัก ความทุกข์และความตึงเครียด “คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” จะมีส่วนช่วยสร้างกระบวนการพูดคุย ปรับทัศนคติทุกฝ่ายให้เข้าใจกันมากขึ้น

          ครอบครัวเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการแก้ไขปัญหาสุขภาพทางกายและใจ การที่เด็กเปิดเผยความรู้สึกเรื่องเพศให้พ่อแม่ได้รับฟังต้องใช้ความกล้าอย่างมหาศาล พ่อแม่รับได้หรือไม่ เรื่องเพศเป็นมิติของความเป็นมนุษย์ เพศไม่ได้เป็นเรื่องโรคที่ผิดปกติ การเปิดเผยรสนิยมทางเพศเป็นการเปิดเผยตัวเอง สังคมจีนมีวัฒนธรรม สังคมไทยไม่ค่อยคุยประเด็นเรื่องเพศบนโต๊ะอาหาร เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจ ดังนั้นคู่มือผู้ปกครองจึงเป็นข้อมูลความรู้ที่ทุกฝ่ายอ่านได้ เป็นพื้นที่ปลอดภัย

          “ถ้าถามหมอว่า ลูกเป็นคนข้ามเพศ ป่วยไหม ต้องรักษาไหม ถ้าหมอไม่เชื่อในสิ่งที่หมอพูด คนไข้ก็ย่อมไม่เชื่อแน่ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เกิดตามความหลากหลายของธรรมชาติ ไม่ใช่โรค ไม่มีความจำเป็นต้องไปเปลี่ยนความคิดทางการแพทย์ทั่วโลก พ่อแม่ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องลูกว่าแก่ตัวไปแล้วใครจะเลี้ยงดู สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคม ที่ รพ.รามาธิบดีทุกวันศุกร์มีคลินิกให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ที่ รพ.จุฬามี Excellence Center หมอเด็ก ที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศูนย์สุขภาพเรื่องเพศ มีจิตแพทย์ให้คำปรึกษา”

 

 

“บ้านนี้มีสีรุ้ง”

 

“เธอเลี้ยงลูกยังไงถึงได้เป็นแบบนี้” “เราตอบกลับไปว่าเลี้ยงลูกแบบให้มีความสุขไงคะ ลูกอยากเป็นอะไรก็ปล่อยให้เป็น แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการได้เห็นลูกเติบโตอย่างมีความสุขในสิ่งที่เขาเลือก”

“ตั้งสติก่อน LGBTQ+ ไม่ผิด กม. ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เขาคือคนธรรมดา เขาไม่ได้เป็นโรคจิตหรือคนผิดปกติแต่อย่างใด ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่มีเพียงแค่ กะเทย ทอม ดี้ ข้อมูลบนโลกโซเชียลมีเยอะมาก”

 

“เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย”

 

          จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสาวประเภทสองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 8ก.พ. ถึงวันที่ 2 มี.ค.2553 ณ บ้านบุญบาลีรีสอร์ท กทม. ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักกิจกรรม นักวิชาการจากหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสุขภาวะทางเพศให้กลุ่มคนชายขอบในสังคมไทย ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันก่อตั้ง “เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย (Thai Transgender Alliance-Thai TGA) ขึ้น ถือได้ว่าเป็นเครือข่ายที่ทำงานกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “กะเทย” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีเป้าหมายสนับสนุนให้กะเทยในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรอบด้าน เป็นการเสริมสร้างศักยภาพคนทำงานกับกลุ่มกะเทยในสังคมไทย รณรงค์สร้างความเข้าใจในตัวตนและสิทธิของกะเทย และสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมอื่นๆ เพื่อพัฒนาสังคมไทย

 

 

คำศัพท์

ความหมาย

เลสเบี้ยน

บุคคลที่เป็นผู้หญิงและมีรสนิยมทางเพศที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นผู้หญิง

เกย์

บุคคลที่ชื่นชอบในบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศตรงกับตนเอง สังคมไทยเข้าใจว่าเกย์เป็นชายและมีความชื่นชอบและรสนิยมทางเพศกับชาย

ไบเซ็กชวล

บุคคลที่มีรสนิยมทางเพศที่ชื่นชอบคนได้มากกว่าหนึ่งเพศโดยไม่จำกัดเพศ จะเป็นเพศใดก็ได้

อินเทอร์เซ็กซ์

บุคคลที่มีสรีระทางเพศหรือแบบโครโมโซมที่ไม่ตรงกับสรีระทางชายหรือหญิงหรือมีลักษณะทั้งหญิงและชาย

คนข้ามเพศ

บุคคลที่แสดงอัตลักษณ์ทางเพศตรงข้ามและแตกต่างไปจากเพศกำเนิดของตนเอง

ผู้หญิงข้ามเพศ

บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่ใช้ชีวิตและแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองตรงข้ามกับเพศกำเนิด ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลง/ไม่เปลี่ยนแปลงร่างกาย ฮอร์โมน หรือผ่าตัดแปลงเพศ

ผู้ชายข้ามเพศ

บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่ใช้ชีวิตและแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองตรงข้ามกับเพศกำเนิด ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลง/ไม่เปลี่ยนแปลงร่างกาย ฮอร์โมน หรือผ่าตัดแปลงเพศ

เอเซ็กชวล

คนที่ไม่ฝังใจทางเพศ ขาดความสนใจทางเพศ ไม่ให้ความสนใจต่อกิจกรรมทางเพศ

เควียร์

เป็นการใช้คำที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนำมาใช้เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศของตนเองที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีกรอบในการเข้ามากำหนดเกี่ยวกับเรื่องเพศ

นอนไบนารี่

เป็นคำศัพท์ที่ใช้เพื่อทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศว่าอยู่นอกเหนือการจัดหมวดเรื่องเพศที่มีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง และทลายการจัดระเบียบบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศว่าจะต้องดำรงชีวิต มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับเพศหญิงหรือเพศชายเท่านั้น

 

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"