ธ.ก.ส.เดินเครื่องประกันภัยข้าวนาปี 46 ล้านไร่


เพิ่มเพื่อน    

 

9 เมษายน 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต โดยใช้การประกันภัย เป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยคุ้มครองในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า วงเงินคุ้มครองจำนวน 1,260 บาทต่อไร่ และในกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด วงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ เป้าหมายการทำประกันภัยบนพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 46 ล้านไร่ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับเงื่อนไขโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 เกษตรกรที่เป็นผู้เอาประกันภัยต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2564/65 กับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งการรับประกันประกอบด้วย การประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) สำหรับเกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อ ธ.ก.ส. คิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาท/ไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ความเสี่ยง โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 58 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. สมทบเพิ่มให้ 38 บาทต่อไร่ กรณีเกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ประสงค์ซื้อเพิ่ม (ส่วนที่เกินสิทธิ์จากที่ธนาคารกำหนด) จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามประเภทพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 55 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ และในพื้นที่เสี่ยงสูง อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ซื้อเพิ่มในอัตรารายละ 55 บาทต่อไร่ ซึ่งโครงการประกันภัยดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงต่ำได้รับประกันภัยฟรี โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทน ซึ่งเมื่อประสบภัยจะได้รับการคุ้มครองตามที่กำหนด

ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาวะอากาศของโลกมีความแปรปรวนสูง โดยภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ครอบคลุมการผลิต เกษตรกรสามารถทำประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) เพื่อเพิ่มความคุ้มครอง โดยแบ่งตามระดับความเสี่ยง กรณีพื้นที่เสี่ยงต่ำ ชำระค่าเบี้ยประกันเพิ่ม 24 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ชำระค่าเบี้ยประกันเพิ่ม 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง ชำระค่าเบี้ยประกันเพิ่ม 101 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยการทำประกันภัยส่วนเพิ่มดังกล่าวเกษตรกรจะได้รับวงเงินคุ้มครอง เมื่อเกิดภัยธรรมชาติเพิ่มอีกในวงเงิน 240 บาทต่อไร่ รวมเงินประกันภัยที่ได้รับ 1,500 บาทต่อไร่ และกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด ได้รับวงเงินคุ้มครองเพิ่ม 120 บาทต่อไร่ รวมเงินประกันภัยที่ได้รับ 750 บาทต่อไร่ ระยะเวลาขายกรมธรรม์ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันสิ้นสุดการขายเป็นรายจังหวัด

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้จ่ายสมทบค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. โดยทุก ๆ เงินกู้จำนวน 4,000 บาท จะได้รับสิทธิ์สมทบ 38 บาทต่อ 1 ไร่ ซึ่งเมื่อรวมกับเบี้ยประกันภัยที่รัฐบาลสนับสนุนทำให้เกษตรกรผู้กู้ได้รับประภัยโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมถึงเกษตรกรทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ ก็จะได้รับการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยจากรัฐทั้งหมดเช่นกัน

“ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ประกันภัยฟรี ไม่ต้องมาติดต่อธนาคาร โดย ธ.ก.ส. จะดำเนินการให้ทั้งหมด ส่วนเกษตรกรทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงปานกลางและสูง สามารถซื้อประกันภัย ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน BAAC INSURE โดยเป็นการซื้อประกันภัยด้วยตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน หรือขอทำประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงนำบัตรประชาชนไปติดต่อก็สามารถทำประกันภัยได้ทันที” นายธนารัตน์ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"