หรือกรุงเทพฯจะเสนอตัวเป็น ‘ศูนย์กลางความเคลื่อนไหว’?


เพิ่มเพื่อน    

   วิกฤติพม่าครั้งนี้ กรุงเทพฯ อาจจะกลายเป็น “ศูนย์กลางแห่งความเคลื่อนไหว” สำหรับผู้คนที่กำลังพยายามหาทางออกที่ต้องเชื่อมโยงกับ “ตัวละคร” สำคัญๆ ทั้งหลายทั้งปวง

            เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทูตพิเศษกิจการเมียนมาจากสหประชาชาติ Christine Schraner Bergener บินมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อพบปะ ปรึกษาหาทางออกจากวิกฤติเมียนมา รวมทั้งคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย

            แต่เธอต้องถูกกักตัว 7 วันก่อน (ไม่ใช่ 14 วันเพราะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว)

            ในทวิตเตอร์ เธอบอกว่าทางทหารเมียนมาตอบคำขอของเธอที่จะพบผู้นำเหล่าทัพแล้วว่า “เราไม่พร้อม”

            แต่เธอไม่ท้อ บอกว่ามีความเชื่อมั่นว่าการพูดจาทางการทูตเท่านั้นที่จะเป็นทางออกจากวิกฤติพม่าได้

            นักการทูตอาวุโสท่านนี้คุ้นเคยกับกรุงเทพฯ พอสมควร เพราะเคยเป็นเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำไทยมาก่อน

            เธอมีลักษณะเป็นนักการทูตสไตล์ยุโรป คือขึงขัง ตึงตัง

            พอเจอกับนายทหารระดับเบอร์สองของการรัฐประหารเมียนมาอย่างพลเอกโซ วิน ที่พูดแทนพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ในหลายๆ เรื่องก็กลายเป็น “ดรามา” ที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว

            หลังรัฐประหารที่เมียนมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ไม่กี่วัน คุณคริสตินก็โทรศัพท์ไปคุยกับนายพลโซ วิน

            พอจะจินตนาการได้ว่าทั้งสองคนยืนอยู่คนละข้างโดยสิ้นเชิง

            ฝ่ายทูตพิเศษสหประชาชาติก็คงจะใช้ภาษาขึงขัง ทำนองบอกกล่าวกับนายพลนักปฏิวัติว่า หากยังปราบปรามผู้ประท้วงด้วยอาวุธและจับไล่ล่ากันอย่างดุเดือดอย่างที่เป็นข่าว กองทัพเมียนมาก็จะถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน

            นายพลโซ วิน ก็คงจะยืนยันว่ากองทัพต้องจัดการกับผู้ต่อต้าน เพราะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งภายใต้กฎอัยการศึก

            ทูตคริสตินก็คงจะพูดถึงเรื่องการคว่ำบาตรและมาตรการลงโทษต่างๆ ของประชาคมโลก และเตือนว่าหากกองทัพพม่ายังไม่หยุดการกระทำต่างๆ ที่ว่า ก็อาจจะถูกโดดเดี่ยวอีกครั้ง

            วงการการทูตรายงานว่า เมื่อได้ยินเช่นนั้น นายพลพม่าคนนี้ก็ระเบิดออกมาว่า

            “คุณไม่ต้องมาขู่เรา เรามีความเคยชินกับการที่จะอยู่โดยมีเพื่อนไม่กี่คนอยู่แล้ว”

            ข่าวต่อมาบอกว่า ทั้งสองไม่ได้มีโอกาสจะกล่าวคำอำลาตามมารยาทด้วยซ้ำ

            เพราะคนใดคนหนึ่งวางหูใส่อีกฝ่ายหนึ่งด้วยอารมณ์เดือดดาลยิ่ง!

            นั่นแปลว่าทูตคริสตินคงจะต้องพยายามเล่นบทนักการทูตต่อไปด้วยการบินมาถึงกรุงเทพฯ โดยหวังว่าจะยังคงสามารถต่อสายคุยกับฝ่ายทหารของเมียนมาจากกรุงเทพฯ

            หรืออาจจะมีโอกาสได้พบปะตัวแทนของเมียนมาฝ่ายต่างๆ ที่นี่

            แต่แล้วเธอก็ต้องผิดหวัง เพราะพอลงจากเครื่องบินที่กรุงเทพฯ เธอก็ได้รับข้อความจากฝ่ายกองทัพเมียนมาทำนองว่า

            “เราไม่พร้อมจะต้อนรับคุณ”

            ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายว่าฝ่ายนายพลเมียนมาคงไม่อยากจะพูดจาอะไรกับทูตสหประชาชาติ เพราะรู้ว่าจะต้องเจอกับแรงกดดันอย่างไร

            จังหวะที่ทูตยูเอ็นคนนี้มา “กักตัว” 7 วันอยู่ที่กรุงเทพฯ นี้ วงการทูตของอาเซียนก็กำลังเร่งความพยายามที่จะจัดให้มีการ “ประชุมผู้นำสุดยอด” เพื่อปรึกษาหารือเรื่องของพม่า

            ขณะที่ผมเขียนคอลัมน์อยู่ยังไม่มีความแน่นอนว่าการประชุมที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้วันไหน หรือที่ไหน และจะเป็นลักษณะออนไลน์หรือออฟไลน์

            เพราะเดิมทีข่าวบอกว่าจะจัดการประชุมสุดยอดนี้ตามคำเรียกร้องของประธานาธิบดีโจโกวี ของอินโดนีเซีย ที่จาการ์ตา

            มีข่าวว่าอาจจะเป็นวันที่ 20 เมษายน แต่ก็ยังไม่ได้รับคำยืนยันแต่อย่างไร

            ผมคาดว่าก่อนที่จะกำหนดวันและรูปแบบการประชุมนั้น ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนจะต้องตกลงกันให้ได้ก่อนในหลายๆ ประเด็น เช่น

            จะเชิญผู้นำพม่ามาด้วยไหม

            ถ้าเชิญ จะเชิญทั้งมิน อ่อง หล่าย และอองซาน ซูจี หรือไม่

            ถ้าเชิญอองซาน ซูจี มิน อ่อง หล่าย จะยอมหรือไม่

            ถ้าการเชิญผู้นำพม่ามาร่วมประชุมด้วยจะมีอาการ “เกร็ง” กันทุกฝ่ายหรือไม่

            หรือจะประชุมเฉพาะผู้นำ 9 ประเทศก่อนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังกับปัญหาของพม่า

            อีกทั้งต้องตกลงกันล่วงหน้าด้วยว่าแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียนจะเขียนอย่างไร...จะใช้คำไหนและหลีกเลี่ยงคำไหน

            เพราะมีการมองกันแล้วว่าสมาชิกอาเซียนมีความเห็นที่แปลกแยกกันในเรื่องนี้พอสมควร

            โดยแบ่งเป็นกลุ่มประเทศอินโดฯ, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และบรูไน ที่ค่อนไปทางเชิงรุก

            และเวียดนาม, กัมพูชา, สปป.ลาว และไทย ที่โอนเอียงไปทาง “เกรงอกเกรงใจ” กองทัพเมียนมา

            ถ้าไทยเราไม่ใช้ “วิกฤติ” นี้เป็นโอกาสที่จะเล่นบท “ผู้ประสานสิบทิศ” ให้เกิดสันติภาพในพม่า ก็เท่ากับ “โยนผ้า” กลางเวทีระหว่างประเทศอย่างน่าเสียดายยิ่ง!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"