‘วัคซีนทางเลือก’ : ที่ต้องไม่ใช่ ‘ทางตัน’


เพิ่มเพื่อน    

       คำว่า “วัคซีนทางเลือก” เป็นข่าวขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนเข้าพบนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางความกังวลว่าการระบาดรอบ 3 ของโควิด-19 จะน่ากลัวกว่าครั้งที่ผ่านมา

                น้ำเสียงของนายกฯ เปลี่ยนไป...ยืนยันว่าไม่เคยกีดกันเอกชนช่วยหาวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชน

                เป็นวันเดียวกับที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งประกาศหยุดรับคนมาตรวจหาโควิด บ้างก็บอกว่าน้ำยาหมด บ้างก็บอกว่าเตียงไม่พอ

                เหตุผลจริงๆ ก็คือโรงพยาบาลเอกชนประเมินแล้วหากเป็นไปตามแนวโน้มที่เห็นอยู่คงรับไม่ไหวแน่....หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนท่าทีต่อบทบาทเอกชนในการช่วยสู้กับโควิด

                เป็นที่มาของคำชี้แจงจากคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ว่า “รัฐบาลยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมาร่วมในการแสวงหาวัคซีนมาบริการประชาชน”

                คุณอนุทินพูดถึงที่เอกชนจะช่วยจัดหา “วัคซีนทางเลือก” 10 ล้านโดส ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง หากภาคเอกชนจะเข้ามาแบ่งเบาภาระ

                และบอกว่าที่ผ่านมาได้ให้เอกชนไปหารือกับผู้ผลิต หาวัคซีนมาขึ้นทะเบียน และให้บริการ ไม่มีการห้ามแต่อย่างใด

                คุณอนุทินบอกว่าประเทศไทยต้องการมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

                ถ้าเอกชนไปหารือกับทาง Pfizer ได้สำเร็จ ก็นำมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ได้

                เพราะกระทรวงสาธารณสุขทำทุกทางที่จะให้ไทยได้วัคซีนเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม         คุณอนุทินบอกว่า เขาเคยพูดคุยกับผู้ผลิตหลายต่อหลายเจ้า โดยผู้ผลิตพร้อมขึ้นทะเบียนกับไทย แต่มีเงื่อนไขว่าไทยต้องซื้อวัคซีนเท่านี้ จัดส่งได้ตามระยะเวลานี้ ซึ่งไทยไม่ได้ต้องการขนาดนั้น และระยะเวลาการจัดส่งก็อาจจะช้าไปแล้ว การพูดคุยก็ยุติลง

                แต่ไม่เคยลดละความพยายามที่จะให้ทางผู้ผลิตมาขึ้นทะเบียน

                วันนี้รัฐบาลไทยขึ้นทะเบียนวัคซีนไป 3 ยี่ห้อคือ แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

                สำหรับแบรนด์ตัวสุดท้ายนี้ ทางรัฐบาลไทยได้ขอซื้อแล้ว แต่ทางนั้นแจ้งว่าสามารถส่งวัคซีนได้ช่วงปลายปี ซึ่งชนกับรอบการผลิตของแอสตราเซเนกาพอดี

                ถึงตอนนั้น คุณอนุทินเชื่อว่าเราไม่มีความจำเป็นขนาดนั้นแล้ว

                อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ จะต้องเผื่อการกลายพันธุ์ของเชื้อด้วย

                เป็นเหตุผลที่เขาบอกว่ารัฐบาลจึงไม่ซื้อวัคซีนมามากมายมหาศาล แค่ซื้อให้ทันฉีด ทันใช้ ไม่มีเหลือค้างสต๊อกจำนวนมากมาย

                รัฐบาลต้องมี Plan B สำหรับรองรับกรณีเชื้อกลายพันธุ์ด้วย ไม่ใช่ว่าซื้อวัคซีนมาแล้ว เสียเงินมหาศาล งบหมด ได้วัคซีนมากองกันไว้ แต่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ทันกับเชื้อโรค

                ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนที่พบนายกฯ และคุณอนุทินสัปดาห์ที่แล้ว เสนอตัวพร้อมที่จะช่วยหาวัคซีนเพิ่มอีก 10 ล้านโดส...แต่ขอให้รัฐบาลช่วยออก Letter of Intent เพื่อกรุยทางให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

                ประเด็นเรื่องโรงพยาบาลเอกชนไม่รับตรวจโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไข เพราะทำให้เกิดความหวั่นไหวในความรู้สึกของประชาชนเช่นกัน

                คุณอนุทินบอกว่า ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และพบว่าปัญหาคือ โรงพยาบาลเอกชน ถ้าตรวจเจอ แล้วต้องรักษา จึงกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ

                ภาครัฐต้องหาทางแก้ปัญหานี้ น่าจะคลี่คลายในเร็ววันนี้

                ภาพที่พอจะเห็นได้ในขณะนี้คือ จำนวนผู้ติดเชื้อจะต้องพุ่งแน่ ดังนั้นหนีไม่พ้นว่าจะต้องเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามไว้ ควบคู่กับ Hospitels ที่จะรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ

                หากมีอาการก็ย้ายเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีทรัพยากรมากกว่า

                รัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่า “ตอนนี้มาตรการที่ออกมาก็เข้มขึ้น หวังว่าจะสามารถกดยอดผู้ป่วยลงได้ในเร็ววันนี้ แต่ถึงสถานการณ์จะแย่ลง กระทรวงสาธารณสุขก็ได้เตรียมการไว้อย่างครบถ้วน ทั้งเตียง ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน และบุคลากรด้านการสาธารณสุข”

                 แต่แม้จะอ้างว่า “เตรียมพร้อมทุกด้าน” แล้ว ทุกคนก็รู้ว่าหากจำนวนคนติดเชื้อเกินวันละ 1,000 คน หรือพุ่งไปหลายพันคนก็จะกลายเป็น “วิกฤติ” ที่จริงแท้และแน่นอน

                คำว่า “พร้อม” จึงต้องมาคู่กับ “ความสามารถในการบริหารวิกฤติ”

                เพราะบทเรียนจากการระบาดรอบก่อนๆ มิอาจจะนำมาแก้ไขการ “กลายพันธุ์” ของปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อนได้เลย!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"