อย่าให้เมียนมาเป็นเช่นซีเรีย!


เพิ่มเพื่อน    

 

       มีคำเตือนมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติว่า ถ้าหากไม่มีมาตรการชัดเจนเด็ดขาดในเร็ววัน เมียนมาอาจจะกลายเป็นซีเรียก็ได้

            ฟังดูแล้วน่ากลัวอย่างยิ่ง

            เพราะซีเรียเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในทุกระดับ

            ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ  Michelle Bachelet ออกแถลงการณ์วันก่อน บอกว่าแค่ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพเมียนมาที่ใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนกับประชาชนของตนและมาตรการคว่ำบาตรเจาะจงไม่น่าจะพอแล้ว

            เธอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันพิจารณา Arms  Embargo คือห้ามการส่งอาวุธไปให้ทหารเมียนมาและตัดท่อน้ำเลี้ยงทางด้านการเงินที่ยังอุ้มชูกองทัพอยู่อย่างเด็ดขาด

            "ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่อาจจะยอมให้ความผิดพลาดมหันตภัยอย่างที่เกิดในซีเรียและประเทศอื่นๆ มาแล้วเกิดซ้ำขึ้นอีกในเมียนมาวันนี้..." เธอประกาศกร้าว

            ซีเรียวันนี้คือ "รัฐล้มเหลว" และยังเป็นสมรภูมิสู้รบของฝ่ายต่างๆ โดยไม่สนใจไยดีว่าชะตากรรมของประชาชนชาวซีเรียจะตกอยู่ในนรกขุมไหน

            วันนี้ผ่านมาสิบปี สงครามกลางเมืองซีเรียยังดำเนินอยู่

            สงครามสิบปีของซีเรียได้คร่าชีวิตคนไม่น้อยกว่า 4  แสนคน

            คนซีเรียเองกว่า 6 ล้านคนได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องหนีตายไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่มีบ้านช่องเป็นของตนเอง

            ไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีผู้ถูกปกครอง มีแต่กองกำลังติดอาวุธที่ประหัตประหารกันทุกวันเพื่อผลประโยชน์แห่งตนเท่านั้น

            สงครามกลางเมืองซีเรียเริ่มมาตั้งแต่ปี 2011 ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Arab Spring อันเป็นการลุกฮือของประชาชนในหลายๆ ประเทศในโลกอาหรับ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้ปกครองดั้งเดิม

            ผู้ออกมาประท้วงถูกกองกำลังของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดปราบปรามอย่างรุนแรง

            พอการปะทะขยายวงก็มีตัวละครที่กระโดดเข้ามาร่วม จนกลายเป็นสงครามมากมายหลายฝ่ายที่ล้วนแล้วแต่มีอาวุธร้ายแรงทั้งสิ้น

            ต่อมามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซียก็เข้ามามีส่วนร่วมในสงคราม

            กลายเป็นสงครามตัวแทนเต็มรูปแบบ

            อิสราเอลกระโดดเข้ามาอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯ และอิหร่านก็มาเคียงข้างรัสเซีย

            ไม่แต่เท่านั้นยังมีกองกำลังกบฏติดอาวุธอีกหลายกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐบาลซีเรียและที่ยืนเคียงข้างรัฐบาล สหรัฐฯ กับรัสเซียเริ่มใช้เครื่องบินถล่มจากทางอากาศ ทำให้สงครามขยายวงออกไปโดยที่ไม่มีใครควบคุมสถานการณ์ได้

            อเมริกาเข้ามาร่วมวงการศึกโดยอ้างว่าต้องการจะมาปราบกลุ่ม ISIL ที่วอชิงตันถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล

            รัสเซียเข้ามายันสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าอเมริกามีจุดประสงค์หลักคือการโค่นประธานาธิบดีอัล-อัสซาดซึ่งเป็นพันธมิตรกับตน

            อีกด้านหนึ่งคือเพื่อนบ้านซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องปกปักรักษาอิทธิพลของตนเอาไว้ในย่านนั้น

            ส่วนตุรกีที่เป็นเพื่อนบ้านอีกฝั่งหนึ่ง ก็ต้องส่งกองกำลังเข้ามาเพื่อสกัดกลุ่มเคิร์ดติดอาวุธที่เป็นหอกข้างแคร่ของตนมาตลอด

            แยกให้ดูง่ายๆ คือกองกำลังที่อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลอัล-อัสซาดคือ

            รัสเซีย (ใช้การถล่มทางอากาศและให้การสนับสนุนทางการเมืองที่สหประชาชาติ)

            อิหร่าน (ส่งทั้งอาวุธ, เงินกู้, ที่ปรึกษาทางทหารและบางรายงานบอกว่าส่งทหารมาร่วมรบด้วย)

            กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ (ขบวนการชีอะห์จากเลบานอนกลุ่มนี้ส่งนักรบมาร่วมสงครามหลายพันคน)

            นักรบมุสลิมชีอะห์ (อิหร่านช่วยฝึกสอนนักรบเหล่านี้จากอิรัก, อัฟกานิสถาน และเยเมน)

            ส่วนที่อยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียมี

            สหรัฐฯ (ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธ, การฝึกทางทหารแก่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าไม่ใช่พวก "หัวรุนแรง")

            ตุรกี (ให้ความช่วยเหลือทั้งอาวุธและการสนับสนุนด้านทหารและการเมือง)

            จอร์แดน (ให้ความช่วยเหลือด้านขนส่งและฝึกทางทหาร)

            รัฐต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซีย (ช่วยเหลือด้านการเงินและอาวุธ)

            ความสับสนของสงครามการเมืองของซีเรียคือ ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ต่อสู้กับกลุ่ม IS แต่แยกกันตี

            จึงต้องเข้าใจด้วยว่ากลุ่มกบฏในซีเรียและผู้สนับสนุนกำลังสู้กับรัฐบาลซีเรีย

            และทั้งสองฝ่ายต่างก็สู้กับ IS เช่นกัน

            ส่วนกลุ่ม IS นั้นแม้ว่าต้องการจะโค่นรัฐบาลซีเรีย แต่ก็ฟาดฟันกับกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลเหมือนกัน

            ส่วนกลุ่มเคิร์ดก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประกาศว่าไม่สนับสนุนทั้งรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านซีเรีย

            ชาวเคิร์ดได้ปักหลักอยู่ทางเหนือของซีเรีย ประกาศว่าเป็นดินแดนปกครองตนเองและได้ต่อสู้กับกลุ่ม IS ตรงชายแดนตุรกีมายาวนาน

            อเมริกาให้ความช่วยเหลือทางทหารกับเคิร์ดเหล่านี้เพื่อให้สู้กับ IS ด้วย

            การสู้รบในเมียนมาวันนี้คือการปะทะกันระหว่างกองทัพกับฝ่ายนักการเมือง โดยเฉพาะจากพรรค NLD ของอองซาน ซูจี

            ถ้าวางกองทัพไว้ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งก็จะมีอองซาน ซูจี, CRPH หรือคณะกรรมการตัวแทนรัฐสภาที่ประกาศตั้งรัฐบาลคู่ขนาน และกลุ่มอารยะขัดขืนหรือ Civil  Disobedience Movement (CDM)

            อีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 10 กลุ่มที่ได้ประกาศร่วมมือกันตั้งเป็นกองกำลัง "สหพันธรัฐเมียนมา"

            ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดียก็ถือว่าตนมี "เดิมพัน" ไม่น้อยในเมียนมา

            เพื่อนบ้านอีกด้านหนึ่งคือไทยเราเอง

            หากเมียนมาขยับเข้าใกล้สภาพไร้ขื่อแปคล้ายกับซีเรียขึ้นมา ไทยเราจะเป็นประเทศแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"