เศรษฐกิจสีส้ม, เศรษฐกิจสีแดง


เพิ่มเพื่อน    

      พอโควิด-19 ระบาดรอบที่ 3 ก็เป็นอันชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องมีอันเผชิญกับภาวะถดถอยต่อเนื่องไปอีก

            เมื่อมาตรการปราบโควิดมีการแบ่งโซนเป็น “พื้นที่ที่แดง” 18 จังหวัดและ “พื้นที่สีส้ม” 59 จังหวัดก็คงจะต้องมีการพิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่า

            เศรษฐกิจสีแดงกับเศรษฐกิจสีส้ม

            แต่ในการประเมินปัญหาเศรษฐกิจในวิกฤติรอบใหม่คงไม่สามารถจะแยกเศรษฐกิจเป็นโซนสีแบ่งตามความรุนแรงของการระบาดได้

            เพราะผลกระทบด้านปากท้องต่อประชาชนนั้นกระจายตัวกว้างไกลและครอบคลุมไปทั่วทุกจังหวัด มิอาจจะแบ่งตามเขตจังหวัดได้ด้วยซ้ำ

            อีกทั้งยังไม่อาจจะกำหนดให้ทดลองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือฟุบใน 14 วัน เหมือนกับการทดลองมาตรการที่เข้มข้นขึ้นทางด้านสาธารณสุข

            ผลทางลงต่อเศรษฐกิจจึงหนักหนาสาหัสมากกว่าที่คิด

            รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ยอมรับว่า เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่นี้ก็เป็นอันว่าเลิกตั้งความหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4% ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าเอาไว้

            ท่านบอกว่าแต่อย่างไรก็ต้อง “กัดฟันสู้”

            ต้องพยายามหาโอกาส “แม้ว่าจะเป็นรูที่เล็ก” แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อทุกคนในประเทศ

            คุณสุพัฒน์พงษ์บอกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยังคงเดินหน้าต่อ และยังคงมีโครงการดีๆ รออยู่เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่และคนไทยทุกคน

            การส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่รัฐบาลต้องกลับไปดูการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศว่าจะกระตุ้นอย่างไร

            แล้วท่านก็ยกตัวอย่างการนำเงินฝากของประชาชนเมื่อปีที่แล้วให้ออกมาจับจ่าย

            ประเด็นนี้มีรายละเอียดที่ยังไม่ชัดเจน เพราะไม่เข้าใจว่าท่านหมายถึงเงินฝากประชาชนอะไรส่วนไหนที่จะเอาออกมาจับจ่าย

            หากประชาชนมีรายได้น้อยลง เงินฝากที่ว่านั้นก็ย่อมพร่องลง อำนาจซื้อก็ย่อมหดหาย ธุรกิจน้อยใหญ่เจ๊งกันไปไม่น้อย และบริษัทที่ยังพอเดินไปไหวในยามนี้ก็มีรายได้น้อยลง กำไรกลายเป็นขาดทุน สภาพคล่องมีปัญหา จ่ายภาษีได้น้อยลง

            จะไปกระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างไรเป็นเรื่องที่ยังไม่เห็นมาตรการของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมอะไรมากนัก

            ยิ่งประเด็นเรื่องรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ พอเกิดการระบาดครั้งใหม่และมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้คนด้วยแล้ว ก็ยิ่งตั้งความหวังเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ยากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

            รองนายกฯ สุพัฒน์พงษ์ยอมรับว่าแผนการเปิดประเทศให้เดินทางไปทั่วจังหวัด หรือที่เรียกว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 กรกฎาคมนั้นต้องประเมินสถานการณ์วันต่อวัน

            ท่านอ้างว่า “แผนยังไม่ได้หยุด ทุกคนยังเดินหน้าทำงานเช่นเดิม”

            แต่ในความเป็นจริงแล้ว แวดวงธุรกิจก็ไม่ได้ต่างอะไรกับคุณหมอที่วางแผนใน “วอร์รูม” ทางด้านสาธารณสุขที่ต้องวาง “ฉากทัศน์” หรือ scenarios ต่างๆ ตั้งแต่ที่ดีที่สุดไปจนถึงที่เลวร้ายที่สุด เพื่อเตรียมแผนการตั้งรับให้เหมาะสมกับความเป็นจริง

            สัญญาณทางด้านเศรษฐกิจที่น่ากังวลมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ใน “ฉากทัศน์” กลางๆ ที่มองเห็นอยู่ขณะนี้

            เมื่อเกิดการระบาดรอบ 3 ขึ้น ภาพทางลบข้อแรกคือ การที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาอย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้ แม้การส่งออกจะยังพอไปได้

            จำนวนคนตกงานจะสูงขึ้นทันที มีการประเมินว่าเฉพาะในวงการท่องเที่ยวและบริการ คนตกงานอาจจะสูงถึง 2-3 ล้านคน

            ธุรกิจต่างๆ ที่ถูกกระทบรอบที่ 3 อาจจะต้องลดหรือปลดคนงานอีกจำนวนหนึ่ง บวกกับนักศึกษาที่จะจบจากมหาวิทยาลัยในปีนี้ ที่อาจจะตกงานหรือมีทักษะที่เรียนมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

            ตัวเลขเด็กจบมหาวิทยาลัยไม่มีงานทำหรือหางานที่เหมาะกับวิชาที่เรียนมาไม่ได้อีกประมาณ 1 ถึง 1.5 ล้านคน (รวมที่ยังตกงานค้างจากระลอกก่อน)

            รวมความแล้ว อาจจะมีจำนวนคนตกลงถึง 5-7 ล้านคน

            ตัวเลขทางการจะเป็นเท่าไหร่ในกรณีนี้ แต่ความเป็นจริงก็คือ “ฉากทัศน์กลางๆ” ทางด้านเศรษฐกิจนั้นดูน่ากลัวกว่าที่คนทั่วไปอยากจะเห็น

            สำหรับเศรษฐกิจแล้ว แม้จะไม่มีเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ในช่วงนี้ แต่ความเป็นจริงริมถนนก็คือวันนี้เราเข้าสู่สภาวะ

            “เศรษฐกิจสีแดง” กันทั่วประเทศเต็มรูปแบบแล้ว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"