คนดังพาเหรดเข้าคุก!อุทธรณ์สั่ง8ปี 'อดีตบิ๊กอ.ต.ก.' เรียกสินบนเงินล้าน


เพิ่มเพื่อน    

พงศ์วิทย์ เหลืองช่วยโชติ

18 ม.ค. 61 - ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อท.143/2560 ที่พนักงานอัยการ โจทก์, นายวิเชียร สุวรรณสิทธิ์ โจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง นายพงศ์วิทย์ เหลืองช่วยโชติ อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และนายวิชา สัจจวรรณ์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ตามที่นายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในขณะนั้น, พ.ต.อ.สุรพงษ์ ถนอมจิต รอง ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ร่วมแถลงจับกุมนายพงศ์วิทย์ (ขณะเป็นรองผู้อำนวยการ อ.ต.ก.) และนายวิชา พร้อมยึดเงิน 1 ล้านบาท จากการเรียกรับเงินค่าอาหารเรือนจำจังหวัดชุมพร โดยจำเลยให้การปฏิเสธ
 
คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุนายพงศ์วิทย์ จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานองค์การของรัฐ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ อ.ต.ก. ได้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการ อ.ต.ก. ให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงาน สั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ ควบคุมกำกับดูแล และลงนามในเอกสารถึงหน่วยงานและบุคคลภายนอก และทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการ อ.ต.ก. ลงนามสัญญากับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบการ และลงนามในใบสำคัญจ่ายเงิน เพื่อเบิกเงินให้แก่ผู้ประกอบการตามโครงการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนนายวิชา จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นพนักงานองค์การของรัฐ แต่เป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิด โดยในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้ง 2 ได้ พร้อมยึดเงินสด 1,000,000 บาทได้ ซึ่งจำเลยทั้ง 2 เรียกรับจากผู้เสียหาย เหตุเกิดที่แขวงและเขตจตุจักร กทม. อ.สวี , อ.เมือง จ.ชุมพร และ อ.เมือง จ.นนทบุรี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2560 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า นายพงศ์วิทย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์การฯ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 ให้จำคุกเป็นเวลา 8 ปี ส่วนนายวิชา จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์การฯ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน
 
ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา แต่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์แล้วจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารระบบ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อประมาณเดือน ธ.ค. 2556 โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สนทนาทางโทรศัพท์มือถือระหว่างกัน โดยจำเลยที่ 1 เรียกเงินจากโจทก์ร่วมในอัตราร้อยละ 6 ของมูลค่าสัญญาจะซื้อจะขายอาหารดิบทั้งหมดเป็นเงินรวม 1,700,000 บาท อ้างว่าจะต้องนำไปให้ผู้ใหญ่ แต่โจทก์ร่วมปฏิเสธว่าไม่มีเงินให้ ต่อมาเมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินค่าอาหารดิบงวดเดือน ก.พ. 2557 อ.ต.ก.ชำระเงินล่าช้า โจทก์ร่วมจึงสอบถามจำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์มือถือ จำเลยที่ 1 บอกว่าได้ลงนามสั่งจ่ายเงินค่าอาหารงวดเดือน ก.พ. 2557 ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ให้โจทก์ร่วมนำเงิน 1,700,000 บาท มามอบให้จำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมยอมตอบรับเนื่องจากต้องการให้จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินโดยเร็ว ซึ่งโจทก์ร่วมได้บันทึกเสียงสนทนาในวันดังกล่าวไว้ ส่วนการจ่ายเงินค่าอาหารงวดเดือน มี.ค. 2557 เมื่อโจทก์ร่วมทราบว่าเรือนจำจังหวัดชุมพร ได้โอนเงินค่าอาหารดังกล่าวให้แก่ อ.ต.ก.แล้ว แต่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรยังไม่สั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 โจทก์ร่วมจึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถามโจทก์ร่วมว่าเหตุใดจึงไม่นำเงินมามอบให้ เพื่อจะได้มีเงินให้ผู้ใหญ่ โจทก์ร่วมตอบว่าไม่มีเงิน ต่อมาประมาณปลายเดือน เม.ย. 2557 โจทก์ร่วมได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นจึงวางแผนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี พร้อมยึดเงินของกลางจำนวน 1,000,000 บาท
 
เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่าย และวัตถุพยานสอดคล้องกันน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ไม่มีข้อพิรุธสงสัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบทำนองว่า เงินจำนวน 1,000,000 บาทดังกล่าว เป็นเงินที่โจทก์ร่วมชำระคืนจำเลยที่ 2 เนื่องจากโจทก์ร่วมเคยกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง แล้วไปเอาเงินมาจากจำเลยที่ 2 รวมเป็นเงินต้น 1,000,000 บาทนั้น ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 รู้จักโจทก์ร่วมเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 มาทำสัญญากับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วม มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน หรือเป็นญาติกันแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 กลับให้โจทก์ร่วมยืมเงินเป็นจำนวนถึง 1,000,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากโดยไม่มีการทำหลักฐานการกู้ยืมเงินไว้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำสืบแสดงถึงที่มาของเงินดังกล่าวว่า นำเงินมาจากที่ใด เพื่อให้โจทก์ร่วมกู้ยืม จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างตนเองเป็นพยาน ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่น่าเชื่อถือกว่านี้มาแสดงเพื่อสนับสนุนข้องอ้างของตน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
 
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับเงินโดยมิชอบ เพื่อกระทำการอย่างใดในหน้าที่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนจำคุกนายพงศ์วิทย์ จำเลยที่ 1 ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดมายื่นประกันตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยก่อนหน้านี้หลังมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นนายพงศ์วิทย์ก็ไม่ได้รับการประกันตัว ถูกคุมขังอยู่แล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"