ทำความเข้าใจรถไฟไทย-ญี่ปุ่น


เพิ่มเพื่อน    

เป็นที่รู้กันว่าไทยเรามีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น ที่ได้เกิดประเด็นครึกโครมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเอง ทำให้เกิดกระแสตามโลกโซเชียล และได้มีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย

กรณีที่สื่อต่างประเทศและสื่อโซเชียลได้รายงานว่าญี่ปุ่นไม่สนใจลงทุนหรือยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เนื่องจากมองว่าการศึกษาความเป็นได้ของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “ชินคันเซ็น” ทั้งโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ผลลัพธ์ตรงกันว่า ผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return หรือ FIRR) ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน

ด้วยเหตุนี้ จึงคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยเพื่อก่อสร้างชินคันเซ็น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เพราะไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงร่วมกับรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้รัฐบาลไทยกู้เงิน รวมทั้งจะรับเหมาก่อสร้าง ขายขบวนรถไฟ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว มองว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้เห็นตัวอย่างการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่รัฐบาลไทยลงทุนเองทั้งหมด 100% โดยรัฐบาลจีนไม่ต้องร่วมลงทุนเลย แต่จีนจะรับจ้างก่อสร้างงานบางส่วนที่ผู้รับเหมาไทยไม่ถนัด อีกทั้งจีนจะขายขบวนรถไฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้จีนไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่โครงการขาดทุน แต่จีนจะได้รับประโยชน์จากการได้งานก่อสร้าง การขายขบวนรถไฟและวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการมีเส้นทางออกทะเลเพิ่มอีกเส้นทางหนึ่ง

กระแสข่าวดังกล่าวไวเหมือนผึ้งแตกรัง เมื่อมีการแชร์ไปตามโลกออนไลน์ ประชาชนคนที่เสพข่าวก็ได้ตั้งคำถามว่า "ญี่ปุ่นยกเลิกร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงจริงหรือไม่ แล้วหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่จะมาตอบคำถาม

ในเวลาต่อมา ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่าจาก การหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เป็นการรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการเจรจาการลงทุนแต่ประการใด และทางฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้ยกเลิกโครงการความร่วมมือ หรือตอบปฏิเสธการร่วมลงทุนแต่อย่างใด

นอกจากนี้แล้ว ทางฝ่ายญี่ปุ่นเองยังรับที่จะไปพิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นภาระการลงทุนของรัฐบาลไทยให้น้อยที่สุด

สำหรับในประเด็นเรื่องความเร็วของรถไฟความเร็วสูงชินกันเซ็นของญี่ปุ่นนั้น ตามมาตรฐานของญี่ปุ่นจะพัฒนาความเร็วที่ 300 กม.ต่อชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นที่เข้าใจร่วมกันว่า การลดความเร็วลงจะไม่มีความแตกต่างของมูลค่าการลงทุน รวมทั้งการลดจำนวนสถานี ทั้งนี้ ในการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมได้คำนึงถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงต้นทุนตลอดอายุโครงการ (Life Cycle Cost) ทั้งนี้ ทางญี่ปุ่นรับไปศึกษาเพิ่มเติม

ดังนั้นก็เป็นอันว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงในความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น ญี่ปุ่นไม่ได้มีการยกเลิกสนใจแผนร่วมลงทุนแต่อย่างใด เพียงแต่รอศึกษาข้อมูลรายละเอียดแผนการลงทุน เรื่องระบบและการจัดหารถ เป็นต้น

ในขณะที่โครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ความคืบหน้าขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้ปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้างโครงการในเฟสแรก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ระหว่างสถานีกลางดง-ปางอโศก ส่วนการก่อสร้างโครงการเฟส 2-4 คือ ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กิโลเมตร แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กิโลเมตร และช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กิโลเมตร และจะแบ่งสัญญาการก่อสร้างเป็น 14 สัญญา

สำหรับการก่อสร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ไทยจะดำเนินการเอง ทั้งการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าด้านการลงทุน และการออกแบบรายละเอียด โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษาในการพิจารณา

ก็ต้องรอลุ้นว่าในส่วนของโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น รูปแบบการลงทุนจะสรุปมาในรูปแบบใด คงต้องรอให้มีการสรุปในการประชุมครั้งต่อไปในเร็วๆ นี้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟไทย-จีน ก็ใช้เวลาสรุปอยู่นานกว่าที่จะตกผนึกจนได้มีการลงนามเซ็นสัญญาเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อทั้ง 2 โครงการเกิดขึ้นจริง จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่เมืองต่างๆ ในภูมิภาค และให้เกิดความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนยิ่งขึ้น.

 

กัลยา ยืนยง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"