'ต่อตระกูล'จี้'บิ๊กตู่'กู้ศรัทธานาฬิกาหรู


เพิ่มเพื่อน    

    นาฬิกาป้อมโรเล็กซ์พ่นพิษหนัก ทำ “คตช.” สะเทือน “ต่อตระกูล” ร่อนหนังสือถึง “บิ๊กตู่”   พิจารณาด่วน หลัง “บิ๊กป้อม” ถูกตรวจสอบ หวั่นวิกฤติศรัทธาลุกลามหนัก รับอนุกรรมการหลายคณะไม่สบายใจอย่างมาก “อนุสรณ์” ชี้หากปล่อยโกงต่อเนื่อง 3-5 ปีข้างหน้าแบกหนี้หลังแอ่น
    มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ  (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้ทำหนังสือ ที่ คตช (อนปก) /15 ถึงประธาน คตช. เรื่อง ขอแสดงความกังวลต่อบทบาทของ คตช. ในสถานการณ์วิกฤติปัจจุบัน กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรู
    โดยหนังสือระบุว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และที่ปรึกษาประธาน คตช. อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีที่เป็นข่าวทางสื่อต่างๆ ว่า พล.อ.ประวิตรสวมใส่นาฬิกาและแหวนเพชรราคาแพง แต่ไม่ได้แสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในกรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 นั้น
“กระผม รองศาสตราจารย์ต่อตระกูล ยมนาค ในฐานะประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต และอนุกรรมการส่วนใหญ่ รู้สึกมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความเลื่อมใสศรัทธาต่อ คตช. ที่ คสช.ได้แต่งตั้งขึ้นโดยมีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติศรัทธาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และประธาน คตช.โดยตรง ดังนั้นท่านควรพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเร็ว เพื่อเป็นแบบอย่างตามที่ท่านเคยประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง รวมถึงเป็นนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญและเร่งด่วนของชาติด้วย” เนื้อหาหนังสือระบุ
ทั้งนี้ ในท้ายหนังสือยังขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ โปรดพิจารณาข้อกังวลดังกล่าวด้วย
ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีคอร์รัปชันที่รุนแรงสุดในรอบ 3 ปี และเริ่มเห็นสัญญาณจ่ายเงินสินบนและใต้โต๊ะมากขึ้น ว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และจะส่งผลกระทบอย่างมากในภาวะที่ประเทศกำลังเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่ไม่ได้แปลกใจ เนื่องจากขณะนี้เราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน ระบบตรวจสอบถ่วงดุลอ่อนแอ สิทธิเสรีภาพทางวิชาการและสื่อมวลชนมีข้อจำกัด ซึ่งสถานการณ์คอร์รัปชันจะดีขึ้นหากการเมืองเป็นระบบเปิดมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น และระบบการตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็งขึ้น 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า หากปล่อยให้การทุจริตคอร์รัปชันอยู่ที่ระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศจะต้องเจอกับปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะอย่างแน่นอน จึงขอเสนอ 3 แนวทาง และหลักการ 8 ประการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้ และมีสัญญาณเพิ่มขึ้นในอนาคตโดย 3 แนวทาง คือ 1.กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและระบบนิติรัฐ คืนสิทธิเสรีภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน 2.ปฏิรูประบบและกลไกในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและบริหารประเทศอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง และเที่ยงธรรม และ 3.พัฒนาดัชนีธรรมาภิบาลเพื่อใช้กำกับดูแลการบริหารจัดการประเทศใน 3 ระดับ คือ ระดับจังหวัด หน่วยงาน และโครงการ
ส่วนหลักการ 8 ประการที่ต้องผลักดันและยึดถือร่วมกันเพื่อต่อสู้กับวิกฤติทุจริตคอร์รัปชัน คือ 1.การปฏิรูปโครงสร้างระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรมและค่านิยมที่มีความยั่งยืน 2.การเปิดเสรีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ 3.การมีส่วนร่วม 4.หลักนิติธรรม 5.ความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล 6.ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม 7.ภาระรับผิดชอบ และ 8.ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"