ชี้ฝุ่นควันกทม. ยืดเยื้อถึงเมษา จี้รัฐเร่งแก้ไข


เพิ่มเพื่อน    

    นักวิชาการ มธ.ชี้หมอกควันจะปกคลุมท้องฟ้ากรุงเทพฯ ถึงกลางเมษา. เหตุสภาพอากาศ-ตึกสูงโอบล้อมสะสมมลพิษ เสนอรัฐเพิ่มมาตรการเข้มช่วง 90 วันแก้วิกฤติฝุ่นอันตราย ย้ำถ้าไม่ทำอะไรเลย ปัญหาจะรุนแรงปี 68 แนะนำผู้ป่วยหอบหืด-ภูมิแพ้พกยาติดตัวเสมอ หวั่นเสียชีวิต อาการกำเริบ    
    เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ที่อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ภัยร้ายฝุ่นกลางเมือง” โดยมี ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มธ., ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มธ. เข้าร่วมเสวนา
    ดร.สุพัฒน์กล่าวว่า วิกฤตการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายวันที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ ตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ก่อให้เกิดผลกระทบระยะสั้นต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และเมื่อเทียบจากข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 รายวัน ในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ ในหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในช่วงปี 2560 จนถึงปี 2561 นี้ อยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงไปกว่าปีก่อนๆ จากสถิติข้อมูลย้อนหลังไป 7 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ พบว่า ค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ของปี 2556 ที่สูงถึง 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ผลจากการนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐาน Euro 4 มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีการลดการระบายมลพิษ       
    ดร.สุพัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษกำลังพิจารณาที่จะเสนอให้นำมาตรฐานน้ำมันและรถยนต์ระดับ Euro 5 มาใช้ในประเทศไทยในอนาคต จะส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยรวมในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ ของไทยลดลงได้ อย่างไรก็ตาม หากรัฐยังคงมาตรฐาน Euro 4 ระยะยาวปัญหามลพิษจะกลับมาจากจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้น อีกประเด็นที่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ พบการเปลี่ยนท่อไอเสียใหม่แทนของเดิมที่ได้มาตรฐาน สมอ. ซึ่งก่อมลพิษทางอากาศและเสียง ส่วนการฉีดพ่นน้ำลดฝุ่นละอองในเมืองของ กทม.ช่วยลดปัญหาได้น้อยมาก สิ่งที่ 50 เขตควรทำเพิ่มคือ ใช้รถดูดฝุ่นทำความสะอาดพื้นถนนในช่วงนี้ถี่ขึ้น  
    "คาดว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะคงอยู่ไปจนถึงหลังกลางเดือนเมษายน สาเหตุจากสภาพอากาศ และ กทม.มีตึกสูงจำนวนมากที่โอบล้อมฝุ่นละอองไว้ จากนั้นท้องฟ้ากรุงเทพฯ จะกลับมาเป็นสีฟ้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่นละอองที่กำลังดำเนินการและสภาพภูมิอากาศด้วย ทุกคนมีส่วนในการทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากกิจกรรมประจำวัน ทั้งการใช้ยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง และการประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ก่อมลพิษคือประชาชน"  
    ดร.สุพัฒน์กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากภาคคมนาคมขนส่ง 54% รองลงมาเป็นการประกอบอุตสาหกรรม มีข้อเสนอมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน สำหรับช่วง ก.พ.-เม.ย.ของทุกปี เพิ่มเติมจากในช่วงปกติ โดยเสนอให้มีการลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ ขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก เพราะข้อกำหนดเดิมใช้มา 30 ปีแล้ว หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกหรือป้ายทะเบียนสีเขียว เข้าในเขตกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอีก จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกรุงเทพฯ ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่ และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่ เป็นต้น
    นอกจากนี้ ต้องหาทางลดมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิดควบคู่ไปด้วย ทั้งจัดการจราจรให้คล่องตัว ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักทุกสายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่ 06.00-21.00 น. และจัดระเบียบการจราจรและคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามกฎจราจรอย่างเข้มงวด ควบคุมการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ ให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเกิดและการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ตามข้อกำหนดของ กทม. และให้จังหวัดปริมณฑลดำเนินการในลักษณะเดียวกัน หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นให้การก่อสร้างโครงการของรัฐปรับแผนการก่อสร้าง เพื่อลดกิจกรรมหรือชะลอการก่อสร้างในส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นให้มีการเผาศพเฉพาะที่ใช้เตาเผาศพไร้ควันเท่านั้น
    ด้าน รศ.ดร.นันทวรรณกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าเฉลี่ยรายปี PM 2.5 เท่ากับ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม. ส่วนประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับ PM 2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบค่าระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สูงกว่าค่าที่พบในประเทศทางตะวันตก ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 4.5 ไมครอน สามารถเข้าสู่ปอดและถุงลม ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และก่อเกิดโรคมะเร็งได้ 
    “สถิติ 5 ปีที่ผ่านมา ยืนยันฝุ่น PM 10 เพิ่มอัตราการตายโดยธรรมชาติ 1.3% ตายด้วยโรคหัวใจและทางเดินหายใจ 2% เมื่อเทียบกับพลเมืองกรุงเทพฯ 10 ล้านคน มีประชากรกว่า 10,000 คน เสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ PM 2.5 กระทบสุขภาพสูงกว่า มีการศึกษาในต่างประเทศยืนยัน" รศ.ดร.นันทวรรณกล่าว
    ขณะที่ ศ.พญ.อรพรรณกล่าวว่า ในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศเกินมาตรฐาน กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงก่อสถานการณ์ดังกล่าว และต้องดูแลรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ ซึ่งปริมาณของกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในเขตกรุงเทพฯ มีสูงถึงกว่า 2.3 แสนคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มเสี่ยงต่อการมีอาการควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณที่มีฝุ่นมาก โดยเฉพาะบริเวณที่คับคั่งไปด้วยยานพาหนะ และไม่มีการระบายอากาศที่ดี งดร่วมงานวิ่งมาราธอนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะมีความเสี่ยงอาการกำเริบ ส่งผลหายใจเร็วและแรง เพราะสูดสารก่อภูมิแพ้ เพราะตอนวิ่งหายใจทั้งทางจมูกและปาก ที่ผ่านมาพบงานวิ่งกลางกรุงเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ สะท้อนหน่วยงานไม่ทำงานประสานกัน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"