โถ!ดัชนีโกงขยับ2แต้มรั้งอันดับ96


เพิ่มเพื่อน    

    ดัชนีคอร์รัปชันไทยปี 60 ดีขึ้น ขยับ 2 คะแนน รั้งอันดับ 96 จาก 101 ในปี 59 ป.ป.ช.ชี้ได้คะแนนเพิ่มจากนักลงทุน-นิติรัฐ-ปราบโกง ขณะที่ภาพปชต.-ตรวจสอบคนในรัฐบาล-ปิดกั้นสื่อยังเป็นจุดอ่อน "บิ๊กกุ้ย" ตั้งอนุ กก.วิเคราะห์แก้จุดด้อย ตั้งเป้าปี 64 ดันให้ถึง 50% "บิ๊กป้อม" งดจ้อสื่อ พูดเฉพาะเรื่องงาน
    เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (ซีพีไอ) ประจำปี 2560 โดยในปีนี้องค์กรจากเยอรมนีแห่งนี้ ทำการสำรวจทั้งหมด 180 ประเทศและดินแดน  ปรากฏว่า ไทยได้อันดับที่ 96 ขยับขึ้นจากอันดับ 101 เมื่อปี 2559 โดยได้ 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้น 2 คะแนนจากปีก่อน อย่างไรก็ดี คะแนนของไทยยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่หลายคะแนน 
    ทีไอทำการจัดอันดับซีพีไอโดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น ธนาคารโลก และเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม จากดัชนีนี้ ทีไอกล่าวว่า ในภาพรวมของปีที่ผ่านมา แม้ทั่วโลกจะมีความพยายามปราบปรามการคอร์รัปชัน แต่ประเทศส่วนใหญ่กลับมีความคืบหน้าช้ามาก และพบว่ามีมากกว่า 2 ใน 3 ของ 180 ประเทศและดินแดนที่สำรวจ ได้คะแนนต่ำกว่า 50 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของคะแนนในภาพรวมอยู่ที่ 43 คะแนน
    รายงานระบุว่า ช่วง 6 ปีมานี้ มีหลายประเทศที่ทำคะแนนซีพีไอดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ โกตดิวัวร์,  เซเนกัล และสหราชอาณาจักร แต่หลายประเทศกลับคะแนนแย่ลง รวมทั้งซีเรีย, เยเมน และออสเตรเลีย ส่วนภูมิภาคที่มีคะแนนดีที่สุดคือยุโรปตะวันตก ได้คะแนนเฉลี่ย 66 คะแนน ภูมิภาคซับซะฮาราในแอฟริกาได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดที่ 32 คะแนน ส่วนประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางได้คะแนนเฉลี่ย 34 คะแนน
    ประเทศที่มีภาพลักษณ์ดีที่สุดในโลกคือ นิวซีแลนด์ ได้ 89 คะแนน ตามด้วย เดนมาร์ก 88 คะแนน อันดับ 3 ได้คะแนนเท่ากัน 3 ประเทศที่ 85 คะแนน คือ ฟินแลนด์, นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนอันดับ 6 ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเอเชียที่ได้คะแนนสูงที่สุด ที่ 84 คะแนน เท่ากับสวีเดน 
    อันดับที่เหลือใน 12 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้ 82 คะแนนเท่ากัน และเยอรมนีปิดท้ายที่อันดับ 12 ได้ 81 คะแนน ขณะที่จากท้ายตารางนั้น ประเทศที่มีภาพลักษณ์คอร์รัปชันแย่ที่สุดคือ อันดับ 180 โซมาเลีย ได้แค่ 9 คะแนน 179.เซาท์ซูดาน 12 คะแนน, 178.ซีเรีย 14 คะแนน, 177.อัฟกานิสถาน 15 คะแนน, 175.เยเมนและซูดาน 16 คะแนน, 171. ลิเบียและเกาหลีเหนือ 17 คะแนน, และอันดับ 169 เวเนซุเอลาและอิรัก 18 คะแนน
    ส่วนอันดับของประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีอาทิ สหรัฐ อันดับ 16 เท่ากับเบลเยียม (75 คะแนน), ญี่ปุ่น อันดับ 20 (73 คะแนน), ฝรั่งเศส อันดับ 23 (70 คะแนน), เกาหลีใต้ อันดับ 51 (54 คะแนน), จีน อันดับ 77 (41 คะแนน), รัสเซีย อันดับ 135 เท่ากับเม็กซิโก (29 คะแนน) 
    สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากสิงคโปร์ที่ติดท็อปเทน เรียงตามลำดับลงมาได้ แก่ บรูไน อันดับ 32 (62 คะแนน), มาเลเซีย อันดับ 62 (47 คะแนน), ติมอร์เลสเต อันดับ 91 (38 คะแนน), อินโดนีเซีย อันดับ 96 (37 คะแนน) เท่ากับไทย, เวียดนาม อันดับ 107 (35 คะแนน), ฟิลิปปินส์ อันดับ 111 (34 คะแนน), เมียนมา อันดับ 130 (30 คะแนน), ลาว อันดับ 135 (29 คะแนน) เท่ากับปาปัวนิวกินี และกัมพูชา อันดับ 161 (21 คะแนน)
นักลงทุนเชื่อมั่นปราบโกง
    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า ไทยได้คะแนนดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ได้ 35 คะแนน อันดับที่ 101 โดยการให้คะแนนของทีไอ พิจารณาจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 2 แหล่ง คะแนนเพิ่มขึ้น 3 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง และอีก 1 แหล่ง ไม่ปรากฏคะแนน 
    โดยแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มี 3 แหล่งข้อมูล คือ 1.มุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน ซึ่งคะแนนที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากสหภาพยุโรปมีความสนใจฟื้นความสัมพันธ์กับไทย 2.การประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ ซึ่งการที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากการประกาศจุดยืนของนายกรัฐมนตรีในการปราบปรามการทุจริต การเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอย่างเป็นทางการ และ 3.การประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญาและขอใบอนุญาต โดยคะแนนที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากมุมมองและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐดีขึ้น 
    นายวรวิทย์กล่าวว่า แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 3 แหล่งข้อมูล คือ 1.กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี คะแนนที่ลดลงน่าจะเป็นผลมาจากการวิเคราะห์กระบวนการทางการเมืองเป็นหลัก โดยแม้ว่ารัฐบาลสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบสังคมได้ผลดี แต่ขณะเดียวกันเรื่องการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในรัฐบาล การเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดี การจำกัดสิทธิสื่อมวลชน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ยังเป็นจุดอ่อน 
    2.จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย คะแนนที่ลดลงน่าจะมาจากการแก้กฎหมายหลายฉบับ แต่การบังคับใช้ยังขาดประสิทธิภาพ และ 3.ความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งคะแนนที่ลดลง น่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์ใกล้เคียงกับที่ผ่านมา แต่ยังคงมีจุดอ่อนด้านการถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า แม้อันดับของไทยจะดีขึ้น แต่เรามีเป้าหมายว่าในปี 2564 จะต้องได้คะแนนถึง 50% แม้จะเป็นความท้าทาย แต่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง ดังนั้น คะแนนในปี 2560 จึงยังถือว่าไม่ตรงตามเป้าหมาย โดยจากนี้ ป.ป.ช.จะมีอนุกรรมการเพื่อวิเคราะห์ที่มาของแต่ละคะแนนที่ลดลง 3 ดัชนี ประกอบด้วย ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการจัดการของรัฐบาล เพราะการยกระดับคะแนนซีพีไอ ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว
    สำหรับคะแนนที่ลดลง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเป็นผลมาจากการตรวจสอบคนในรัฐบาล การจำกัดสิทธิสื่อมวลชนนั้น เห็นว่าทุกประเทศไม่สามารถตรวจสอบได้ครบถ้วน ส่วนความหลากหลายทางประชาธิปไตย เวลาที่มีการสำรวจ จะต้องดูหลายปัจจัย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความเชื่อถือในผลสำรวจ 
    "คิดว่าต้องดูในหลายปัจจัย เพียงแต่ว่าสื่อมวลชนให้ความสนใจในการเมืองมาก ซึ่งคิดว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนมีผลต่อคะแนนส่วนนี้ด้วย เพราะเขาต้องนำความสนใจของสังคมมาวิเคราะห์ด้วย อย่างไรก็ตาม อีกสักระยะหนึ่งเมื่อทุกอย่างมีความคลี่คลายไปตามกฎหมาย ทุกอย่างก็จะดีขึ้น" ประธาน ป.ป.ช.ระบุ
    เมื่อถามว่า คะแนนที่ดีขึ้นมีเรื่องของนิติรัฐและการเรียกรับสินบน เป็นผลของการดำเนินการกวาดล้างของรัฐบาลและการทำงานของ ป.ป.ช.หรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า คิดว่ามีส่วน เมื่อเขาเห็นว่ารัฐบาลจริงจัง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เน้นการปราบโกง รวมถึงกฎหมายลูก 
    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า เมื่อเห็นคะแนนแล้วจะเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการร้องเรียนคนในรัฐบาลเพื่อให้คะแนนดีขึ้นหรือไม่ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ต้องมาวิเคราะห์ดูเรื่องใดที่เป็นความสนใจของประชาชน จะต้องเรียกเจ้าหน้าที่มารับทราบว่าจะต้องเน้นเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ
สั่งแจงนาฬิกาป้อมถี่ขึ้น
    พล.ต.อ.วัชรพลยังกล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามเรื่องนาฬิกาหรูเพิ่มว่า สามารถทำได้ เพราะการซักถามไปยังไม่ละเอียดพอ การตอบกลับมาจึงไม่ละเอียด ทำให้การทำงานไม่ชัดเจน ทั้งนี้ เลขาธิการ ป.ป.ช.จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ทำให้ละเอียด เพื่อให้การตอบกลับมาเป็นประเด็นๆ ได้ครบถ้วนตามรายละเอียดที่มีการแจ้งข้อมูลของนาฬิกาแต่ละเรือน
    ส่วนที่เคยได้ให้คำมั่นไว้ว่าต้องเสร็จภายในเดือนมี.ค.นี้นั้น พล.ต.อ.วัชรพลระบุว่า เป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำตามระเบียบ และคงต้องสอบถามไปยังเลขาธิการ ป.ป.ช.ว่าจะดำเนินการไปอย่างไร สำหรับตนเองจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องต้องห้าม แต่จะพยายามให้นายวรวิทย์แจ้งข้อมูลที่คนอยากทราบให้บ่อยขึ้น
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคะแนนซีพีไอของไทยที่เพิ่มขึ้นว่า ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะบอกว่าพอใจหรือไม่พอใจ แต่ต้องกลับไปดูว่ามีตัวใดที่ทำให้ได้คะแนนต่ำหรือฉุดลง และอะไรที่ดึงคะแนนเราขึ้นมา ต้องไปแก้ที่จุดอ่อนจุดแข็งเหล่านั้นให้ถูกจุด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมและศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะแจกการบ้านให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อไปแก้ไข และให้รายงานความคืบหน้ากลับมาให้ทราบ เพราะจะมีการประเมินในปีต่อๆ ไป ซึ่งในระหว่างปีจะมีโพลต่างๆ ออกมาตลอดเวลา รัฐบาลก็รับฟัง และนำมาปรับปรุงต่อไป อย่างไรก็ตาม กรณีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร ไม่น่าจะเกี่ยวกับผลคะแนนนี้
    วันเดียวกัน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตรจะลดการให้สัมภาษณ์ลง เพื่อไม่ให้มีการนำไปขยายผลตีความให้เกิดเป็นประเด็น แต่จะพูดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้องาน รวมถึงการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล  ในการดูแลงานด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อย.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"