เยาวชนไทยก้าวไป4.0 แต่ยังเชื่อ..คำสาบาน?!?


เพิ่มเพื่อน    


    ดรามาว่าด้วย "หวย 30 ล้าน" ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น ไม่อยากตามอ่าน ก็ต้องได้ยินได้ฟังกันทุกวัน เพราะกลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยถกเถียงกันมากที่สุด จนล่าสุดเกิดการโยกย้ายนายตำรวจที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปประจำในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วนั้น
    สะท้อนบอกอะไรกับสังคมไทยบ้าง?!?
    ที่แน่นอนคือ ประเด็นเรื่องของเงินไม่เข้าใครออกใคร ความโลภเป็นเหตุแห่งความทุกข์และความหายนะ การไม่ซื่อสัตย์ และผิดศีลข้อ 4 ว่าด้วยการพูดความเท็จ หากนำมาสอนมาสั่งกันแล้วถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างมาก 
    อย่างไรก็ตาม มองข้ามประเด็นความเชื่อกับสังคมไทยไม่ได้อีกเช่นกัน โดยเฉพาะการที่มีวิธีการพิสูจน์กันด้วย "การสาบาน" พร้อมด้วยคำสาปแช่ง 
    สิ่งเหล่านี้ เด็กและเยาวชนในยุคขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เห็นเป็นเรื่องตลกร้าย หรือคิดว่ามันเป็นวัฒนธรรมจารีตที่พึงสืบทอดกันต่อไป?!?

ความเชื่อแต่โบราณ
    ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) กล่าวว่า ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการสาบานในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สังคมเกษตร เดิมใช้วิธีสาบานเพื่อเป็นคำมั่นสัญญาต่อกันของคนในชุมชน สร้างความรักใคร่กลมเกลียวในท้องถิ่น หรือเป็นพี่น้องร่วมสาบาน พึ่งพากัน เน้นสาบานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมกลายเป็นสังคมเมือง ใช้เศรษฐกิจทุนนิยมขับเคลื่อน การสาบานกลายเป็นสาบานในเรื่องส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น สาบานว่าพูดจริง ไม่ได้เป็นคนโกหก ความหมายของคำสาบานเป็นการพิสูจน์ตนเอง เช่น กรณีคดีหวย 30 ล้าน มีการสาบานใครเป็นคนซื้อหวยจริง ใครขโมยหวย หากโกหกขอให้มีอันเป็นไป ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาพิสูจน์ในนัยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นการให้สัญลักษณ์ตัวตนของคนคนหนึ่งมากกว่า
    ดร.นฤพนธ์ ผู้ทำโครงการวิจัยเรื่อง "ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน จ.สมุทรสาคร จากสังคมเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม" กล่าวว่า การสาบานต่อหน้าศาลหลักเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อดีตกลุ่มข้าราชการมีพิธีบูชาศาลหลักเมืองเพื่อปฏิญานตนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เชิงสัญลักษณ์ แต่ทุกวันนี้ศาลหลักเมืองผู้คนเข้าไปบนบานศาลกล่าว ขอพรให้ประสบความสำเร็จต่างๆ นานา เพื่อต้องการความเชื่อมั่นทางจิตใจเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ความหมายเปลี่ยนจากการปกครองเพื่อคนส่วนรวม ขอให้สอบได้ ให้มีงานทำ คอหวยขอให้ถูกหวย หรือแม้กระทั่งสาบานกรณีหวย 30 ล้าน 
    "การสาบานเป็นความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติในสังคมไทยที่มีมาหลายยุคสมัย แต่ความหมายเปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ น้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ บนบานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ารอบลึกในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส รวมถึงเด็กยุคใหม่ยุคดิจิตอลก็สืบทอดความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บนบานขอให้สอบติดคณะยอดนิยม ขอให้ได้คะแนนและเกรดดีๆ แม้ประเทศจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ความเชื่อเหล่านี้ไม่มีวันหายไป เหตุจากการแข่งขันกันสูงในสังคม ท้าสาบานกันในโลกโซเชียลก็มีให้พบเห็นเพิ่มขึ้น" ดร.นฤพนธ์กล่าว
    ในมุมมองนักมานุษยวิทยาวิเคราะห์ว่า เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มคนชั้นกลางและมีรายได้น้อยซึ่งมีโอกาสน้อย ก็ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้าหาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เป็นระบบที่สังคมหล่อหลอมความเชื่อแบบนี้ ถ้าภาครัฐพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น สร้างความเท่าเทียม การสาบานจะลดน้อยลง 
    "สังคมไทยพัฒนาคนแบบแบ่งชนชั้น เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ คนที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การสาบานเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่วุฒิภาวะของคนไม่เท่ากัน บางคนทำเพื่อความสบายใจ บางคนทำตามกระแส บางคนทำเพื่อสร้างสาวกนำไปสู่การรวมกลุ่ม แต่ในระบบการศึกษาจะต้องปลูกฝังให้เด็กเข้าใจคุณค่าและความหมายของการพึ่งพาตัวเองผ่านสติปัญญาและความสามารถของตัวเองได้ รวมถึงรู้จักผิดชอบชั่วดีและรับผิดชอบการกระทำของตัวเองมากกว่าหันพึ่งสิ่งเหนือธรรมชาติ" ดร.นฤพนธ์กล่าว
    หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สมศ.กล่าวว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญในการสร้างค่านิยมที่ดี ขณะที่สื่อปัจจุบันต้องคิดสร้างสรรค์รายการใหม่ๆ ช่วยเพิ่มพูนสติปัญญาเด็กและเยาวชน เพราะปัจจุบันรายการโทรทัศน์ ละคร เกมโชว์ และละคร ถูกผลิตซ้ำๆ เสนอเรื่องการแข่งขันมากกว่าสร้างสติปัญญา เป็นเรื่องน่ากลัวในการสืบทอดมายาคติการไม่ยอมแพ้คนอื่น สังคมไทยต้องการสื่อสีขาวที่มีความปลอดภัยเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อเยาวชนไทยมากกว่าปัจจุบัน

เด็กยุคใหม่ไม่ลบหลู่คำสาบาน
    “คำสาบาน” ถือเป็น “สัจจาอธิษฐาน” ก็ว่าได้ เพราะหากเอ่ยปากตั้งสัตย์แล้ว จะต้องทำให้ได้ในสิ่งที่บอกกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้พบกับวิบัติในชีวิต และการให้คำมั่นสัญญาดังกล่าว ในอดีตได้นำมาเป็นวิธีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนยุคก่อนก็ว่าได้ แต่ทว่าเด็กในยุคปัจจุบันเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและโลกโซเชียล หรือจะเรียกมีวิทยาศาสตร์เป็นตัวพิสูจน์ความเชื่อ แต่ความเชื่อดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน และวัยรุ่นยุคนี้อาจเคยเห็นผู้ใหญ่สาบานเพื่อยืนยันความจริงกันอยู่บ่อยๆ แม้เป็นเรื่องนานาจิตตัง แต่หากใครไม่เชื่อก็ไม่ควรลบหลู่...ไปหาคำตอบของเด็กวัยรุ่นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกัน
    น้องแคท-กมลชนก ลิ่ววิทยาคม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 รร.สตรีอัปสรสวรรค์ บอกว่า “ส่วนตัวแคทเชื่อว่าเรื่องการสาบานน่าจะเป็นความจริง แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ก็ตาม แต่คิดว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ไม่ควรลบหลู่ค่ะ ส่วนตัวหนูไม่เคยสาบานค่ะ เพราะกลัวว่าจะทำอย่างที่บอกไว้ไม่ได้ จึงไม่อยากผิดคำพูดค่ะ เวลาที่อยากได้อะไร หรืออยากประสบความสำเร็จเรื่องอะไร ก็จะลงมือทำด้วยตัวเอง เช่น เรื่องเรียน ก็จะพยายามตั้งใจเรียน มั่นทบทวนการบ้านที่คุณครูให้ค่ะ หรือหากไม่อยากไปสาบาน ก็ให้เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องค่ะ”
    ด้าน อุ้ย-พัชรา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รร.สตรีอัปสรสวรรค์ บอกว่า “อุ้ยเชื่อเรื่องการสาบานค่ะ เพราะว่าเคยเห็นผู้ใหญ่ที่บ้านทำ คือชอบไปสาบาน หรือแม้แต่ไปบนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องต่างๆ ส่วนหนึ่งมันก็เป็นความเชื่อด้านจิตใจ ที่ผ่านมาไม่เคยไปสาบานค่ะ แต่จะชวนเพื่อนไปติวหนังสือ โดยเฉพาะวิชาที่อ่อน เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ค่ะ เพราะตอนนี้หนูกังวลเรื่องนี้มาก และหากเข้ามหาวิทยาลัยได้จริงๆ ก็จะต้องตั้งใจเรียนให้จบเร็วๆ พูดง่ายๆ เราเชื่อเรื่องคำสาบาน แต่ก็จะไม่กดดันตัวเองด้วยการสาบานค่ะ คือจะตั้งใจทำสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ให้ดีที่สุดค่ะ” 
    ขณะที่ ศิรินภา โฉมจังหวัด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รร.หอวัง บอกว่า “ส่วนตัวหนูเชื่อเรื่องคำสาบานค่ะ เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนรุ่นเก่าเคยทำกันมา เช่น ถ้าหากใครทำผิดก็ใช้วิธีสาบานเพื่อพิสูจน์ความจริง ก็จะทำให้คนที่ทำความผิดต้องยอมจำนน ที่ผ่านหนูเคยสาบานกับแม่ว่าจะไม่โดดเรียนและก็ทำสำเร็จค่ะ เพราะไม่อย่างนั้นเกรดก็จะตก หรือเรียนไม่ทันเพื่อนค่ะ ซึ่งตรงนี้ทำให้ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกับผู้ปกครอง ไม่ต้องผิดคำพูดกับผู้ใหญ่ ที่สำคัญคือในระยะยาว มันอาจทำให้หนูสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้ได้ค่ะ ถ้าตั้งใจเรียนตามที่เคยบอกกับแม่ไว้”
    ไม่ต่างจาก คอนเน่-สุรพงศ์ วัฒนะวัสพนช์ นักเรียนชั้น ม.5 รร.หอวัง บอกว่า “จากภาพข่าวที่เห็นทางทีวีหรือเฟซบุ๊ก ก็ทำให้เชื่อว่าคำสาบานนั้นมีจริง และถ้าใครทำอะไรไม่ดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่ช่วยคนทำความผิดครับ ตรงนี้เป็นวิธีพิสูจน์ความจริงที่ใช้กันในอดีตและปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ส่วนตัวผม แม้ว่าจะเชื่อเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่เคยสาบานครับ โดยเฉพาะเรื่องความรัก เพราะส่วนตัวก็ยังเด็กอยู่ และเมื่อโตขึ้นเรียนมหาวิทยาลัย ก็อาจจะเจอแฟนหรือคู่รักใหม่ เลยคิดว่าไม่น่าจะต้องสาบาน หรือต้องไปโฟกัสเรื่องความรักเพียงอย่างเดียวหรือกับคนคนเดียว แต่จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ หรือให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เรื่องนี้ครับ”
    ปิดท้ายกันที่ น้องรุจ-บารมี อังประเสริฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 รร.สุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ ให้มุมมองว่า “รู้สึกเฉยๆ กับเรื่องการสาบานค่ะ เพราะคิดว่าโลกในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะเชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์หรือการพิสูจน์ความจริงจากเหตุและผลมากกว่าสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ขอลบหลู่ค่ะ เพราะหนูมองว่าผู้ใหญ่ที่เชื่อเรื่องนี้มันก็เป็นสิ่งที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจท่าน และมันอาจจะช่วยไขความจริงในบางเรื่องได้จริงๆ แต่ส่วนตัวหนูจะไม่สาบาน และจะไม่สัญญาเรื่องการเรียน แต่หนูจะลงมือทำโดยการตั้งใจเรียนค่ะ เพราะถ้าสาบานแล้วทำไม่ได้ ก็ถือเป็นการพูดปดค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"