กองทุนน้ำมันดิ้น เบิกเงิน‘รัฐบาล’ อุ้มราคาพลังงาน

“กองทุนน้ำมัน” ดิ้นหาเงินอุ้มราคาพลังงาน เล็งขอรัฐบาลล้วงเงินงบประคอง หลังเดินหน้ากู้ 3 หมื่นล้านบาทไม่คืบ ยอมรับมีสภาพคล่องเหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท ดูแลราคาได้อีกแค่เดือนกว่า “บิ๊กตู่” ฟุ้งผลประชุม Nikkei Forum น่าพอใจ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถใช้ในการพยุงราคาน้ำมันได้อีกประมาณเดือนกว่า หลังจากนั้นจะต้องหาสภาพคล่องเพิ่มเติมให้ได้ ซึ่งมี 2 ทางเลือกที่ดำเนินการได้ คือ 1.การกู้เงิน ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เงินได้รวมทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท และ 2.การขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายว่ารัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาดำเนินการให้

นายวิศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบอยู่ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินที่ไหลเข้า-ออกกองทุนในแต่ละวัน เมื่อหักลบแล้วจะติดลบอยู่ประมาณ 4-5 ล้านบาทต่อวัน โดยเมื่อพิจารณาจากสภาพคล่องที่มีอยู่ กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบันที่มีความผันผวนอย่างมาก จึงต้องเร่งหาสภาพคล่องมาเพิ่มเติม ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศนั้น ยอมรับว่ายังมีความผันผวนอยู่มาก ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐและจีน ที่หากมีการขยับราคาขึ้นเพียงเล็กน้อยก็จะมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกทันที เบื้องต้นได้มีการประเมินว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 107-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปอยู่ที่ 138-145 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“ถึงแม้ว่าการกู้เงินตามมติ ครม. จะไม่ทันภายในเดือน พ.ค.65 และสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่อาจจะหมดไป ก็เชื่อว่ายังไม่ส่งผลกระทบกับกองทุน เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีช่องทาง คือการขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะเอาเงินจากตรงไหนมาอุดหนุนให้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่จะพิจารณา ทำให้มั่นใจได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังสามารถดูแลราคาน้ำมันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดการสะดุด” นายวิศักดิ์กล่าว

นายวิศักดิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเงินกู้เพื่อรองรับสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคาร ยอมรับว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถกู้เงินโดยตรงได้ เพราะไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันกับธนาคาร โดยยอมรับว่าธนาคารก็ต้องพิจารณาถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย เพราะมีผลกระทบจากทั้งโควิด-19 และสงคราม ล่าสุดมีเรื่องฝีดาษลิงเข้ามาเพิ่มเติม ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างมาก

ผู้อำนวยการ สกนช.กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ครม.ที่ได้มีมติให้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.2565 และในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2565 รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเพียงครึ่งหนึ่ง โดยกำหนดอัตราเพดานไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลยังอุดหนุนราคาไม่ถึงครึ่งของราคาเพดาน ก็ถือว่าไม่ผิดมติ ครม. เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่ามีเวลาดำเนินการในส่วนนี้จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ที่จะปรับราคาน้ำมันดีเซลไปที่ 35 บาทต่อลิตร

“ตอนนี้มีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ประมาณ 7 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปัจจุบันอยู่ที่ราว 32 บาทต่อลิตร บวกกับที่อุดหนุนอยู่ 7 บาทต่อลิตร ทำให้จริงๆ แล้วราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 39 บาทต่อลิตร ส่วนว่าหลังจากนี้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงคงตอบได้ยาก เพราะสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงรายวัน รวดเร็วมาก การพิจารณาเรื่องราคาน้ำมันจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ที่ช่วงนี้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น เพราะต่างประเทศมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น หลังจากมีการกลับมาเปิดประเทศทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวกันทั่วโลก ส่วนตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 เป็นต้นไป ที่ตามมติ ครม.ระบุว่าจะไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายจะพิจารณาอีกครั้ง แต่ก็มองว่าหากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ราคาขายปลีกในประเทศก็อาจจะไม่ถึง 35 บาทต่อลิตรก็ได้” ผู้อำนวยการ สกนช. ระบุ

วันเดียวกัน ที่โรงแรมพาเลซ โฮเทล กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับทีมประเทศไทย (ทีมไทยแลนด์) ประจำกรุงโตเกียว โดยช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณทุกคนที่ทำให้การเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีแนวโน้มออกมาเป็นไปในเกณฑ์ที่น่าพอใจในฝ่ายการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ยังโพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha โดยระบุตอนหนึ่งว่า หัวใจสำคัญที่ผมต้องการสื่อสารในการประชุมครั้งนี้ ก็คือการสร้างความตระหนักร่วมกันว่า ท่ามกลางวิกฤตโลกที่ซ้อนทับและส่งผลกระทบต่อทั่วโลกในขณะนี้ ไม่มีใครสามารถอยู่เพียงลำพังได้ ความเข้มแข็งของเอเชียคือความเป็นเอกภาพและการเติบโต ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันทุกคน ทุกประเทศ

ขณะที่เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ ห้อง Salon โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ได้ร่วมหารือกับนายมาเอดะ ทาดาชิ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และนายมุราอิ ฮิเดกิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้ว่าการ JBIC ได้ประชุมและสานต่อสิ่งที่ได้หารือกับนายกฯ ไว้ และยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในทุกระดับ รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเป็นประธาน APEC 2022 ของไทย

นายธนกรกล่าวว่า จากนั้นในเวลา 10.30 น. นายกฯ ได้หารือกับนายโทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และนายซูซูกิ โยชิฮิสะ ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้เคดันเรน โดยนายกฯ ยินดีที่ได้ทราบว่า คณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นของเคดันเรน ซึ่งมีสมาชิกกว่า 70 บริษัท มีแผนจะเยือนไทย โดยเชื่อมั่นในภาคเอกชนซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางโลก และเชื่อมั่นในความสำคัญของเคดันเรน

จากนั้นเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ Haneda Innovation (HI) City เขตโอตะ กรุงโตเกียว หนึ่งในโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง