วาทะร้อนของมาครง: 'ยุโรปต้องไม่ใช่ลูกไล่ของสหรัฐฯ'

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึง หลังจากประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเสร็จจากการเยือนประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ก่อน...และเสนอแนวคิดให้ยุโรปถอยห่างจากสหรัฐฯ และสถาปนาตนเป็น “อำนาจขั้วที่ 3" ของโลก

คนชื่นชมบอกว่าผู้นำฝรั่งเศสมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ต้องการให้ยุโรปมีความเป็น “ตัวของตัวเอง” มากขึ้น

ไม่ถูกมองว่าเป็นลูกไล่ของสหรัฐฯ

หรือที่เขาชอบใช้คำว่า strategic autonomy ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์”

คนที่ด่าก็บอกว่ามาครงถูก สี จิ้นผิง หลอกใช้ เพราะไปนั่งคุยกับผู้นำจีนได้ไม่เท่าไหร่ก็หลงเสน่ห์และต้องมนตร์ขลังของจีนเสียแล้ว

สี จิ้นผิง ตั้งใจจะบอกกับผู้นำฝรั่งเศสว่า ปักกิ่งให้ความสำคัญกับบทบาทของเขาเป็นพิเศษ เพราะมองว่าเขาสามารถเล่นบทบาทนำในยุโรปเพื่อจะคบหากับจีนได้โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับสหรัฐฯ

จีนต้องการให้ยุโรปถอยห่างจากวอชิงตัน เพราะไม่ต้องการให้มีการ “รวมหัว” ของตะวันตกเพื่อกดดันจีนในรูปของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ได้กระทำต่อจีนมาตลอด

มาครงไปเยือนจีนครั้งนี้ เดิมมีเป้าหมายจะขอให้สี จิ้นผิง แสดงบทบาทสำคัญในการเกลี้ยกล่อมให้ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียยอมเจรจาสงบศึกกับยูเครน

แต่ดูเหมือนมาครงจะไม่ได้อะไรเป็นน้ำเป็นเนื้อในเรื่องนี้

ขณะที่สี จิ้นผิง น่าจะถือว่าประสบความสำเร็จ ที่ทำให้มาครงเปิดใจให้สัมภาษณ์เกือบจะทันทีว่า “ยุโรปต้องระวังไม่ให้ถูกดึงเข้าไปอยู่ตรงกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจ...เช่นกรณีไต้หวัน”

พอเขาบอกว่า “ไต้หวันไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของยุโรป” เท่านั้นแหละ ก็เกิดอาการ “ทัวร์ลง" จากผู้นำหลายประเทศที่มองว่ามาครงถูกปักกิ่งล้างสมองเสียแล้ว

นักการทูตและ ส.ส.ในสหรัฐฯ และยุโรปกลางกับยุโรปตะวันออกตำหนิมาครงที่ “อ่อนข้อ” ให้ปักกิ่งและวิพากษ์สหรัฐฯ เหมือนจะสร้างช่องว่างในความสัมพันธ์กับอเมริกา

คนที่ต่อว่ามาครงอ้างว่า วอชิงตันเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันของยุโรปในการบริหารจัดการกับผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

มาครงถูกตำหนิว่าออกมายืนเคียงข้างจีน ขณะที่กองทัพจีนเปิดการซ้อมรบทางทหารขนาดใหญ่รอบๆ ช่องแคบไต้หวันเพื่อตอบโต้การไปเยือนสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

ที่กลายเป็นเรื่องเป็นราวก็คือ บทให้สัมภาษณ์ของมาครงบนเครื่องบินระหว่างเดินทางในจีนสองสื่อคือ Politico ของสหรัฐฯ และ Les Echos ของฝรั่งเศส

เมื่อถูกถามว่า การที่จีนให้ความสำคัญกับการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ รวมถึงไต้หวัน ทำให้จีนมองว่ายุโรปเป็น “ตัวหมากรุกระหว่างสองกลุ่ม” มาครงกล่าวว่า ยุโรปต้อง “จดจ่อเฉพาะกับเป้าหมายของตนเอง”

ในประเด็นไต้หวัน มาครงตอบว่า

“มันเป็นประโยชน์ต่อเราหรือเปล่าที่จะเร่งเร้าเรื่องไต้หวัน? คำตอบคือ...ไม่”

และย้ำว่า “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การคิดว่าชาวยุโรปต้องกลายเป็น 'ผู้ตาม' ในเรื่องนี้...และต้องปรับตัวให้เข้ากับจังหวะของอเมริกาและปฏิกิริยาเกินเหตุของจีน” มาครงกล่าว

นอกจากนี้ มาครงยังเตือนให้ระวัง “กับดักสำหรับยุโรป” หากยุโรป “จมอยู่ในวิกฤตที่ไม่ใช่ของเรา” ขณะที่ยุโรปพยายามเป็นอิสระมากขึ้นในประเด็นด้านความมั่นค' กลาโหม และเศรษฐกิจ

เขาเสริมว่า หากมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน "สองขั้ว" ยุโรปจะ "ไม่มีเวลาหรือวิธีการสร้างเอกราชทางยุทธศาสตร์ของเรา"

หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น มาครงเห็นว่ายุโรป “จะกลายเป็นข้าราชบริพารแทนที่จะเป็นเสาที่สาม...ถ้าเรามีเวลาสร้างมันสักสองสามปี”

นักวิเคราะห์ที่เห็นแย้งกับมาครงบอกว่า การที่ผู้นำฝรั่งเศสพูดอย่างนั้นดูหมือนจะกล่าวเป็นนัยว่าสหรัฐฯ มีส่วนผิดต่อไต้หวันมากเท่ากับปักกิ่ง

ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงจุดยืนของฝรั่งเศส และบั่นทอนความพยายามของสหภาพยุโรปที่จะเจรจากับปักกิ่ง

ภาพที่ออกมาก็คือ โลกจะเห็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่เสร็จสิ้นการเยือนจีนด้วยความรู้สึกอิ่มเอม และฝ่ายจีนก็เปิดการซ้อมรบทางทหารรอบๆ เกาะไต้หวันทันที

เป็นภาพที่ตอกย้ำว่า มาครงพบสี จิ้นผิง แล้วก็วิพากษ์สหรัฐฯ ขณะที่แสดงความพึงใจกับปักกิ่งในนโยบายไต้หวัน

จังหวะที่มาครงมาเยือนจีนรอบนี้ตรงกับช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนถูกยกระดับขึ้นภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

และในขณะที่นักการเมืองสหรัฐฯ ได้พบกับผู้นำไต้หวันบ่อยขึ้น รวมทั้งการเยือนแคลิฟอร์เนียครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิง-เหวิน

ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ปักกิ่งมองว่าเป็นการยั่วยุตน

นักการเมืองสหรัฐฯ บางคนออกมาต่อว่าต่อขานมาครงอย่างไม่เกรงใจและค่อนข้างฉับพลัน

ส.ส.สหรัฐฯ คนหนึ่งบอกว่า ถ้ามาครงคิดอย่างนั้นจริง  สหรัฐฯ ก็คงต้องทบทวนนโยบายสนับสนุนยูเครน ซึ่งวอชิงตันเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือยุโรปในการสกัดกั้นภัยคุกคามจากรัสเซียด้วย

ถึงแม้สมาชิกสภาคองเกรสจะบอกว่า “หากมาครงเป็นตัวแทนของยุโรปทั้งหมด และจุดยืนของพวกเขาในตอนนี้ก็คือจะไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีนกรณีไต้หวัน บางทีสหรัฐฯ ก็ไม่ควรเข้าข้างใครเช่นกัน...และปล่อยให้พวกเขา จัดการกับยูเครน และปล่อยให้ยุโรปแก้ปัญหายูเครนเอง...”

แต่ทำเนียบขาวยังไม่พร้อมที่จะปะฉะดะกับผู้นำฝรั่งเศส โดยออกแถลงการณ์ว่าสหรัฐฯ มี “ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ยอดเยี่ยม” กับฝรั่งเศส

"ฝรั่งเศสกำลังมีบทบาทที่คึกคักในอินโด-แปซิฟิก" จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าว “เช่นปฏิบัติการทางเรือในย่านอินโด-แปซิฟิก ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับความพยายามร่วมกันของพวกเราทุกคน...เพื่อให้มั่นใจว่าเรากำลังยืนหยัดเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัย ความเจริญรุ่งเรือง และอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”

นักการทูตอาวุโสของสหภาพยุโรปบอกว่า ความเห็นของมาครงจะส่งผลกระทบต่อทั้งยุโรปและยูเครน และมีผลทางลบต่อความสัมพันธ์ของยูเครนกับสหรัฐฯ

และนั่นอาจจะทำให้สหภาพยุโรปแสดงจุดยืนที่เป็นเอกภาพต่อปักกิ่งได้ยากขึ้น

นักการทูตยุโรปบางคนบอกว่านี่ไม่ใช่ชัยชนะสำหรับใคร  “ยกเว้น สี จิ้นผิง”

               ชัดเจนว่ามาครงได้พยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะยกบทบาทของตนให้โดดเด่นในการเจรจาทางการทูตที่ซับซ้อนระหว่างสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย

มาครงไม่ได้เล่นบทนี้เฉพาะในฐานะผู้นำฝรั่งเศสเท่านั้นแต่ยังต้องการจะถูกมองว่าเป็นผู้นำของสหภาพยุโรปด้วย

มีผลทำให้พันธมิตรบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันออกที่รู้สึกขุ่นเคืองกับท่าทีของมาครง ที่พยายามจะกีดกันผู้นำชาติอื่นในยุโรปบางคนไม่ให้มีบทบาทมา “แย่งซีน” ของตน

สมาชิกสภานิติบัญญัติของลิทัวเนียคนหนึ่งบอกว่า มาครงมีปัญหาในการประเมินสถานการณ์

เขาบอกว่าผู้นำฝรั่งเศสคนนี้อาจจะมีปัญหา “ตาบอดทางภูมิรัฐศาสตร์”

และทำอะไรที่ “ขัดต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปและนาโต”

เพราะผู้นำยุโรปบางคนเปรียบการที่ปักกิ่งกระทำต่อไต้หวันนั้น มีความละม้ายกับสิ่งที่รัสเซียกำลังกระทำต่อยูเครน...และอดีตประเทศคอมมิวนิสต์หลายแห่งในยุโรปตะวันออกก็รู้สึกถึงภัยคุกคามนั้น

มาครงกลับจากจีนครั้งนี้ต้องมาชี้แจงกับพรรคพวกเพื่อนฝูงในยุโรปกันยกใหญ่

และต้องยกหู “เคลียร์ใจ” กับโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาวกันอีกหลายรอบทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน