ทางรอดวิกฤติโควิดระลอก 3 เสริมภูมิคุ้มกัน รวมพลังต้านเชื้อไวรัส


เพิ่มเพื่อน    

ถึงวันนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง อีกทั้งระบาดระลอกนี้เชื้อแพร่กระจายไปครบ 77 จังหวัดเป็นครั้งแรก จากสถานการณ์เริ่มต้นการแพร่ระบาดรอบใหม่ปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน 2564 เป็นไทม์ไลน์สำคัญอีกครั้งของบ้านเรา เพราะต้นตอการระบาดอยู่ที่กรุงเทพมหานครมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ใจกลางเมือง เชื้อลามไปทั่วประเทศเมื่อเทียบสถิติโควิดระบาด 3 รอบ ส่วนหนึ่งมาจากโควิดสายพันธุ์อังกฤษ B117 แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว พบว่า ระบาดรอบใหม่นี้พบสายพันธุ์อังกฤษ 98%

ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานว่า ผู้ป่วยระลอกเดือน เม.ย.64 ตั้งแต่วันที่ 1-17 เม.ย. มีผู้ติดเชื้อสะสม 11,722 ราย เสียชีวิต 2 ราย จึงมีการนำข้อมูลเปรียบเทียบอัตราป่วยและอัตราการเสียชีวิตของโควิด-19 ที่แบ่งเป็น 3 ระลอก 1.ช่วง ม.ค.63 คือ ช่วง ม.ค.-14 ธ.ค.63 ระยะเวลา 11 เดือนครึ่ง มีผู้ป่วย 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็น 1.42% 2.ระลอก ธ.ค.63 คือ ระหว่าง 15 ธ.ค.63-31 มี.ค.64 ระยะเวลา 3 เดือนครึ่ง มีผู้ป่วย 24,626 ราย เสียชีวิต 34 ราย คิดเป็น 0.14% 3.ระบาดระลอกใหม่ เม.ย.64 วันที่ 1-13 เม.ย. ระยะเวลา 13 วัน มีผู้ป่วย 5,712 ราย เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็น 0.05 เปอร์เซ็นต์

จากการเกาะติดระลอกใหม่ ผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นเรื่อยๆ มาถึงวันที่ 17 เม.ย. ผู้ติดเชื้อใหม่ 1,547 ราย ผู้ป่วยรายใหม่สะสมมากกว่า 7,900 รายแล้ว ผู้ติดโควิดเดินทางเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ที่น่าห่วง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกจังหวัดของประเทศไทยแล้ว เพราะช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ประชานเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว ภาคที่น่าห่วงไม่แพ้กรุงเทพฯ นนทบุรี ภาคกลาง คือ ภาคเหนือและภาคใต้

สำหรับในกรุงเทพฯ กทม.เปิดโรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานครแล้ว 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 500 เตียง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา รองรับได้ 200 เตียง สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน (โรงพยาบาลเอราวัณ 1) รองรับได้ 200 เตียง และศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก (โรงพยาบาลเอราวัณ 2) รองรับได้ 350 เตียง ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่ รองรับผู้ป่วยได้ 1,250 เตียง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการรุนแรงมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม เพราะขณะนี้เกิดภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ในพื้นที่ กทม. รพ.จำนวนมากได้จับคู่กับโรงแรมที่มีความพร้อมทำเป็นโรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) ให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงมากักตัวตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ด้านกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ รองรับได้ 470 เตียง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นครนายก 300 เตียง มรฎ.เทพสตรี สุพรรณบุรี 100 เตียง ปัจจุบันมี รพ.สนามในเครือ อว.ทั้งสิ้น 12,882 เตียงกระจายทั่วประเทศกว่า 37 แห่ง และเตรียมพร้อมจัดตั้ง รพ.สนามขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยหากมีความจำเป็น เพื่อฟันฝ่าวิกฤติโควิด

ช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดยังต้องติดตามค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการเดินทางของประชาชนจำนวนมากหลังเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่นายกฯ มีคำสั่งราชการ ให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) เต็มรูปแบบอีกครั้งจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ขณะที่ภาคเอกชนส่วนหนึ่งประกาศให้เวิร์กฟรอมโฮมช่วยลดการระบาด

นายแพทย์บุญ วนาสิน กรรมการบริหารบริษัท ธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 รอบนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว พบเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษกว่า 98% ซึ่งแพร่ระบาดเร็วกว่าเดิม ส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ต้องแยกผู้มีอาการเล็กน้อยไปรักษาที่อยู่ที่โรงพยาบาลโรงแรม อย่างโรงพยาบาลธนบุรี จับคู่กับโรงแรม 3 แห่ง ทำโรงพยาบาลโรงแรมรองรับได้ 1,200 เตียง จากการดูแลคนไข้ที่ติดโควิดระลอกนี้ไม่แสดงอาการที่น่าห่วง ปอดอักเสบจากการติดเชื้อไม่แสดงอาการ ไอจามแต่ละครั้งแพร่กระจายโรคได้ถึง 10 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิดควรมารักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่ากักตัวอยู่ที่บ้าน เพราะจากที่มีอาการเล็กน้อย อาจพัฒนาสู่อาการหนัก และเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งหากปล่อยให้มีอาการรุนแรงจะเป็นภาระทางการรักษาของบุคลากรทางการแพทย์ การอยู่บ้านหรือคอนโดมิเนียมจะส่งผลให้เชื้อโรคกระจายมากขึ้น หากมีการสัมผัสขยะติดเชื้อของผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัยใช้แล้ว บรรจุภัณฑ์อาหารทานแล้ว กระดาษทิชชู หากไม่มีการคัดแยกใส่ถุงขยะติดเชื้อและปิดให้มิดชิดก็สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่น อีกทั้งหากเพี่อนบ้านรู้ว่ากักตัวอยู่บ้านจะเพิ่มความเครียดให้กับคนในชุมชน

“การแพร่ระบาดโควิดตอนนี้ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เร็วที่สุด จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยไม่เจ็บหนัก และป้องกันการติดเชื้อได้ เมื่อฉีดยี่ห้อไหนก็ควรฉีดยี่ห้อนั้นซ้ำ จากการที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ จะมีการคิดค้นพัฒนาวัคซีนให้คุ้มครองโควิดกลายพันธุ์ ซึ่งผู้รับวัคซีนกลุ่มแรกคือบุคลากรทางการแพทย์ ถัดมาผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อ แต่อยากเสนอให้เร่งฉีดในกลุ่มอายุ 25-40 ปีด้วย เพราะกลุ่มนี้มีพฤติกรรมรวมกลุ่ม เข้าสังคม ชอบเที่ยว เดินทาง แต่บ้านเรากว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศก็เดือนธันวาคม” นพ.บุญกล่าว

ในสถานการณ์วิกฤติ แม้วัคซีนจะสำคัญ แต่ผู้บริหาร รพ.ธนบุรี กล่าวว่า อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ควรอยู่บ้าน เลี่ยงไปสถานที่ชุมชน งดรวมกลุ่มสังสรรค์ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เพราะผู้ติดเชื้อรอบนี้ไม่แสดงอาการเยอะมาก และบ้านเรายังมีการตรวจเชิงรุกไม่เพียงพอ คนมีเชื้อโควิดไม่แสดงอาการเดินปะปนเต็มไปหมด ยอดติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ติดลามทุกวงการ ในช่วงสองสัปดาห์หน้าผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ออกกำลังกายสร้างภูมิต้านทานโรค ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

คนไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อโควิดไปอีกนาน นพ.ชุติเดช ตาบองครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในไทยช่วงระยะเวลา 1 ปี มีการระบาด 3 รอบ แต่ละรอบมีความรุนแรงและเชื้อแพร่กระจายรวดเร็ว รอบที่ 1 ระบาดจากสนามมวยและสถานบันเทิง มีมาตรการล็อกดาวน์ และประชาชนปฏิบัติตัวอย่างเข้มงวดมาก ทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรง รอบที่ 2 ช่วงปลายปี 63 ต่อเนื่อง ม.ค.64 ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว แต่ควบคุมสถานการณ์ได้ มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ประชาชนชะล่าใจ ดูแลตัวเองน้อยลง นำมาสู่การระบาดรอบที่ 3 เม.ย.64 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง  ตอนนี้ยังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

“ตัวเชื้อเปลี่ยนจากเดิมเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ผู้ติดเชื้อเปลี่ยนจากสูงวัยเป็นวัยทำงาน จากการทำงานในการระบาดระลอกนี้ รพ.รับตรวจโควิดแบบไดรฟ์ทรู มีผู้ตรวจเฉลี่ย 300-400 รายต่อวัน พบ 90% เป็นวัยทำงาน ผลเป็นบวก ติดโควิดเฉลี่ย 20-30 ราย คิดเป็น 7-10% ถือว่ามาก ความเสี่ยง 70% ของคนติดโควิด ไม่แสดงอาการ จึงต้องกักตัว 14 วัน ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสะสมเพิ่มทุกวัน พบว่า 20-25% มีอาการปอดอักเสบ ปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาตัว 70 คน ในจำนวนนี้ 15 คน ฟิล์มเอกซเรย์ปอดผิดปกติ  ขณะที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อยส่งไป Hospitel วันที่ 2-3 อาการทรุดต้องส่งกลับมารักษาโรงพยาบาล แพทย์ลดความรุนแรงของโรคตามแนวทางการรักษาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ตอนนี้หลายโรงพยาบาลเตียงไม่พอ ส่วนโรงพยาบาลเรามีแผนจะขยายเตียงเพิ่มอีกกับโรงแรมที่มีความพร้อม” นพ.ชุติเดชกล่าว

ผอ.รพ.เกษมราษฎร์ รามคำแหง กล่าวอีกว่า อยากให้คนที่ติดรักษาตัวที่โรงพยาบาลดีกว่ากักตัวที่บ้าน เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการและทำการรักษาได้รวดเร็ว อีกทั้งสถานที่กักตัวของโรงพยาบาลมีระบบควบคุมการแพร่เชื้อ ระบบฟอกอากาศ และจำกัดพฤติกรรมคนป่วย การรักษาตัวอยู่ที่บ้านบางคนเผอเรอ เห็นว่าไม่มีอาการ ออกมาพบปะคนในครอบครัว ทำให้เสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม ยิ่งถ้าออกไปสถานที่อื่นนอกจากห้องพักเสี่ยงแพร่เชื้อ

สำหรับ แนวทางปฏิบัติเมื่อต้องกักตัวที่บ้านอยู่ร่วมกับครอบครัวหรือพักร่วมกับผู้อื่น   นพ.ชุติเดชกล่าวว่า คนที่สัมผัสกับผู้ป่วยโควิดระยะใกล้ พูดคุยต่อเนื่อง 15 นาที ระยะห่างไม่เกิน 1 เมตร ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ควรมาตรวจเชื้อโควิด หากผลตรวจเป็นลบ ต้องกักตัว รอดูอาการ เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ ควรกักตัวที่บ้าน 14 วัน ป้องกันทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสบ่อย ป้องกันความเสี่ยงคนอื่นรับเชื้อ แยกห้องนอน ห้องน้ำจากคนในบ้าน 

คนที่ไม่ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ งดสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น ละอองฝอยน้ำลาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่นในรัศมี 1 เมตร ออกกำลังกายทุกวัน ไม่อยู่ในสถานที่แออัด ผอ.รพ.บอกว่า นอกจากช่วยตัวเองให้รอดจากโควิดระลอก 3 แล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล เพราะระบาดรอบนี้หนักมาก 

“โรคโควิดเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ เมื่อไหร่ที่ย่อหย่อน การระบาดกลับมา วัคซีนที่ดีที่สุดคือ การดูแลตัวเอง อยากให้ทุกคนอดทนปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดอีกอย่างน้อย 1 ปี เมื่อฉีควัคซีนประชาชนมีภูมิต้านทาน เชื่อว่าความรุนแรงของโควิดจะน้อยลง” นพ.ชุติเดชกล่าว

ส่วนคำแนะนำจากกรุงเทพมหานครกรณีอยู่บ้านกับครอบครัวใหญ่ ควรปฏิบัติ ดังนี้ แยกห้องนอนออกจากคนอื่นในบ้านให้เป็นสัดส่วน ไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่นในบ้าน ขยะจากผู้ติดเชื้อถือเป็นขยะติดเชื้อ ให้แยกขยะ  แยกห้องน้ำ หากไม่สามารถแยกห้องน้ำจริงๆ ให้ผู้ติดเชื้อใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้

จุดที่ควรระวังมากเป็นพิเศษคือ อ่างล้างหน้าและโถปัสสาวะ  กรณีอยู่บ้านคนเดียวหรือคอนโดฯ ใช้ชีวิตได้ตามปกติภายในบ้าน ใช้บริการเดลิเวอรีได้ แต่ต้องใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับพนักงานที่มาส่ง และล้างมือบ่อยๆ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่คอนโดฯ ควรแจ้งนิติบุคคล เลี่ยงการใช้พื้นที่ส่วนกลางป้องกันแพร่เชื้อ ให้ทุกคนในอาคารใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เจ้าหน้าที่นิติบุคคลให้เตรียมมาตรการและแจ้งลูกบ้านให้ระมัดระวัง ฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณส่วนกลาง รวมถึงการจัดการขยะติดเชื้อ 

นาทีนี้ต้องสามัคคีกันผ่านวิกฤติ สำหรับประชาชนใน กทม.สามารถติดต่อเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่ใช้สำหรับอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ สายด่วนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 0-2203-2393 หรือ 0-2203-2396 หรือ 0-2203-2883 และ 0-2245-4964 (ตลอด 24 ชั่วโมง) สายด่วน Website BKK COVID-19 0-2203-2393 และ 0-2203-2396 ให้บริการเวลา 08.00-20.00 น.

สายด่วนผู้ที่มีอาการป่วยเข้าเกณฑ์โรค COVID-19 ติดต่อศูนย์เอราวัณ กทม. 1646 แจ้งข้อมูลผู้ที่คาดว่าได้สัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) 09-7046-7549 และสายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 1422

นายแพทย์บุญ วนาสิน

นพ.ชุติเดช ตาบองครักษ์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"