'ผู้โชคดี' ในวันที่คืนความเป็นธรรม ศาล รธน.ถอนประกาศ คสช. 2 ฉบับ


เพิ่มเพื่อน    

 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 เม.ย.2564 มีผลคำวินิจฉัยในคดีสำคัญคดีหนึ่งอันเป็นที่น่าพอใจ เหมือนจะสายไป แต่ก็ย่อมดีกว่าผลออกมาเป็นลบ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคำร้องของ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” นักวิชาการกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะจำเลยซึ่งถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. ตามคำสั่ง ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดย คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 29/2557, 41/2557 กำหนดโทษทางอาญาให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อผู้ไม่ไปรายงานตัว

            ล่าสุดในวันดังกล่าว ศาลแขวงดุสิตซึ่งพิจารณาคดีนี้ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ “วรเจตน์” ยื่นคำร้องโต้แย้งไป เกี่ยวกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คำร้องระบุเหตุผล อาทิ จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลขัดต่อหลักนิติธรรม, กำหนดโทษทางอาญาบังคับใช้ย้อนหลังแก่จำเลย, ไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไป, กำหนดโทษทางอาญาเกินสมควรแก่เหตุ และเมื่อ คสช.สิ้นอำนาจไปแล้ว วัตถุประสงค์ของคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวจึงสิ้นสุดลงไปด้วย

            ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2563 ที่ออกมา ได้วินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ทั้งสองฉบับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ โดยเฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่งด้วย โดยเหตุผลสำคัญคือ ประกาศ คสช.ทั้งสองฉบับไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำผิด ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ นอกจากนี้การออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อนแล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในภายหลัง เป็นการกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

            จากผลของคำวินิจฉัยนี้ย่อมเท่ากับว่า ต่อไปคดีของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องไม่ไปรายงานตัว ก็จะต้องยุติลงด้วยการยกฟ้องหรือถอนฟ้อง โดยนอกจาก “วรเจตน์” แล้ว บุคคลอื่นที่ถูกดำเนินคดีนี้จำนวนหนึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงทางการเมือง บางรายยังอยู่ในประเทศ บางรายลี้ภัยอยู่นอกประเทศ เมื่อสืบค้นข้อมูลจาก “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” พบชื่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีจนยุติแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2559 จำคุก 2 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ในความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25 และ 29/2557 เท่ากับ “สมบัติ” เสียค่าปรับไป 3,000 บาท เพราะประกาศ คสช.

            ขณะที่คนหนึ่งเหมือนจะยุติทั้งชีวิต “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. แล้วลี้ภัยไปต่างประเทศ ก่อนถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามบุคคลอื่นๆ ที่โดนคดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และยังคงมีชีวิตอยู่ในประเทศ โดยคดียังไม่ถูกตัดสิน ก็ถือว่าโชคดีที่จะได้รับผลจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ “พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์” อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ “สิรภพ กรณ์อรุษ” หรือ “รุ่งศิลา” นักเขียนแนวร่วมคนเสื้อแดง เป็นต้น

            ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากการรัฐประหาร ที่มีการใช้อำนาจเรียกบุคคลต่างๆ ไปพบทหารตามอำเภอใจ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะยินดีไปพบ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตตัวเองบ้าง และเมื่อไม่ไปก็ถูกดำเนินคดีซ้ำ กว่าจะได้ความเป็นธรรมกลับคืนมาต้องใช้เวลาเกือบ 7 ปี ที่บางคนต้องเสียอะไรไปแล้ว.

นายชาติสังคม

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"