ธรรมนัสยันไร้ปัญหาปชป.


เพิ่มเพื่อน    

  "ธรรมนัส" ไร้ปัญหาไม่ได้แบ่งงานคุมภาคใต้ ยันทำงานตามคำสั่ง "นายกฯ-บิ๊กป้อม" ปัดตีหัวเมือง ปชป. บอกตอนนี้ก็เดินสายไปทั่วประเทศอยู่แล้ว "ขาประจำ" ป้อง "บิ๊กตู่" โดนฝ่ายค้านจี้แก้โควิดล้มเหลวต้องลาออก "ธนกร-แรมโบ้" ซัดอย่าดีแต่เล่นเกมการเมือง “จตุพร” โวยก 3 ไล่ “ประยุทธ์” 1-2 พ.ค. จัดแบบเบิ้มๆ มี "นักวิชาการ-นักการเมือง" แจม

    เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถอนคำสั่งที่ 85/2564 เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด ที่มอบหมายให้ดูแลภาคใต้ว่า ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำงานในฐานะ รมช.เกษตรฯ และตามที่นายกฯ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่งตั้งและมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่างๆ ถือว่าได้ลงพื้นที่ทุกจังหวัดและทำพื้นที่มาตลอด
    ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า การแบ่งงานให้รัฐมนตรีรับผิดชอบในแต่ละจังหวัด ไม่ใช่ประเด็น และไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ดูแลจังหวัดไหน ก็ไปเกือบทุกจังหวัดอยู่แล้ว ไปเยี่ยมประชาชนเดือดร้อนทุกที่ และการแบ่งงานเป็นอำนาจของนายกฯ ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรี เมื่อตัดสินใจมอบหมายว่าให้ใครทำแล้ว หน้าที่ของรัฐมนตรีคือต้องทำให้ดีที่สุด
    "ยังไม่ได้คุยกับทางพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็คุยกันอยู่แล้ว" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
    ถามว่าการมอบหมายให้ไปดูภาคใต้ ถูกมองว่าไปตีหัวเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ใช่ และที่มองอาจทำให้มีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ ก็คิดมากกันเอง อย่าไปคิดมาก เพราะเราทำงาน เป้าหมายสูงสุดคือพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่มีเรื่องอื่น
    ซักว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ตนเป็น ส.ส.พรรค พปชร. แต่มีพรรคพวกเยอะ ทุกพรรคเราเป็นเพื่อนกัน เป็นพวกกัน มีอะไรก็หันหน้าพูดคุยกัน
    พอถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นในลักษณะยังไม่ค่อยพอใจ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะเป็นความเห็นส่วนตัวของนายจุรินทร์
    ร.อ.ธรรมนัสกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกเพราะบริหารจัดการแก้โควิด-19 ล้มเหลว รวมถึงไม่แก้รัฐธรรมนูญตามที่สัญญาว่า เรื่องโควิด-19 เวลานี้ถ้าพูดภาษาทหารก็เป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นการต่อสู้ของมนุษย์ที่เป็นสิ่งที่ชีวิตกับสิ่งที่มองไม่เห็น และกระทบมนุษย์ทั่วโลก ดังนั้นคนไทยต้องช่วยกันทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติ ทั้งรัฐและเอกชนเดินหน้าไปด้วยกัน คนไทยเรารักกัน เมื่อมีวิกฤติต้องช่วยกัน อย่าเอาการเมืองมาเล่นมากเกินไป ส่วนข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน โดยการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาที่ต้องขับเคลื่อน
    "ผมเชื่อมั่นพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต่างก็คิดว่าเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เวลานี้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ควรมาคุยเรื่องการเมือง แต่ให้ช่วยเหลือประชาชน เพราะคำตอบสุดท้ายประชาชนก็จะดูและพิจารณาว่าพรรคร่วมพรรคใดที่ประชาชนจะไว้วางใจ และคิดว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นใด ประชาชนเขามองอยู่" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพปชร. กล่าวว่า ในภาวะนี้ไม่อยากให้การเมืองไปเพิ่มความวุ่นวายกับรัฐบาลที่ต้องตั้งหลักแก้ไขปัญหา การที่หลายฝ่ายอยากให้รัฐบาลและนายกฯ ลาออกไม่ใช่ประเด็น เพราะเป้าหมายของพรรค พปชร.คือทำอย่างไรให้การบริหารสถานการณ์โควิดผ่านไปได้ด้วยดี
    ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกว่า รู้สึกผิดหวังที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยังยึดติดกับเกมการเมืองเก่าๆ โดยไม่ได้สนใจความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน
    เช่นเดียวกับนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ไม่ควรลาออกในเวลานี้ ที่บ้านเมืองเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะที่ผ่านมาก็ได้แก้ไขปัญหาได้ดีอยู่แล้ว แม้ว่าการแก้ไขปัญหาจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่นายกฯ, รัฐบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ไม่เคยย่อท้อทำงานอย่างหนักในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็ทำเช่นนี้มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดแล้ว อีกทั้งหากนายกฯ ลาออก ตนก็มองไม่เห็นว่าจะมีใครเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้
    อย่างไรก็ตาม ช่วงค่ำวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมรายการ “มาเถอะจะคุย: โควิด-19 ยังสาหัส ไทย จัดการอย่างไรดี?” ดำเนินรายการโดย น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ทางเฟซบุ๊กไลฟ์โดย The Matter แสดงความเห็นต่อการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาวะ เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
    นายธนธรระบุตอนหนึ่งว่า ตนไม่ไว้ใจผู้นำรัฐบาลชุดนี้ให้ใช้เงิน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก้อนหนึ่งชื่อว่าไทยไปด้วยกัน จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท แล้วให้รัฐมนตรีไปรับผิดชอบการใช้จ่ายงบก้อนนี้ เช่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไปดูแลจังหวัดบุรีรัมย์ 803 ล้านบาท, นายอิทธิพล คุณปลื้ม ไปดูแลจังหวัดชลบุรี 1,250 ล้านบาท, นายวราวุธ ศิลปอาชา ไปดูแลจังหวัดสุพรรณบุรี 599 ล้านบาท ฯลฯ คำถามคือการดูแลงบประมาณแบบนี้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือไม่
    "ในขณะที่ประเทศไทยกำลังต้องการทุกทรัพยากรเพื่อมาจัดการการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลยังจัดงบ 4.5 หมื่นล้านนี้แจกจ่ายให้รัฐมนตรีในสังกัดตัวเอง แล้วจะพูดได้อย่างไรว่างบแบบนี้ไม่ใช่งบหาเสียง ไม่ใช่งบที่จะไปสร้างระบบอุปถัมภ์ของรัฐมนตรี ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังดิ้นรน กำลังต่อสู้กับโควิดมากขนาดนี้" นายธนาธรกล่าว
    ส่วน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติโอนอำนาจหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ส่งผลให้กฎหมายรวม 31 ฉบับขึ้นตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นการชั่วคราวเฉพาะนั้น ยิ่งตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังเหลิงอำนาจ ทั้งที่บริหารประเทศในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ล้มเหลวสิ้นท่า ไม่หลงเหลือความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
    ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ตอนหนึ่งระบุว่า การจัดอภิปรายของคณะสามัคคีประชาชนในช่วงยก 3 วันที่ 1-2 พ.ค. จะมีนักวิชาการ, ส.ส.หลายคนมาร่วมอภิปรายชำแหละระบอบประยุทธ์ที่ปกครองประเทศไทยมากว่า 7 ปี แต่ไม่มีผลงานสำเร็จให้คนไทยได้ชื่นชม เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์รวบอำนาจจากกฎหมายทั้ง 31 ฉบับมาไว้ที่คนเดียว เท่ากับเป็นการยึดอำนาจจาก ครม. และไม่มีรัฐมนตรีคนใดคัดค้าน เปรียบเหมือนเป็นการรัฐประหารรูปแบบใหม่ การรวบอำนาจเช่นนี้จึงแสดงถึงประยุทธ์มีความคิดแยบยลในการยึดรวบอำนาจ จึงดูแคลนคนนี้ไม่ได้ หากไม่แน่จริงเขาคงจะไม่อยู่มาได้ถึง 7 ปี
    นายจตุพรกล่าวว่า การไล่ประยุทธ์ในวันที่ 1-2 พ.ค. แบ่งเป็น 2 ภาค โดยภาคเริ่มแรกบ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น จะมีหมู่มิตรคณะสามัคคีประชาชนไทยไม่ทนเปิดเวทีปราศรัย ส่วนภาคสองเป็นช่วงสี่โมงเย็นเป็นต้นไป จะเป็นเวทีแขกรับเชิญทั้งนักการเมืองและนักวิชาการการเข้ามาร่วมด้วย สัปดาห์นี้มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นักวิชาการ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้า พรรคเพื่อไทยฝ่ายเศรษฐกิจ, นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ และมีอีกหลายคน ต้องติดตาม
    "ผมเชื่อว่าวันนี้ในซีกการเมืองกับฝ่ายประชาชนต่างส่งเสียงเหมือนกันว่าประยุทธ์ออกไป การมาร่วมของทุกฝ่ายนั้นล้วนจำเป็นอย่างยิ่ง หากไม่สามัคคีกัน ก็ถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง อยู่ในสภาพสังคมไร้อนาคตเหมือนเดิม จึงขอบอกว่าเจตนารมณ์ของคณะสามัคคีประชาชน คือเปิดประตูทุกบาน ใช้หลักแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ต้อนรับทุกคนในฐานะปัจเจกมาร่วมกันมาไล่ประยุทธ์ออกไป ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคนไทยในชาติ”ประธาน นปช.ระบุ
    วันเดียวกัน นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า การระบาดโควิดรอบนี้รุนแรงที่สุด มีการติดเชื้อจำนวนมาก และกระจายไปทั่วทุกจังหวัดไม่มีเว้น ฉะนั้นถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดูแลผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งมีการรวบ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง 31 ฉบับไปแล้ว ซึ่งรวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 นั้น ให้มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติให้ท้องถิ่นในการดูแลประชาชนสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ
    นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนภาคใต้ กล่าวว่า การรับมือการแพร่ระบาดของโควิดในรอบที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ หยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การรวมกลุ่มของประชาชนในภารกิจต่างๆ รัฐบาลควรนำบทเรียนเหล่านี้มาใช้รับมือการแพร่ระบาดในรอบที่ 3 โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมรับมือการระบาดของโควิด-19 ที่ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรองรับ สามารถใช้งบประมาณและบุคลากรใน พื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"