ส่องเศรษฐกิจโลกปี 2564


เพิ่มเพื่อน    

 

ในปี 2563 GDP รวมของโลกติดลบที่ -3.3% เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จากข้อมูล 195 ประเทศที่ IMF รายงาน มี 27 ประเทศที่ยังมีการขยายตัวของ GDP เป็นบวก ในกลุ่มนี้ 6 ประเทศอยู่ในเอเชีย ได้แก่ จีน (2.3%) ไต้หวัน (3.1%) เวียดนาม (2.9%) บังคลาเทศ(3.8%) พม่า (3.2%) และบรูไน (1.2%) นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ในยุโรปมีสองประเทศซึ่งมี GDP เป็นบวกคือไอร์แลนด์ (2.5%) และตุรกี (1.8%) ประเทศไทยนั้น GDP ติดลบที่ -6.1% ซึ่งไม่ถึงกับอยู่ท้ายแถวในเอเชีย ยังมีฟิลิปปินส์ (-9.5%) อินเดีย (-8%) เป็นสองประเทศที่รั้งท้าย ในยุโรปหลายประเทศมี GDP ติดลบสูงเป็นพิเศษ เช่น สหราชอาณาจักร (-9.9%) อิตาลี (-8.9%) ฝรั่งเศส (-8.2%) ส่วนเยอรมันติดลบไม่สูงนักที่ -4.9% สหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ป่วยโรคโควิดสูงที่สุดในโลกมี GDP ติดลบที่ -3.5% หลายประเทศที่ยังมี GDP เป็นบวก หรือติดลบไม่สูงนัก มักจะเป็นประเทศที่มีการพึ่งพาอุปสงค์ (demand) ในประเทศค่อนข้างสูง จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายกว่าประเทศที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศสูง

 

สถิติที่กล่าวมานี้เป็นอุทาหรณ์ว่าถึงแม้ความสำเร็จทางสาธารณสุขในการควบคุมโรคติดต่อเป็นพื้นฐานที่ดี การประคับประคองเศรษฐกิจให้ดำเนินไปได้ยังต้องพึ่งปัจจัยอื่นอีกหลายประการ เช่นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ความแข็งแกร่งทางการเงินทั้งของภาครัฐและภาคครัวเรือน ความเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาวของประเทศนั้นๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ

 

ไตรมาสแรกของปี 2564 ได้ผ่านไปแล้ว การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์จะมีสะดุดบ้างในหลายประเทศแต่แนวโน้มว่า GDP จะกลับมาเป็นบวกในประเทศส่วนใหญ่ดูชัดเจนขึ้น การขยายตัวของ GDP ประเทศต่างๆจะเร็วช้าไม่เท่ากัน ตัวเลขจากไตรมาสแรกของปีแสดงความแตกต่างชัดเจน GDP ของจีนซึ่งมีศักยภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศสูง ขยายตัวถึง 18.3% (เทียบกับไตรมาสแรก ปี 2563) ในขณะที่สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาอุปสงค์จากต่างชาติสูง ขยายตัว 0.2% IMF ทำนายว่าหลายประเทศจะมี GDP ที่เติบโตสูงในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานเปรียบเทียบที่ต่ำเนื่องจากการล็อคดาวน์ของปี 2563 สิ่งที่สำคัญคือเมื่อไหร่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือขนาดของ GDP จะกลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนมีโควิด บทความนี้ขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญซึ่งจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่ควรจับตาดูดังนี้

 

ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิดเป็นตัวแปรหลัก แม้ว่าวัคซีนจะไม่แก้ปัญหาได้ 100% แต่ก็จะช่วยลดการแพร่กระจาย และความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติทางสาธารณสุข อันจะเสริมสร้างความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน และความมั่นใจในการลงทุนผู้ประกอบการ ทำให้วัฏจักรธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติ ประเทศที่สามารถฉีดฉีดให้ประชากรได้เร็ว จนเกิดภูมิต้านทานหมู่ จะได้เปรียบ ภาคธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินงานได้ใกล้เคียงกับก่อนมีวิกฤติเร็วขึ้น ข้อมูลการฉีดวัคซีนช่วงกลางเดือนเมษายนแสดงว่ามีหลายประเทศในโลกที่มีความก้าวหน้าสูงในการฉีดวัคซีนให้ประชากรแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส เช่นสหรัฐฯ (40% ของประชากร) สหราชอาณาจักร (49%) อิสราเอล (62%) ประเทศในเอเชียมีสิงคโปร์ (23%) ฮ่องกง (10%) อินเดีย (8%) อินโดนีเซีย (4%) แต่โดยรวมแล้วประเทศในเอเชียส่วนใหญ่รวมทั้งไทย (0.8%) ไม่มีความก้าวหน้ามาก อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในราว 1%-2% ของจำนวนประชากร

 

การกระตุ้นเศรษฐกิจจะค่อยๆแผ่วลงเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ในปี 2564 ในหลายประเทศภาครัฐจะยังดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างผ่อนคลายจนกว่าภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงปกติ แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างระมัดระวังขึ้น ดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำแต่ไม่น่าจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในปีนี้ มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและผู้ประกอบการจะมีการเลือกสรรมากขึ้น ภาครัฐจะเพิ่มความระมัดระวังฐานะทางการคลังและการก่อหนี้สาธารณะยิ่งขึ้น ดังนั้นจะมีการตีกรอบการให้มาตรการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่แคบลงเรื่อยๆ

 

ภาวะเงินเฟ้อจะกลับมาเมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น นักลงทุนจะระมัดระวังมากขึ้นและใส่ใจในความแตกต่างของคุณภาพสินทรัพย์และความน่าเชื่อถือของผู้กู้ แม้ว่าธนาคารกลางหลักของโลกจะยังช่วยประคองสภาพคล่องในตลาดเงินอยู่ การอัดฉีดสภาพคล่องมีแนวโน้มจะค่อยๆลดลง ในสหรัฐฯมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดยักษ์ของประธานาธิบดีไบเดนจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในภายหลัง พร้อมทั้งภาระหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯเฝ้าระวังมากขึ้น คอยติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆประกอบการตัดสินใจมาตรการสภาพคล่อง สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและตลาดตราสารหนี้เริ่มมีความผันผวนมากขึ้น และการประเมินราคาหลักทรัพย์มีแนวโน้มเข้มข้นยิ่งขึ้น

 

นิวนอร์มัล รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ชีวิตการทำงานจะไม่กลับไปเหมือนยุคก่อนวิกฤติโควิด ภาคธุรกิจมีการประเมินรูปแบบของการดำเนินการ พนักงานบริษัทไม่จำเป็นต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน สามารถลดวันเข้าออฟฟิศสลับกับการทำงานจากบ้านได้เป็นต้น ดังนั้นความต้องการการใช้พื้นที่ออฟฟิศจะลดลง ธุรกิจดิจิตัลจะมีบทบาทสูงขึ้น และขยายตัวต่อไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง บริการทางการเงินเป็นต้น เมื่อประกอบกับปัจจัยเรื่องการประหยัดพลังงานและดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว การเดินทางและการใช้พลังงานมีแนวโน้มที่จะขยายตัวช้ากว่าในอดีต การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์และระบบการขนส่ง โลจิสติกส์ก็จะเปลี่ยนไป การปรับตัวของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่อนิวนอร์มัลนี้ จะมีผลต่อการวางผังเมือง การคมนาคม การใช้ทรัพยากร และรูปแบบการดำเนินธุรกิจต่างๆในระยะยาว

 

การค้าและห่วงโซ่การผลิตจะพึ่งการตกลงร่วมมือระหว่างประเทศสูงขึ้น ประสบการณ์จากวิกฤติโควิด ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะทำให้ประเทศต่างๆ เตรียมทางหนีทีไล่ในการค้าระหว่างประเทศอย่างระมัดระวังขึ้นโดยเฉพาะห่วงโซ่การผลิตและการซื้อสินค้าที่จำเป็น ประเทศที่พึ่งพาการค้าสูงจะพยายามทำความตกลงกับกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญเพื่อเตรียมการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) การรวมกลุ่มของประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคเพื่อช่วยให้การค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น สหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนก็มีทีท่าที่จะพิจารณาการกลับมาร่วมกลุ่ม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)

 

เศรษฐกิจไทยนั้นมีแนวโน้มจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆในปี 2564 เนื่องมาจากความล่าช้าในการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามภาครัฐและภาคธุรกิจควรตระหนักถึงประเด็นต่างๆเหล่านี้เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบาย เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไทยควรเร่งสร้างความพร้อมช่วยให้เศรษฐกิจเข้าสภาวะปกติ รวมทั้งปรับโครงสร้างเพื่อพึ่งอุปสงค์ในประเทศให้สูงขึ้น และเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อที่จะปรับตัวเข้าสู่นิวนอร์มัลได้ ไม่ล้าหลังนานาประเทศ

 

คอลัมน์เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ วันพุธที่ 28 เมษายน

สายธาร หงสกุล

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"