จะใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรดี?


เพิ่มเพื่อน    

 

กว่าบทความฉบับนี้จะออกมา โครงการที่ยื่นเสนอเข้ามาเพื่อขอใช้เงินกู้จำนวน 400,000 ล้านบาท คงจะผ่านการคัดกรองไปบ้างแล้ว แต่ผู้เขียนก็ยังอยากจะเสนอการใช้เงินจำนวนนี้ให้คุ้มค่าสมกับเป็นเงินกู้ที่จะเป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีอยู่ดี

พ.ร.ก.กู้เงินที่ผ่านสภาฯ ไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม จำนวน 1 ล้านล้านบาท จะจัดสรรเพื่อแผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท และเป็นการช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ 550,000 ล้านบาท ส่วนอีก 400,000 ล้านบาท ที่กำลังพูดถึงนี้ จะเป็นการดูแลและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสร้างศักยภาพให้ชุมชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยและสำนักนายกฯ ยื่นเสนอโครงการเพื่อใช้เงินส่วนนี้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมมาที่สภาพัฒน์

จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการเสนอโครงการและงบประมาณโครงการเข้ามาจำนวนมาก เพียง 1 สัปดาห์นับจากวันแรก ก็มีผู้เสนอโครงการเข้ามาถึง 34,263 โครงการ รวมวงเงิน 841,269 ล้านบาท

นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคณะอนุกรรมการและกรรมการกลั่นกรอง ที่จะต้องคัดเลือกโครงการเหล่านี้ให้อยู่ในงบประมาณ 400,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาเพียง 15 วัน เพื่อเสนอ ครม. ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563

คณะอนุกรรมการและกรรมการกลั่นกรองได้วางเงื่อนไขโครงการที่จะทำว่า จะต้องเป็นโครงการที่เน้นการฟื้นฟูและสร้างศักยภาพภายในประเทศหลัง Covid 19 โดยให้ความสำคัญกับ sector ที่ประเทศยังคงมีความได้เปรียบและต่างประเทศต้องการ เช่น เกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพที่ยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกิจกรรมและธุรกิจชุมชนที่มีโอกาสและศักยภาพในการสร้างงาน สร้างอาชีพ รองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน

แต่เอาเข้าจริง โครงการส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็ยังคงเป็นการสร้างถนนสายสั้นๆ ในชุมชนถึง 12,182 โครงการ มีโครงการที่เน้นเรื่องการสร้างงานและแก้ไขความยากจนเพียง 117 และ 9 โครงการตามลำดับเท่านั้น

โครงการเหล่านี้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นโครงการเล็กๆ ที่ยากที่จะมีผล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นแผนงานที่เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว นำมาปัดฝุ่นเสียใหม่เพื่อเสนอของบประมาณ ในลักษณะ "งบล้างท่อ" ไม่ใช่โครงการใหม่ที่คิดขึ้นตามจุดประสงค์ของการใช้เงิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ เพราะระยะเวลาที่ต้องการให้เสนอโครงการเพื่อการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างรวดเร็วนั้นสั้นมาก การคิด วิเคราะห์และคัดเลือกในแต่ละหน่วยงานจึงทำไม่ได้

แทนที่เราจะใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ไปในโครงการเล็กๆ ที่กระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดได้ว่าเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่า ซึ่งเป็นการใช้เงินแบบเบี้ยหัวแตกหัวแหลก ควรหรือไม่ที่จะใช้งบส่วนใหญ่เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ เพื่อให้มีประสิทธิผลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างงาน สร้างรายได้แบบยั่งยืน

ในเวลาเดียวกัน ก็แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไปด้วย เพราะในแต่ละปีเราต้องเสียเงินงบประมาณหลายหมื่นล้านเพื่อการชดเชยภัยแล้งและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม เงินชดเชยเทียบไม่ได้กับความเสี่ยง ในเรื่องน้ำที่เกษตรกรเผชิญอยู่ดังนั้นแม้การลงทุนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั่วประเทศแบบบูรณาการจะใช้เงินลงทุนสูง แต่จะประหยัดงบประมาณในการชดเชยและเยียวยาในแต่ละปี โครงการเช่นนี้จึงน่าจะคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นาน ยังไม่นับประโยชน์ที่เกิดจากการผลิต การสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มคุณภาพของชีวิต รวมทั้งยังเป็นการเตรียมรับมือกับปัญหา climate change ที่ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ประเทศที่ประชากรจำนวนมากยังพึ่งภาคเกษตร การบริหารจัดการน้ำในระยะต่อไปจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

แผนการลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั่วประเทศจะต้องทำในลักษณะ Master plan ที่มีโครงการใหญ่และเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในลักษณะ "ปูพรม" มีการสร้างพัฒนา ปรับปรุงแหล่งน้ำ ที่กักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ คลอง ฝาย และอื่นๆ เชื่อมโยงกัน การมี master plan ในเรื่องนี้จะดูแลเรื่องผล กระทบภายนอกในทางลบ (negative externalities) ได้ดีกว่าต่างคนต่างทำตามกำลังงบประมาณ และสามารถประสานผลประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ และชดเชยผู้ที่เสียประโยชน์จากโครงการอย่างเป็นธรรม

โครงการบริหารจัดการน้ำน่าจะมีส่วนที่จะทำให้เราบรรลุถึงจุดประสงค์ของการใช้เงินตามแผนงานทั้ง 4 แผน (แผนงาน 3.1-3.4) คือ เป็นการลงทุนที่สามารถฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (แผนงาน 3.1) เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และชุมชน (แผนงานที่ 3.2) เป็นการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน (แผนงาน 3.3) และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต (แผนงานที่ 3.4)

ความยากลำบากของการทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการอยู่ที่ทุกขั้นตอนของการทำโครงการ ตั้งแต่การมี master plan ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ เมื่อมีโครงการย่อยๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ การบริหารจัดการในเรื่องการก่อสร้าง การประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายและภายในกำหนดเวลาเป็นเรื่องท้าทาย ที่สำคัญต้องบริหารความขัดแย้งหรือการขัดกันของผลประโยชน์ในแต่ละพื้นที่และหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากไม่ใช่เล่น

อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก หากไม่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ และปัญหาความยากจน เราจะไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

ถึงตรงนี้คงมีคนแย้งว่า ภาวะวิกฤติครั้งนี้ต้องการการใช้จ่ายออกไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนงานที่เสนอเข้ามา การทำโครงการบริหารจัดการน้ำต้องใช้เวลา ซึ่งประเด็นนี้ก็พอจะเข้าใจได้ แต่การใช้เงินออกไปแบบเบี้ยหัวแหลกหัวแตกจะไม่มีประสิทธิผลมาก อย่างน้อยตัวทวีคูณทางการคลังในปัจจุบันต่ำมาก ในทุกประเทศการคาดหวังว่าเงินที่ใช้ไปจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั้น อาจจะไม่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันหนี้สาธารณะของประเทศที่สูงขึ้นมากนี้น่าจะทำให้เราต้องใช้การคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนกว่าเดิม หรืออย่างน้อย หากไม่สามารถทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มรูปแบบจากเงินกู้ 400,000 ล้านบาทได้ทั้งหมด ก็ควรจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำเป็นหลักและต่อเนื่องในปีงบประมาณหน้า

โครงการบริหารจัดการน้ำนี้น่าจะเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่าและสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวจะเพิ่มการจ้างงานในหลายระดับและพื้นที่ ทั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารโครงการ แรงงานในระดับฝีมือ และไร้ฝีมือจำนวนมากกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงควรมีการจ้างบัณฑิตจบใหม่ทำหน้าที่เหมือนอาสาสมัครในกรณี Covid 19 เพื่อตรวจสอบและดูแลให้การทำโครงการย่อยๆ ในแต่ละพื้นที่เป็นไปตามเป้าหมาย มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ก็หวังที่จะเห็นนักการเมืองมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลสักหน่อยเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศและประชาชน ไม่เน้นแต่การใช้เงินที่หวังผลทางการเมืองระยะสั้นๆ

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. อัจนา ไวความดี
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"