ตามรอย 80 ปีหนังไทย ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ที่ตำบลป่าแดง จ.แพร่ (2) ‘ปัญหาที่ดินบ้านสันกลางและหลักฐานจากพระเจ้าช้างเผือก’


เพิ่มเพื่อน    

ปรีดี  พนมยงค์ ผู้สร้าง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ (ยืนกลาง) ถ่ายทำฉากสงครามที่ตำบลป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ ในปี 2483 (ภาพจากหอภาพยนตร์)

 

ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ เพื่อสื่อสารแนวทางสันติภาพในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังคุกรุ่นที่สร้างโดยปรีดี  พนมยงค์  รัฐบุรุษอาวุโส  ถ่ายทำฉากสงครามที่ตำบลป่าแดง  อ.เมือง  จ.แพร่ ในปี 2483 นั้น  เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ชาวบ้านสันกลางยืนยันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอยู่อาศัย  ทำนา  ทำประโยชน์มาก่อนที่ทางราชการจะประกาศให้เป็นที่ดินราชพัสดุทับที่อยู่อาศัยและทำกินของพวกเขา  !!

 

บัดนี้เวลาผ่านไป 80 ปีแล้ว  ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกยังเป็นอมตะ  ยังมีผู้ชมติดตามดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในYoutube หลายหมื่นครั้ง  ขณะเดียวกันสงครามชีวิตของชาวบ้านสันกลางก็ยังไม่จบ  พวกเขายังต่อสู้กับปัญหาเรื่องที่ดินราชพัสดุทับที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างไม่ลดละ.....

 

ปากคำของพ่อเฒ่า : ตระกูลผู้ดูแลพระธาตุช่อแฮ

บ้านสันกลาง หมู่ที่ 9  ต.ป่าแดง  อ.เมือง  จ.แพร่  อยู่ไม่ไกลจากพระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานที่สำคัญของคนแพร่ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกนั้น  มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดินมานาน  จนถึงปัจจุบันก็ยังแก้ไขไม่ได้  โดยชาวบ้านมีหลักฐานยืนยันว่าอยู่อาศัยกันมาช้านานแต่ครั้งบรรพบุรุษ ขณะที่ทางราชการบอกว่าที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยนั้นเป็นที่ดินที่ทางทหารเตรียมจะใช้ประโยชน์  ปัจจุบันเป็นที่ดินราชพัสดุ  ดูแลโดยกรมธนารักษ์  ทำให้ชาวบ้านที่เคยมีเอกสารครอบครองที่ดิน ส..1 และ นส 3 .มาก่อนไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  ต้องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์

 

พิสิษฐ์  ตาจา  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านสันกลาง บอกว่า บ้านสันกลางมีประชากรประมาณ 400 คน  ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำสวนกาแฟ สวนเมี่ยง  ทำนา ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  ข้าราชการ  และรับจ้างทั่วไป  อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมานานนับร้อยปี  โดยมีหลักฐานต่างๆ เช่น  เป็นชุมชนที่บรรพบุรุษมีหน้าที่ดูแลพระธาตุช่อแฮต่อเนื่องยาวนานหลายร้อยปี  เมื่อมีการใช้นามสกุลในสมัยรัชกาลที่ 6  (...ขนานนามสกุล .. 2455) จึงมีชาวบ้านสันกลางตั้งนามสกุลเพื่อบอกรากเหง้าของตัวเอง  เช่น  นามสกุล กาธาตุ มีความหมายถึง ตราประทับ (พระธาตุ)’  หรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลพระธาตุสืบต่อกันมา

 

“ช่วงปี 2551  แกนนำในตำบลป่าแดงได้ทำการสำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน  ได้สัมภาษณ์ พ่อสาย  กาธาตุ’  ได้ข้อมูลว่า  ตอนนั้นพ่อสายมีอายุ 84 ปี  เกิดในปี 2467 สมัยรัชกาลที่ ต้นตระกูลของพ่อสายเป็นผู้ดูแลพระธาตุช่อแฮสืบต่อกันมาช้านาน เมื่อทางราชการให้ประชาชนใช้นามสกุล  ครอบครัวของแกจึงตั้งนามสกุลตามนั้น  ตอนนี้พ่อสายเสียชีวิตไปแล้ว  แต่ยังมีลูกหลานใช้นามสกุลนี้อยู่ พิสิษฐ์บอกถึงรากเหง้าของคนในตำบล 

 

พ่อสาย  กาธาตุ 

 

พ่อสาย   กาธาตุ  เป็นบุตรชายของผู้ดูแลพระธาตุช่อแฮในอดีต  (ปัจจุบันพ่อสายเสียชีวิตแล้ว)  จากข้อมูลที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านสันกลางบันทึกเอาไว้ในปี 2551  พ่อสายบอกว่า   บ้านสันกลางแห่งนี้ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  เป็นคอกวัว  คอกควาย  ที่ทำสวน  ทำนาของชาวบ้านใน (เมื่อก่อนชื่อ ‘บ้านใน’ ก่อนแยกมาเป็นบ้านสันกลาง)

 

พื้นที่ส่วนใหญ่ด้านทิศตะวันออกเป็นป่าแพะที่มีต้นไม้สูงใหญ่    และที่ทำกินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกถั่วลิสง  ถั่วเขียว  ข้าวไร่  และข้าวนาปีมาตั้งแต่สมัยบูรณะพระธาตุ    พื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านช่วยกันทำฝายกั้นลำน้ำแม่สาย  เพื่อผันน้ำเข้านาและแปลงเกษตรกรรมของตน  ในสมัยนั้นไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ

 

พ่อสาย  กาธาตุ  บอกด้วยว่า  ต้นมะขามยักษ์ที่อยู่ในหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พร. 19  (ช่อแฮ)  เป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันมาแต่อดีต    มะขามต้นนี้ชาวบ้านเก็บฝักแบ่งปันกันทั่วหมู่บ้าน   มีความใหญ่ขนาด  3 คนโอบทีเดียว  มะขามต้นนี้ถือเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่า  ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนที่ทางราชการจะประกาศเป็นเขตป่าและที่ดินราชพัสดุ

 

พ่อสายกับต้นมะขามยักษ์

 

สัมปทานป่าไม้และการถ่ายหนัง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ในประเทศไทยเริ่มปี 2484-2488 ) รัฐบาลในขณะนั้นเปิดสัมปทานทำไม้สักในจังหวัดแพร่  บริษัทอีสต์เอเซียติค  จากประเทศเดนมาร์กได้สัมปทานบริเวณพื้นที่ป่าลุ่มน้ำแม่ก๋อนและแม่สาย  ตำบลป่าแดง (บ้านสันกลางตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ) โดยใช้วิธีการตัดไม้สักในป่า  แล้วใช้ช้างชักลากไม้ซุงออกมากองรวมกันที่ปางไม้ที่ตั้งอยู่ใกล้พระธาตุช่อแฮ (ปัจจุบันคือที่ทำการเทศบาลตำบลช่อแฮ)

 

 บริษัทอีสต์เอเซียติค  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาสัมปทานป่าไม้ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

 

จากนั้นจะใช้รถรางลากซุงไปลงแม่น้ำยมที่ไหลผ่านเมืองแพร่ (ห่างจากปางไม้ประมาณ 10 กิโลเมตร) แล้วล่องซุงไปตามแม่น้ำยมจนถึงปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์  ซึ่งเป็นชุมทางค้าไม้  ไม้ซุงที่ส่งออกไปต่างประเทศจะล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพฯ  และนำซุงขึ้นที่โกดัง-โรงเลื่อยของบริษัทอีสต์เอเซียติคริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเจริญกรุง

 

การทำไม้สักในลุ่มน้ำแม่ก๋อน-แม่สายนี้  บริษัทอีสต์เอเซียติคได้ว่าจ้างให้พ่อเลี้ยงเมืองแพร่ชื่อ เจ้าโว้ง’  หรือ เจ้าวงศ์  แสนศิริพันธุ์ที่มีช้างประมาณ 200 เชือกนำช้างมาลากซุง  ช้างจำนวนมากของเจ้าโว้ง  หลังเสร็จภารกิจลากไม้ทุกวัน  ควาญช้างจะพามารวมกันที่ฝายของชาวบ้านเพื่อผักผ่อน  กินน้ำ  และอาบน้ำ  ต่อมาชาวบ้านเรียกฝายแห่งนี้ว่า  “ฝายท่าช้าง” 

การล่องไม้ซุงในแม่น้ำ

 

เจ้าโว้ง มีเชื้อสายเป็นทายาทของเจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่  เรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ  กรุงเทพฯ  เคยทำงานกับบริษัทอีสต์เอเซียติคที่ได้รับสัมปทานทำไม้สักในภาคเหนือ ก่อนจะลาออกมาทำไม้สักเอง มีช้างมากมาย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475  มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2476  เจ้าโว้งลงสมัครรับเลือกตั้ง  และได้เป็น ส.ส.คนแรกของจังหวัดแพร่  มีความสนิทสนมรู้จักกับปรีดี พนมยงค์มาก่อน   

 

เมื่อปรีดีสร้างหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกในปี 2483  เจ้าโว้งได้นำช้างและควาญช้างเข้าร่วมแสดงด้วย  และได้รับเกียรติให้ขึ้นไตเติลร่วมกับทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็น ‘Master of The Elephants’ หรือ ‘ผู้กำกับโขลงช้าง’

 

ร่องรอยประวัติศาสตร์

พระธาตุช่อแฮ เดิมขึ้นกับตำบลป่าแดง  ต่อมาในปี 2510 จึงจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลช่อแฮ  และในปี 2542 ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลช่อแฮ พระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงประวัติของพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.. 1879-1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังเป็นพระมหาอุปราช  ครองเมืองศรีสัชนาลัย  พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่าง ๆ รวมทั้งพระธาตุช่อแฮที่เมืองแพร่ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัยด้วย

 

หากนับยึดตามหลักฐานดังกล่าว  พระธาตุช่อแฮจะมีอายุการสร้างจนถึงปัจจุบันประมาณ 700 ปี ซึ่งตามธรรมเนียมแต่โบราณเจ้าผู้ครองนครจะมอบหมายให้มีผู้ดูแลและทำนุบำรุงพระธาตุ อาจจะเป็นภิกษุสงฆ์ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พระธาตุ  หรืออาจจะเกณฑ์ชาวบ้านจากถิ่นอื่นมาดูแล  โดยมอบที่ดินให้ทำนา ทำไร่  แล้วเอาผลผลิตมาถวายบำรุงพระธาตุ  ดังเช่น  ตระกูลของพ่อสาย  กาธาตุ  ที่ดูแลพระธาตุสืบเนื่องมาหลายชั่วคน  แต่ปัจจุบันผู้ดูแลพระธาตุช่อแฮ (รวมทั้งศาสนาสถานอื่นๆ ) จะเป็นคณะกรรมการที่ทางวัดหรือท้องถิ่นแต่งตั้งขึ้นมา

 

พระธาตุช่อแฮ

 

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันชาวบ้านในตำบลป่าแดง  ช่อแฮและใกล้เคียง  ยังมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุช่อแฮ เช่น ‘ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าพ่อหลวง’ ที่จะมาประทับทรงในวันขึ้น  9 ค่ำ  เดือน  4 ไทย หรือเดือน 6 ของภาคเหนือของทุกปี  หรือก่อนวันนมัสการพระธาตุช่อแฮ  เป็นงานสำคัญที่ชาวบ้านทุกครอบครัวจะต้องไปร่วมเลี้ยงผีเจ้าพ่อหลวง  โดยชาวบ้านจะช่วยกันออกเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำเครื่องเซ่นสังเวย  เช่น หมู 1 ตัว   ถือเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน   และการเลี้ยงผี ‘เจ้าพ่อช้างผาด่าน’  ในวันแรม 11 ค่ำ เดือน  9  ของภาคเหนือของทุกปี   ฯลฯ

 

ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว  จึงเป็นสิ่งบ่งบอกและยืนยันได้ว่า  ชาวบ้านบ้านสันกลาง  ตำบลป่าแดง  รวมทั้งในเขตเทศบาลตำบลช่อแฮอยู่อาศัยและทำกินกันมาช้านาน  แต่ปรากฏว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ  ทำให้ชาวบ้านมีความไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย

 

เงื่อนงำของปัญหาที่ดินและหลักฐานจาก ‘พระเจ้าช้างเผือก’  

นอกจากข้อมูลจากปากคำของ พ่อสาย  กาธาตุ  ที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านสันกลางได้บันทึกข้อมูลไปแล้วนั้น  ยังมีข้อมูลปัญหาที่ดินจาก ‘แม่ปิ๋ว  ปลาลาศ’ ที่คณะกรรมการได้พูดคุยและบันทึกเอาไว้ในปี 2551 ตอนนั้นแม่ปิ๋วอายุ  86 ปี  (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

 

แม่ปิ๋ว บอกในบันทึกว่า  ชาวบ้านสันกลางอยู่อย่างสงบและสะดวกสบายไม่ขาดแคลน  เป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์  แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อทางการมาบอกว่าจะออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน  ชาวบ้านรู้สึกดีใจที่จะได้เป็นเจ้าของที่ดินอย่างชอบธรรม  แต่ไม่เป็นเช่นนั้น    ประมาณปี 2528  มีสัสดีอำเภอเป็นทหารชื่อ.......มาหลอกชาวบ้านว่าจะออกโฉนดให้  โดยทำการเก็บ  ส.ค. 1 จากชาวบ้านไป  ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านเห็นว่าเป็นราชการจึงยอมให้  แต่แม่ปิ๋วไม่ไว้ใจ  จึงไม่ได้ส่ง ส.ค. 1 ให้กับนายทหารผู้นั้นไป  

 

แม่ปิ๋ว  ปลาลาส

 

ต่อมาชาวบ้านทวงถามสัสดีรายนั้นเรื่องการออกโฉนดที่ดิน     สัสดีบอกว่า “ออกโฉนดไม่ได้  บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินทหาร”   ชาวบ้านต่างไม่พอใจจึงขอดูหลักฐาน    ซึ่งสัสดีได้นำหลักฐานมาให้ดูเป็นที่ดิน ‘น.ส.ล.’ (หนังสือสำคัญที่หลวง) ออกเมื่อปี  2496  ก่อนกรมที่ดินออก ส.ค. 1 ให้ชาวบ้านในปี 2498  โดยอ้างการครอบครองมาตั้งแต่ปี  2484  เนื้อที่ประมาณ 320 ไร่  โดยทหารจะใช้เป็นสถานที่สำหรับฝึกรบ

 

พิสิษฐ์  ตาจา  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านสันกลาง  บอกว่า   ตนมีหลักฐานว่าชาวบ้านสันกลางเข้าใช้ประโยชน์และทำกิน  โดยทำนามาก่อนทหารจะอ้างการครอบครอง  เพราะหากดูหลักฐานจากหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกที่ถ่ายทำในปี 2483 บริเวณบ้านสันกลางที่มี ‘ดอยช้างผาด่าน’ เป็นฉากหลัง  จะเห็นตอนที่ทหารหงสาบุกเข้ามาจะโจมตีเมืองอโยธยานั้น  มีฉากเป็นทุ่งนา  มองเห็นคันนาได้อย่างชัดเจน (ประมาณนาทีที่ 43-44) รวมทั้งสถานที่ที่ใช้เป็นฉากสู้รบ  ทั้งไพล่พล  ช้าง ม้านั้นเป็นที่นาปลูกข้าว  เพราะเห็นคันนาชัดเจนในหลายฉาก  แสดงว่าชาวบ้านได้เข้าครอบครอง  ทำกิน  ทำนา  ปลูกข้าวมาก่อนปี 2483 แล้ว  ก่อนที่ทหารจะอ้างการครอบครองในปี 2484

 

ภาพจากหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือก  ทหารหงสากำลังบุกเข้าเมืองอโยธยา  เห็นทุ่งนาและคันนาได้ชัดเจน  (ภาพจากหอภาพยนตร์)

 

“ชาวบ้านรู้ข่าวว่าทหารจะเอาพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่นี้เป็นที่สำหรับฝึกซ้อมรบ  เพราะต่อมาก็เคยมีทหารมาใช้เป็นที่ซ้อมยิงเป้า  โดยยิงไปทางดอยช้างผาด่าน  ผมคิดว่าที่ทหารเลือกพื้นที่นี้  เพราะพื้นที่รอบๆ บ้านสันกลางยังมีสภาพสมบูรณ์  มีทั้งพื้นที่ราบ  ป่า  เขา  มีแม่น้ำ 2 สาย  มีฝายเก็บน้ำ  และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี  เพราะมีเส้นทางไปชายแดนลาวผ่านจังหวัดน่าน  และไปทางจังหวัดอุตรดิตถ์จนถึงชายแดนลาวก็ไม่ไกลมาก”  พิสิษฐ์บอก

 

ต่อมาทหารได้ยกเลิกไม่ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้  ที่ดินบ้านสันกลางประมาณ 320 ไร่จึงตกเป็นที่ดินราชพัสดุ  โดยกรมธนารักษ์ดูแล  ส่วนสาเหตุที่ทหารยกเลิกการใช้ที่ดินนั้น  อาจจะเนื่องมาจากสถานการณ์สงครามรอบๆ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคเหนือถูกตีแตกและมอบตัวตั้งแต่ปี 2524-2525   ส่วนลาวเริ่มเปิดประเทศ (ประมาณปี 2532) ไทยก็เริ่มค้าขายกับลาว  และมีการตัดถนนจากน่านไปชายแดนลาวที่บ้านห้วยโก๋น 

 

อย่างไรก็ตาม  ในปี 2535 นายธวัช  รอดพร้อม   ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในขณะนั้น  มีคำสั่งเพิกถอน ส..1 และ    ..3 ของชาวบ้านทั้งหมด  รวม 20 แปลง  โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลมาก่อน  แม้แต่นายสถิตย์  มุ้งทอง  กำนันบลป่าแดงในสมัยนั้นก็ยังยืนยันว่าไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเลย  เพราะไม่มีการปิดประกาศที่หมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านไปคัดค้าน  แต่ทางจังหวัดอ้างว่ามีการติดประกาศแล้วที่ว่าการอำเภอเมือง  เมื่อชาวบ้านไม่คัดค้านจึงเป็นการเสียสิทธิเอง

 

ประมาณปี 2540  ธนารักษ์จังหวัดแพร่   มีหนังสือให้ชาวบ้านทุกครอบครัวในหมู่บ้านสันกลาง ประมาณ80 ครอบครัว (ไม่รวมหมู่บ้านอื่นและตำบลใกล้เคียง) ไปทำสัญญาเช่าที่ดินที่พวกเขาอยู่อาศัยและทำกินมานานเพื่อเก็บเงินค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ 

 

เส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านสันกลาง           

นับจากชาวบ้านรู้ข่าวว่าที่ดินที่อยู่อาศัยและทำกินมาแต่เนิ่นนานเป็นที่ราชพัสดุ  และต้องไปทำสัญญาเช่าที่ดินกับธนารักษ์จังหวัดตั้งแต่ปี 2540  แต่ชาวบ้านสันกลางถือว่าพวกตนอยู่อาศัยกันมานานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจึงเพิกเฉย  และเริ่มเรียกร้องความเป็นธรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  แต่ไม่เป็นผล 

 

จนถึงปี 2548 กรมธนารักษ์มีนโยบายจัดเก็บค่าเช่าที่ดินอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ  ชาวบ้านสันกลางก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวด้วย  จึงได้เริ่มรวมตัวกันในปีนั้น  โดยมีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านสันกลาง’ ขึ้นมา จำนวน 9 คน  โดยมีนายคฑาวุธ   กุนัน  กำนันตำบลป่าแดง  เป็นประธานกรรมการ  มีการร้องเรียนต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่  และชาวบ้านได้รวมตัวกันประท้วงธนารักษ์จังหวัดแพร่หลายครั้งในช่วงปี 2548-2549

 

ต่อมาธนารักษ์จังหวัดแพร่ได้ยื่นฟ้องต่ออัยการจังหวัด  ให้อัยการบังคับชาวบ้านสันกลางจ่ายเงินค่าเช่าที่ดินที่ค้างภายใน 15 วัน   หากฝ่าฝืนจะมีการฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่  ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในขณะนั้น (กันยายน  2549) คือนายอธิคม  สุพรรณพงศ์  ต่อมาทา ผู้ว่าราชการจังหวัดหวัดแพร่ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินบ้านสันกลางหมู่  9 ตำบลป่าแดง  โดยมีปลัดจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน

 

คณะกรรมการมีการประชุมครั้งแรกในวันที่  21 กันยายน  2549 ที่ห้องประชุม  ศาลากลางจังหวัดแพร่  โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุม   โดยที่ประชุมมีมติให้มีการยุติการทำสัญญาเช่าที่ดินและชำระค่าเช่าที่ดินทั้งหมดไว้ก่อน   โดยให้โอกาสชาวบ้านรวบรวมหลักฐานไปฟ้องศาลเอาเอง

 

มติที่ประชุมทำเอาชาวบ้านมืด 8 ด้าน  เพราะหลักฐานการครอบครองที่ดิน  เช่น  ส.ค.1 และ น.ส.3 ถูกเจ้าหน้าที่เก็บไปทำลายตั้งแต่ราวปี 2528 โดยอ้างว่าจะเอาไปออกโฉนด ?

 

อย่างไรก็ตาม  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านสันกลางได้รวบรวมหลักฐานที่จะพอมี  เช่น  บันทึกข้อมูลการเข้าอยู่อาศัยและทำกินจากคนเฒ่าคนแก่ในปี 2551  เช่น  พ่อสาย  กาธาตุ, แม่ปิ๋ว  ปลาลาส  ต้นมะขามยักษ์   ประเพณี  วัฒนธรรม  การไหว้ ‘ผีหลวง’, ‘เจ้าพ่อช้างผาด่าน’  การสำรวจรังวัดที่ดินที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  ป่าชุมชน  ฝายท่าช้าง  ฯลฯ  เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันสิทธิของชุมชน

 

ชาวบ้านสำรวจที่ดินที่อยู่อาศัย

 

จากการสำรวจข้อมูลที่ดินพบว่า  บ้านสันกลางมีจำนวนครอบครัวทั้งหมด 211 ครัวเรือน  มีที่ดินรวมกัน 265  แปลง  เนื้อที่รวมกัน 219 ไร่เศษ (เฉลี่ยครอบครัวละ 1 ไร่)  ที่ดินใช้ประโยชน์ร่วมกัน 3 แปลง  เนื้อที่ 15 ไร่เศษ  ป่าชุมชน 1 แห่ง  เนื้อที่ 1,867 ไร่เศษ

 

ใช้แนวทางโฉนดชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดิน

พิสิษฐ์  ตาจา  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินบ้านสันกลาง  บอกว่า  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  แกนนำชาวบ้านสันกลางได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาร่วมกับพี่น้องเครือข่ายต่างๆ ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย  เช่น  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และร่วมผลักดันเรื่อง ‘พ.ร.บ.โฉนดชุมชน’ มาตั้งแต่ปี 2553   

 

พิสิษฐ์ ตาจา ชี้ให้เห็นฝายท่าช้างซึ่งในอดีตควาญช้างจะพาช้างมาอาบน้ำและพักผ่อนที่นี่

 

โดยจะใช้แนวทางโฉนดชุมชนในการแก้ไขปัญหาที่ดิน  โดยมีหลักการสำคัญ  คือ ชุมชนเป็นเจ้าของที่ดินและบริหารจัดการร่วมกัน  เป็นการรับรองสิทธิของชุมชมชน  เพื่อให้ชุมชนมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ลดความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ   นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการขายสิทธิ์ให้นายทุนหรือบุคคลภายนอก  เป็นการรักษาผืนดินให้ลูกหลาน  สืบทอดมรดกของบรรพบุรุษ  มีการดูแลสิ่งแวดล้อม   การปลูกไม้ยืนต้นในแปลงที่ดิน  ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

 

เขาบอกด้วยว่า  ขณะนี้ พ.ร.บ.โฉนดชุมชนยังอยู่ในระหว่างการร่าง  ดังนั้นชาวบ้านสันกลางจึงต้องยอมดำเนินการตามแนวทางของกรมธนารักษ์ก่อน  โดยการเช่าที่ดินอย่างถูกต้องในอัตราผ่อนปรน  (ที่อยู่อาศัยตารางวาละ 25 สตางค์ต่อเดือน  ที่ดินเกษตรกรรมไร่ละ 200 บาทต่อปี) โดยกรมธนารักษ์จะมารังวัดที่ดินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้  ขณะที่ชาวบ้าน 80 ครอบครัวจะรวมตัวกันขอเช่าที่ดินในนาม ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโฉนดชุมชนบ้านสันกลาง’ 

 

“ต่อไปหากมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับโฉนดชุมชนออกมาใช้  ชาวบ้านสันกลางก็พร้อมที่จะใช้ พ.ร.บ.นี้เพื่อรักษาสิทธิของชุมชน  คือต่อสู้เพื่อรักษาผืนดินที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษให้ครอบครัวและลูกหลานได้อยู่อาศัยต่อไปอย่างมั่นคง  โดยเรามีหลักฐานการอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นที่ดินราชพัสดุ  รวมทั้งหลักฐานจากหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกด้วย”  พิสิษฐ์บอกทิ้งท้าย

 

 ฉากหนึ่งของหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือก (ภาพจากหอภาพยนตร์)

 

...บัดนี้เวลาผ่านไป 80 ปีแล้ว  ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกยังเป็นอมตะ  ยังมีผู้ชมติดตามดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในYoutube หลายหมื่นครั้ง  ขณะเดียวกันสงครามชีวิตของชาวบ้านสันกลางก็ยังไม่จบ  พวกเขายังต่อสู้กับปัญหาเรื่องที่ดินราชพัสดุทับที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างไม่ลดละ.....


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"