สารจาก'ไตรรงค์'ถึงคนรุ่นใหม่ คิดจะพลิกฟ้าพลิกดินควรประเมินฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย อาจมากกว่า 60 ล้านคน


เพิ่มเพื่อน    

4 พ.ค.64-ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกบทความเรื่อง จักรบหรือฮู้ว่าสิ่งใดนั้นจา ผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ 
.
*ผู้ใดอ่านจบรับรองว่าจะทราบความหมายประโยคนี้แน่นอน
.
**ถ้าเขียนสั้นผู้อ่านก็จะไม่ได้ความรู้ แต่จะเขียนยาวได้ครั้งหนึ่งผมต้องอ่านและศึกษาเยอะมาก เพราะฉะนั้นบทความนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย(สำหรับช่วงนี้)  หลังจากบทความฉบับนี้ ผมคงจะหยุดเขียนไปอีกนาน จนกว่าจะได้เนื้อหาเพียงพอมาเขียนบทความได้ใหม่ ขอให้อดทนอ่านบทความยาว ๆ ของผมฉบับนี้หน่อยแล้วกันนะครับ
.
#1 #คำนำ
.
ในบทความครั้งหลังสุดใน Facebook ของผม เรื่อง “กว่าจะได้เป็นประเทศไทย : ให้ระวังการรุกเงียบ” นั้น ใจจริงอยากเรียกว่า สยามประเทศหรือประเทศสยามมากกว่า มี FC หลายคนได้ต่อว่ากลับมาว่าทำไมไม่พูดถึงบทบาทของคนปักษ์ใต้ในการก่อตั้งสยามประเทศบ้าง ซึ่งยอมรับว่าเป็นความตั้งใจเพราะถ้าเขียนเรื่องปักษ์ใต้ด้วยก็จะทำให้บทความยาวเกินไป แค่ที่ทำไปก็รู้สึกว่ายาวอยู่แล้วจึงตั้งใจจะเขียนแยกต่างหาก เพราะเรื่องของปักษ์ใต้ในประวัติศาสตร์มีข้อมูลมากกว่าภาคอื่น ๆ นั้นเอง   แต่ต้องเตือนใจและเตือนสติผู้อ่านให้กรุณารับรู้ไว้ด้วยว่าการศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์ของชาติใดหรือเผ่าใด ๆ นั้น ถ้าชาตินั้นหรือเผ่านั้นมี #ภาษาเขียน เป็นของตนเองอยู่แล้วเหมือนอย่างประเทศจีน ซึ่งมีเขียนบันทึกไว้บนไม้ไผ่บ้าง บนหินบ้าง หรือบนวัสดุอื่น ๆ  ที่ย่อยสลายยากก็สามารถจะนำมาแกะหาความหมายโดยนักภาษาศาสตร์และนักโบราณคดีจนสามารถอธิบายความเป็นมา ปรากฏการณ์ วัน เวลา พ.ศ. หรือ ค.ศ. และชื่อบุคคลรวมทั้งสถานที่ได้อย่างแม่นยำกว่า
.
ถ้าใครพอจะมีเวลากรุณาไปขออ่านประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปถึงประมาณ 5,000 ปี (คือ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) เกี่ยวกับประเทศจีนได้ในหนังสือชื่อ “The Unbroken Chain : State Wu in Ancient China and in Siam (Thailand) : ร่วมกันเขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดย ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี กับ ศาสตราจารย์ Wu Ben-Li, ที่พิมพ์เมื่อ August 2014 (มีให้ยืมอ่านที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และห้องสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.) จากหน้า 27 ถึงหน้า 30 ผู้อ่านจะเห็นตัวอย่างอย่างชัดเจนว่า พวกเผ่าวู (Wu Tribe) ได้อพยพจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
.
เริ่มแรกได้รับอนุญาตให้ตั้งเมืองอยู่ในราชอาณาจักรของราชวงศ์เซีย (Xia Dynasty) ได้ในปีประมาณ 1796 B.C. (ก่อนคริสตกาล) แต่เมื่อมีปัญหาขัดแย้งกับพระจักรพรรดิ (หรือฮ่องเต้) จึงถูกไล่ออกจากราชอาณาจักรต้องเร่ร่อนลงใต้กว่าจะหาที่อยู่ใหม่ได้เพื่อสร้างบ้านเมืองใหม่ได้ขึ้นมาอีกก็ต้องใช้เวลาเร่ร่อนอยู่เกือบ 100 ปี และเมื่อลงหลักปักฐานในที่ดินที่เห็นว่าสมบูรณ์พอจะทำการเกษตรเลี้ยงชีพของเผ่าได้ก็ต้องรอจนมีประชากรเพิ่มขึ้นให้มากพอจึงจะตั้งเป็นเมืองได้
.
อนึ่งในประเทศจีนโบราณนั้นจะประกอบไปด้วยชนเผ่าต่าง ๆ  จำนวนมาก ถ้าเผ่าไหนพบพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ชนเผ่าอื่น ๆ ที่เล็กกว่าก็จะค่อย ๆ  ทยอยมาขออาศัยร่วมด้วย แต่ชนเผ่าที่เล็กกว่าทุก ๆ เผ่าก็จะเลือกภาษาพูดของชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุด (ที่เป็นผู้ปกครอง) เป็นภาษากลางในการสื่อสารกันและกัน จนเมื่อมีประชากรมากขึ้นก็จะกลายเป็นเมือง หลาย ๆ  เมืองรวมกันก็จะเป็นอาณาจักร
.
สิ่งที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มเผ่าวูหรือ Wu Tribe (ซึ่งคำว่าวูหรือ Wu นั้นเป็นชื่อของภูเขาที่ชนกลุ่มนี้เคยอาศัยมาก่อน) ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกับการเกิดอาณาจักรน่านเจ้าของเผ่าไต ซึ่งชนเผ่ากลุ่มเล็ก ๆ  อื่น ๆ  ที่ขอเข้ามาอยู่ด้วยก็เลือกจะใช้ภาษาไตเป็นภาษากลางใช้พูดติดต่อกันและกัน ซึ่งเมืองใหม่ของเผ่าวูนี้ชื่อว่าเมืองบิน (BIN COUNTRY) แต่ก็ตั้งมั่นอยู่ได้เพียงประมาณ 300 ปี ก็ถูกชนเผ่าอื่นที่ใหญ่กว่าแข็งแรงกว่าร่วมกันแย่งที่ทำกินจนต้องทิ้งเมืองเร่ร่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนสามารถตั้งเมืองใหม่ได้อีก เรียกว่าเมืองโจวหยวน (Zhou Yuan) ในปี 1046 B.C. (ก่อนคริสตกาล) ต่อมาเมืองนี้ก็ได้พัฒนาขึ้นเติบโตจนเป็นแคว้นชื่อ ส่านซี (SHAAN XI) ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ ซีอาน จนถึงปัจจุบัน
.
มีความเห็นทางวิชาการอยู่ชิ้นหนึ่งที่ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งก็คืองานเขียนของท่านศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม (ในบทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2547) ซึ่งท่านได้กล่าวโดยสรุปมีใจความว่า
.
“การเกิดเป็นสยามประเทศ (ที่ถูกจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเปลี่ยนชื่อให้เป็นประเทศไทย - ไตรรงค์) ก็เกิดขึ้นจากรูปแบบเดียวกัน คือ เป็นประเทศที่มีชนหลายเผ่าพันธุ์มารวมกัน หลอมรวมวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เลือกใช้ภาษาของผู้นำเป็นภาษากลาง เช่น ยุคอาณาจักรทวารวดี ชนทุกเผ่าที่อาศัยอยู่ก็เลือกใช้ภาษามอญเป็นภาษากลาง ยุคอาณาจักรขอม (ผมขอเขียนเพิ่มเติมว่า คำว่าขอมใช้เรียกพวกมอญที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ปกติพวกเขาเรียกตัวเองว่า “เขมร” - ไตรรงค์) ชนทุกเผ่าที่อาศัยอยู่ก็เลือกใช้ภาษาเขมร (หรือภาษาขอม) เป็นภาษากลาง มาถึงยุคอาณาจักรสุโขทัย ชนทุกเผ่าที่อยู่ในอาณาจักรตั้งแต่เหนือสุดจนถึงใต้สุด ชนทุกเผ่าก็เลือกใช้ภาษาไตเป็นภาษาพูดและเลือกใช้ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงฯเป็นภาษากลางที่ใช้ในการติดต่อกันและกัน (ผมขอเสริมอีกนิดนะครับว่า ภาษาพูดภายในเผ่าแต่ละเผ่าก็อาจจะแตกต่างกันไปนะครับ - ไตรรงค์)”
.
#2 #ปัญหาการค้นหาประวัติศาสตร์
.
สำหรับประเทศไทยที่เพิ่งมีภาษาเขียนเป็นของตนเองโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 1826 นั้น ถ้าเราอยากรู้ประวัติศาสตร์ของชาติเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านั้น เราก็จำเป็นต้องพึ่งบันทึก จดหมายเหตุ หรือพงศาวดารของชาวต่างประเทศที่มาติดต่อค้าขายกับสยามประเทศโดยพวกเขาเหล่านั้นได้บันทึกไว้เป็นภาษาเขียนของพวกเขาเอง (จะพึ่งในบุราณจีของไทยอาหมไม่ได้ เพราะภาษาไทยอาหมถูกประดิษฐ์ขึ้นมาหลังลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงฯ - ไตรรงค์)
.
ผมจึงรู้สึก #ซาบซึ้งในความพยายามและอดทนของนักประวัติศาสตร์ไทย (ทั้งด้านโบราณคดีและภาษาศาสตร์) เป็นอย่างมากที่พยายามเก็บรวบรวมนำมาปะติดปะต่อจากหลักฐานที่มาจากต่างประเทศหลายชาติหลายภาษา บวกกับตำนานที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษ ทำให้พวกเราซึ่งเป็นชนรุ่นหลังยังพอจะเห็นภาพลาง ๆ  ของประวัติศาสตร์ของชนชาติที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศไทยที่เราได้อาศัยหายใจอยู่ในปัจจุบัน อย่างน้อยก็ทำให้มั่นใจว่าอาณาจักรน่านเจ้านั้นมีจริง ๆ ขุนบรมราชาธิราชก็มีจริง)
.
#3 #ลายสือไทยกับอาณาจักรสยาม
.
3.1) ขอเริ่มจากหนังสือเรื่อง “ลักษณะอักษรและอักษรวิธีในจารึกสุโขทัย” (เขียนโดยอนันต์ ทรงวิทยา, ค.ศ. 1981, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.) ซึ่งในบทคัดย่อมีคำอธิบายพอจะจับใจความสำคัญได้ว่า:- “หลังจากได้มีการศึกษาเปรียบเทียบตัวอักษรที่ประดิษฐ์โดยพ่อขุนรามคำแหง อักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ กับอักษรปัลลวะสมัยทวารวดี พบว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก กล่าวคือ
.
ก) ตัวอักษรในจารึกสุโขทัยมีลักษณะคล้ายตัวอักษรขอมและอักษรมอญโบราณ ซึ่งทั้งขอมและมอญล้วนพัฒนาตัวอักษรของตนมาจากอักษรปัลลวะสมัยทวารวดีทั้งสิ้น (หมายเหตุ : ราชวงศ์ปัลลวะเริ่มมีอำนาจปกครองพวกทมิฬทางใต้ของอินเดียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 - 4 แต่พอถึงศตวรรษที่ 9 ราชวงศ์โจฬะก็ขึ้นมามีอำนาจแทน พวกโจฬะใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาพูด - ไตรรงค์ฯ)
.
ข) อักษรไทยที่คิดขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหงฯ ให้เขียนสระและพยัญชนะเรียงอยู่บนบรรทัดเดียวกัน เพิ่งมาปฏิรูปในสมัยพระเจ้าเลอไทย ให้เขียนสระไว้รอบตัวพยัญชนะอย่างที่เราเขียนกันอยู่ในปัจจุบัน
.
3.2) คริสต์ศักราชที่ 3 - 4 เป็นต้นไป จนถึงคริสต์ศักราชที่ 9 ราชวงศ์ปัลลวะมีอำนาจสูงทำการค้าขายกับประเทศทางเอเชีย โดยศูนย์กลางเมืองท่าในการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่เมืองมามัลละปุรัม ภาษาและวัฒนธรรมของปัลลวะจึงแพร่เข้าสู่สุวรรณภูมิมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว (ซึ่งน่าจะเป็นประมาณ พ.ศ. 700 กว่า ๆ ) ต่อมาราชวงศ์โจฬะขึ้นมามีอำนาจแทน (คงจะเป็นประมาณ พ.ศ. 1300 กว่า ๆ ) พวกโจฬะจึงกลายเป็นผู้นำทำการค้าทางทะเลกับประเทศภาคตะวันออกของอินเดีย พวกโจฬะคงใช้ภาษาทมิฬในการพูด แต่ในการเขียนระยะหลัง ๆ  พวกโจฬะก็ต้องใช้ภาษาปัลลวะและการค้าขายก็ขยายไปทั่วทั้งแหลมมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ  ในอินโดนีเซีย โดยประชาชนใช้ภาษามาเลย์ในการพูด ส่วนในภาษาเขียนนั้น พวกโจฬะมีส่วนสำคัญในการนำตัวอักษรปัลลวะออกไปเผยแพร่ตามเส้นทางการค้าของตน (กรุณาอ่านประกอบในรายละเอียดจากหนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย เขียนโดย ดร.ธิดา สาระยา, 2554 หน้า 28 - 68) เขียนคำนำโดยศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม) และพวกโจฬะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงรัฐเล็กรัฐน้อยบนเส้นทางการค้าผ่านช่องแคบ  ซุนดาและมะละกา กลายเป็นอาณาจักรศรีวิชัยระหว่างศริสต์ศตวรรษที่ 7 - 13 (หรือประมาณ พ.ศ. 1100 - 1800 โดยประมาณ)
.
#4 #บทบาทของปักษ์ใต้ 
.
กรุณาอ่านหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย เขียนโดยนายธรรมทาส พานิช
.
พ.ศ. 1290 – 1325 : เมื่อพระเจ้าอินทรบรมเทวะสวรรคตพระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระวิษณุมหาราช” ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ของเมืองสุวรรณปุระ (อ.ไชยา สุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน) พระองค์เป็นนักรบที่มีชื่อเสียงมาก นอกจากยกทัพจากปักษ์ใต้ไปปราบอาณาจักรเจนละ (เขมร) มาเป็นเมืองขึ้นได้แล้วย่อมมีการเทครัวกวาดประชากรมาไว้ที่ปักษ์ใต้ตามประเพณี) ยังยกทัพไปปราบพระเจ้าสัญชัยผู้เป็นใหญ่ในชะวา กลาง “พระเจ้าวิษณุมหาราช” จึงได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์แห่งกษัตริย์ เป็นผู้มีดำริสั่งให้สร้างเจดีย์ให้ใหญ่ที่สุดในโลก คือ พระเจดีย์บรมพุทธโธหรือ BOROBUDUR อาณาจักรศรีวิชัยก็มั่นคงมีเมืองหลวงสลับไปมาระหว่างเมืองปาเล็มปังในเกาะสุมาตรากับนครตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) และสุวรรณปุระ (อ.ไชยา)
.
พ.ศ. 1378 - 1413 : พระเจ้าปาลบุตรที่ 2 แห่งกรุงสุวรรณปุระ ประกาศเอกราชไม่ขึ้นกับ  ชะวาและสุมาตราอีกต่อไป ให้อาณาจักรศรีวิชัยจากแหลมมลายูจนถึงจังหวัดชุมพรเป็นอิสระมีเอกราช ได้ส่งราชทูตไปรายงานตัวกับพระเจ้ากรุงจีนให้รับทราบความเป็นเอกราชของตน (หมายเหตุ : พระเจ้าปาลบุตรที่ 2 เป็นหลานปู่ของพระเจ้าวิษณุมหาราช)
.
พ.ศ. 1587 - 1633 : (จากบันทึกของพงศาวดารจีน) เป็นรัชสมัยของพระเจ้าสมรวิชโยตุงก์มหาราช ใช้นครตามพรลิงค์เป็นเมืองหลวง มีเมืองขึ้นทั้งหมด 12 เมือง เรียกว่า เมือง 12 นักษัตร คือ เมืองสายบุรี ปัตตานี กลันตัน ปะหัง ไทรบุรี พัทลุง ตรัง ชุมพร บันทายสมอ(ไชยา) สงขลา ตะกั่วป่า และเมืองกระบุรี
.
พ.ศ. 1758 - 1779 : เป็นรัชสมัยของพระเจ้าจันทรภานุมหาราช ได้ยกทัพเรือจากตรัง ปะเหลียน พังงา และตะกั่วป่า ไปยึดเกาะลังกาที่เป็นเมืองขึ้นของพวกทมิฬโจฬะกลับคืนมาได้โดยอ้างสิทธิว่าพระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้ามาฆะกษัตริย์ลังกาที่มีพระมเหสีเป็นธิดาของกรุงสุวรรณปุระ ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระองค์
.
พ.ศ. 1900 – 1950 : เป็นรัชสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราชมหาราช เป็นยุคที่ไม่มีสงครามเลย
จึงเป็นยุคที่พระองค์ทำการฟื้นฟูพุทธศาสนา (สายเถรวาท) และเป็นยุคที่อาณาจักรศรีวิชัยของภาคใต้ทั้งหมดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามที่มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีไปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมิได้มีสงครามใด ๆ  กับสุโขทัยเป็นการเข้าร่วมอาณาจักรด้วยความสมัครใจและศรัทธาในพระปรีชาสามารถของพ่อขุนรามคำแหงฯโดยแท้ และความสัมพันธ์ของทั้งสองอาณาจักรมีความแน่นแฟ้นเพราะมีพุทธศาสนาสายเถรวาทเป็นตัวเชื่อม
.
#5 #พระภิกขุจิ้งฮง ได้บันทึกไว้ในคริสต์ศักราชที่ 12 (น่าจะประมาณ พ.ศ. 1600 กว่า ๆ ) ว่า “อาณาจักรทวารวดี (โถโลโปตี) มีความเจริญอยู่ถึง 200 ปี แต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1500 ถูกอำนาจของอาณาจักรขอมเข้ายึดครองและกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยจำนวนมาก”
.
ต่อมาเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของอาณาจักรขอมสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1761 อาณาจักรขอมเกิดแตกแยกแย่งอำนาจกัน กลายเป็นอาณาจักรอ่อนแอ มีหลักฐานหลายแห่งบันทึกไว้ว่า เมืองขึ้นต่าง ๆ  ก็ประกาศเอกราชกัน เช่น สุโขทัย ลพบุรี อู่ทอง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งเมืองเหล่านี้บางเมืองอาจจะเข้าสวามิภักดิ์ บางเมืองก็อาจต้องใช้กำลังบังคับในที่สุดทุกเมืองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และทุกเมืองก็ต้องใช้ลายสือไทยเป็นภาษาราชการ
.
#6 (จากหนังสือรวมการบรรยายเรื่อง #ตัวอักษรไทย หน้า 55) ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้บรรยายที่หอสมุดแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2510 มีความตอนหนึ่งว่า :-
.
“ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงฯ แพร่หลายเข้าไปในล้านนา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 62 วัดพระยืนว่า พระมหาสุมนเถระนำศาสนาพุทธนิกายรามัญวงศ์หรือลังกาวงศ์เก่าเข้าไปในล้านนาเมื่อ พ.ศ. 1912 และได้เขียนจารึกด้วยตัวหนังสือสุโขทัยไว้เมื่อ พ.ศ. 1914”.......“ต่อมาตัวหนังสือสุโขทัยนี้ได้เปลี่ยนรูปร่างและอักขรวิธีไปบ้าง กลายเป็นตัวหนังสือฝักขาม (คือมีการลากเส้นโค้งได้เหมือนฝักมะขาม - ไตรรงค์) และล้านนาก็ยังใช้ตัวหนังสือชนิดนี้จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์”
.
“เชียงตุงและเมืองใกล้เคียงในพม่ามีศิลาจารึกอักษรฝักมะขามซึ่งดัดแปลงไปจากลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงฯ อยู่กว่า 10 หลัก นอกจากนั้นยังมีจารึกที่เจดีย์อานันทะในพุกามที่เขียนด้วยตัวหนังสือสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1910 - 1940 อยู่หลักหนึ่งด้วย”
.
“ในประเทศลาวก็มีจารึกเขียนไว้ที่ผนังถ้ำ “นางอัน” (ใกล้หลวงพระบาง) ด้วยอักษรสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวหนังสือสมัยพระเจ้าลิไทย (พ.ศ. 1890 - 1911) ไทยขาว ไทยดำ ไทยแดง เจ้าไทในตังเกี๋ย ในญวน ในลาว ปัจจุบันก็ยังใช้ตัวอักษรที่กลายไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงฯทั้งสิ้น”
.
“แท้จริง มีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารเหนือว่าพ่อขุนรามคำแหงฯ ได้ทรงอาศัยนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่เชี่ยวชาญ ตัวหนังสือชาติต่าง ๆ  ที่อยู่ใกล้เคียงกับไทย รูปอักษรของพ่อขุนรามคำแหงฯ จึงคล้ายตัวหนังสือของลังกา บังกลาเทศ และขอม”
.
ดร.ประเสริฐ ยังให้ความเห็นอีกว่า “ในชั้นแรกเมื่อคนไทยมิได้เป็นชนชั้นปกครองก็จำเป็นจะต้องเรียนตัวหนังสือที่ทางราชการบ้านเมืองใช้อยู่ เพื่ออ่านประกาศของทางราชการให้เข้าใจ เมื่อใดคนไทยได้เป็นชนชั้นปกครองก็ได้ดัดแปลงตัวหนังสือที่ใช้กันอยู่ในถิ่นนั้นมาเป็นตัวหนังสือของไทย (อย่างที่พ่อขุนรามคำแหงฯ ทรงกระทำ - ไตรรงค์)”
.
ซึ่งเราสามารถจะอธิบายต่อได้ว่าในสมัยทวารวดีมอญเป็นใหญ่ ทุกคนในอาณาจักรก็ต้องหัดอ่านภาษามอญเมื่อถึงยุคที่ขอมเป็นใหญ่ทุกคนในสยาม (ไม่ว่าจะเป็นไต มอญ เขมร จีน และเผ่าต่าง ๆ ) ก็ต้องหัดอ่านภาษาขอมให้เข้าใจและเมื่อพ่อขุนรามคำแหงฯ ขึ้นเป็นใหญ่ทุกคนในราชอาณาจักรของพระองค์ก็ต้องหัดอ่านลายสือไทยให้เข้าใจเพราะเป็นภาษาราชการ
.
#7 เมื่อ #พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช แห่งอาณาจักรศรีสัตนาคณหุต (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1859 - 1936) ได้ยกทัพขยายอาณาจักรของพระองค์ออกไปทั้ง 4 ทิศ เป็นอาณาจักรล้านช้างที่ใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์ของลาว (เพราะยึดได้ทั้งรัฐสิบสองปันนาและสิบสองจุไทด้วย) ได้ยกทัพมายึดแผ่นดินต่าง ๆ  ในภาคอีสานของไทยแล้วมาตั้งทัพ (ด้วยกองทัพเป็นแสน)ที่จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน ได้ทรงให้คนถือสาส์นไปหาพระเจ้าอู่ทอง (พระรามาธิบดีที่ 1) แห่งอยุธยาในสาส์นได้เขียนเป็นภาษาของพ่อขุนรามคำแหงฯ มีความว่า “พระองค์ต้องการที่ดินที่ยึดไว้ทั้งหมด จึงอยากทราบความเห็นของพระเจ้าอู่ทองโดยเขียนว่า #จักรบหรือฮู้ว่าสิ่งใดนั้นจา...” พระเจ้าอู่ทองมีกำลังน้อยกว่ามากไม่สามารถ #เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง ได้ จึงได้มีราชสาส์นตอบไปเป็นภาษาของพ่อขุนรามคำแหงฯเช่นกันความว่า :
.
“เฮาหากเป็นพี่ (น้อง) กันมาแต่ขุนบรมบุราณปางก่อนพุ้นมาดาย เจ้าอยากได้บ้านได้เมือง ให้เอาเขตต์แดนแต่ดงสามเส้า... อนึ่งลูกข้อยจักส่งอ้อยน้ำตาลสู่ปี... อนึ่งลูกหญิงข้านางแก้วลอดฟ้าใหญ่มาแล้วจักส่งให้เมือปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าแล” (จาก WIKIPEDIA เรื่องพระเจ้าฟ้างุ้ม) #สงครามก็ไม่เกิด
.
#8 #สรุป
.
1) มีตั้งหลายอย่างที่คนรุ่นใหม่ควรต่อสู้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปฏิรูป เช่น การปฎิรูปการศึกษาทุกระดับ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอัยการและตำรวจ) การป้องกันการปล่อยข่าวเท็จใน Social media การป้องกันและควบคุมคนไม่ดีในวงการเมืองและราชการ การต่อสู้กับการฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งในระดับชาติและระดับส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติอย่างแท้จริง   ทำไมคนรุ่นใหม่บางกลุ่มจึงมาปักใจแต่เรื่องจะควบคุมและล้มสถาบันพระมหากษัตริย์  น่าประนามไปถึงครูบาอาจารย์และนักการเมืองที่คอยสนับสนุนส่งเสริมอยู่ข้างหลังโดยเห็นแต่ประโยชน์ของพวกตนมากกว่าผลประโยชน์และความสงบสุขของชาติเป็นส่วนรวม
.
2) จากราชสาส์นที่ตอบโต้กันระหว่างพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชกับพระเจ้าอู่ทองนั้นน่าจะนำมาเป็นบทเรียนให้พวกคนกลุ่มที่คิดจะเปลี่ยนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นระบอบประธานาธิบดีควรจะฉุกคิดเสียหน่อยว่า :
.
“การคิดจะกระทำอะไรแบบพลิกฟ้าพลิกดินนั้น ควรจะประเมินกำลังทั้งของฝ่ายตนและของฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย #ไม่ใช่หลงเชื่อหลงเชียร์อยู่เฉพาะแต่ในกลุ่มของพวกตนที่ มีจำนวนไม่กี่หมื่นไม่กี่แสน แต่ไม่เคยสนใจความรู้สึกของประชาชนที่อาจจะมากกว่า 60 ล้านที่ไม่เห็นด้วย ผลที่ฝ่ายแรกจะได้รับจากการต่อสู้ก็คือ #ไม่ติดคุกก็ต้องหนีลี้ภัยไปตายต่างประเทศ หรือ #ไม่ก็ต้องตายภายในประเทศด้วยติดโรคโควิด19ถ้ายังไม่เลิกชุมนุม การจะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงนั้นต้องคิดทบทวนให้ลึกและให้กว้าง แล้วลองนั่งสงบ ๆ  ถามตัวเองว่า #จักรบหรือฮู้ว่าสิ่งใดนั้นจา
.
ผมขอเรียนว่าบทความที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชปแต่อย่างใด
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"