ยาแรงไม่พอสะกดโควิด-19 ‘ติดเชื้อ-เสียชีวิต’ สวนทางมาตรการ


เพิ่มเพื่อน    

   เข้าสู่วันที่ 7 แล้ว หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดง 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานีและสมุทรปราการ

            มาตรการหลักๆ ใน 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากคือ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้ซื้อกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น โดยงดให้บริโภคในร้าน และเปิดให้บริการถึง 21.00 น. รวมถึงให้ประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค

            แต่ปรากฏว่า ปริมาณผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ซึ่งถือเป็นวันแรกที่ ศบค.ยกระดับมาตรการยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ โดยวันที่ 1 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อ 1,891 ราย เสียชีวิต 21 ราย วันที่ 2 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อ 1,940 ราย เสียชีวิต 21 ราย วันที่ 3 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อ 2,041 ราย เสียชีวิต 31 ราย วันที่ 4 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อ 1,763 ราย เสียชีวิต 27 ราย วันที่ 5 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อ 2,112 ราย เสียชีวิต 15 ราย และวันที่ 6 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อ 1,911 ราย เสียชีวิต 18 ราย

            แน่นอนว่า โดยหลักต้องดูว่ามาตรการดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ได้ผล คือ 14 วันหลังจากยกระดับมาตรการ หลังจากวันที่ 15 พ.ค.เป็นต้นไป แต่อย่างน้อยๆ หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ ควรจะเห็นทิศทางหรือสัญญาณในเชิงบวกบ้าง

            เพราะต้องไม่ลืมว่า ยิ่งเวลาผ่านไปเนิ่นนานเท่าไหร่ ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของ ศบค. โดยเฉพาะ 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงจะมากขึ้นตามไปด้วย

            และหากเมื่อครบ 14 วันหลังจากบังคับใช้มาตรการแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังสูงต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า ศบค.จะยังไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการลงได้ แต่มีแนวโน้มที่ต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 14 วัน ซึ่งถึงวันนั้น ศบค.จะต้องเจอคำวิพากษ์วิจารณ์อีกว่า เจ็บแต่ไม่จบ เพราะรัฐไม่กล้าที่จะใช้ยาแรง

            ที่ผ่านมา ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน พยายามชี้แจงเรื่องที่ไม่ยอมล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิว ตั้งแต่ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า เพราะต้องการให้ประชาชนกลับภูมิลำเนาไปจับจ่ายใช้สอย ต้องการให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ โดยอ้างว่าการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในการระบาดรอบแรก เนื่องจากเรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าเชื้อไวรัสมรณะนี้มากพอ จึงต้องใช้ยาแรงไว้ก่อน แต่เมื่อเรียนรู้มากขึ้น การทำอย่างนั้นจึงมีผลเสียมากกว่าผลดี

            แต่หลังจากเทศกาลสงกรานต์ ปรากฏว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้น และกระจายไปตามต่างจังหวัดจบครบ 77 จังหวัด ซึ่ง ศบค.เองออกมายอมรับว่า สาเหตุการติดเชื้อที่มากที่สุดในตอนนี้คือ การสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน โดยเป็นสัดส่วนที่มากกว่าการเชื่อมโยงจากสถานบันเทิงแล้ว

            ประเด็นดังกล่าวทำให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ ศบค. ถูกตำหนิจากสังคมว่าตัดสินใจผิดพลาดที่ไม่ยอมใช้ยาแรงตั้งแต่ครั้งนั้น

            ครั้นหลังสงกรานต์เป็นต้นมา สถานการณ์ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น หนำซ้ำตัวเลขผู้เสียชีวิตยังสูงขึ้นเป็นสถิติ ศบค.พยายามจะยกระดับอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ใช้ยาแรงอยู่ดี หนักหน่วงที่สุดคือ การห้ามรับประทานอาหารในร้านในพื้นที่สีแดง 6 จังหวัด เพราะเห็นว่า ตัวเลขการติดเชื้อในร้านอาหารมีจำนวนมาก ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดใช้เพียง “ขอความร่วมมือ” ไม่ใช่ “สั่งห้าม”

            ในทางการปฏิบัติ การขอความร่วมมือมันได้ผลน้อยกว่าการสั่งห้าม

            น่าจับตาว่า หากครบ 14 วันแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตยังสูงชันแบบนี้ รัฐบาลจะยังใช้มาตรการดังกล่าวอยู่อีกหรือไม่ หรือจะยกระดับสูงขึ้นไปอีก ซึ่งหากบทสรุปมันอยู่ที่การล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิวมันจะกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลตัดสินใจช้า ไม่ยอมเจ็บแต่จบในทีแรก สุดท้ายกลายมาเป็นเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

            และเรื่องความช้านี้มันจะมีการนำไปพันกับเรื่องการจัดหาวัคซีนที่กำลังถูกกระแสสังคมโจมตีว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เตรียมการอะไร ต้องมาขวนขวายหาเพิ่มในช่วงที่ชุลมุนแล้ว

            วันนี้ต้องยอมรับว่า จากการบริหารโควิด-19 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีเลย สิ่งที่สะท้อนได้เด่นชัดที่สุดคือ คนที่ออกมาปกป้อง

            นอกจากองคาพยพในคณะรัฐมนตรี ภาคประชาชน นักวิชาการฝั่งตัวเอง แทบไม่มีใครออกมาปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ หรือรัฐบาล เรื่องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เลย ขณะเดียวกันบรรดาแนวร่วมที่เคยออกมาเป็นปากเสียงต่างเลือกที่จะไปตอบโต้บรรดาม็อบ 3 นิ้ว หรือกระแสย้ายประเทศในโซเชียลมีเดียมากกว่า

            มันบ่งบอกได้เหมือนกันว่า ทุกคนก็เห็นเหมือนกันว่าการแก้ปัญหาโควิด-19 รอบนี้ไม่เวิร์ก

            ดังนั้น หากมาตรการที่ออกมายังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะครั้งนี้ลงได้ เวลาเนิ่นนานเท่าไหร่ คนที่เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากประชาชนก็คือ พล.อ.ประยุทธ์เอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"