ผวาคลัสเตอร์บางแค ผู้ติดเชื้อชุมชนบ้านขิงพุ่ง!ขยับตรวจเชิงรุกมากขึ้น


เพิ่มเพื่อน    

 ศบค.แจงตัวเลขติดเชื้อใหม่ 1,911 ราย เสียชีวิตอีก 18 ราย แต่มีข่าวดีผู้ป่วยหายถึง 2,435 คน หมอทวีศิลป์เผย “กทม.และปริมณฑล” ยังต้องจับตาใกล้ชิด ผวา! คลัสเตอร์ชุมชนบ้านขิง เตรียมขยับตรวจเชิงรุกมากขึ้น “พล.อ.ณัฐพล” ย้ำมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวจะเป็นมาตรการสุดท้าย ส่วนจะขยับโซนสีหรือไม่ต้องรอ สธ.วิเคราะห์ ตั้งเป้า 4 เดือนจะฉีดวัคซีนให้คน กทม. 6 ล้าน สาธารณสุขประชุมยันไม่หว่านแหแจกยาฟาวิพิราเวียร์ “อัศวิน” ลั่นขอ 2 สัปดาห์สกัดโควิด-19 เมืองกรุง

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,911 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,902 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,749 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 153 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 76,811 ราย หายป่วยสะสม 46,795 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วยถึง 2,435 ราย ซึ่งมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวกัน ทำให้มีเตียงว่างมากขึ้น และอยู่ระหว่างรักษา 29,680 ราย อาการหนัก 1,073 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 356 ราย
“มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 18 ราย อยู่ใน กทม. 6 ราย, สมุทรปราการ 3 ราย, นนทบุรี, เชียงใหม่และสมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี, ยะลาและสิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 13 ราย มี 1 รายที่อายุ 100 ปี สาเหตุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 336 ราย” นพ.ทวีศิลป์ระบุ  
    นพ.ทวีศิลป์แถลงอีกว่า 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. ได้แก่ กทม. 739 ราย, นนทบุรี 273 ราย, สมุทรปราการ 143 ราย, ชลบุรี 76 ราย และสมุทรสาคร 65 ราย แต่ถ้าดูเฉพาะตัวเลข กทม.และปริมณฑล ยังไม่น่าไว้วางใจ กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด ตลาด โดยศูนย์บูรณาการแก้ไขโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ได้วิเคราะห์ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย. ซึ่งดูแนวโน้มแล้วยังสูงขึ้น โดย 10 เขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ห้วยขวาง, ดินแดง, บางเขน, วัฒนา, จตุจักร, ลาดพร้าว, วังทองหลาง, สวนหลวง, บางกะปิ และบางแค โดยที่ประชุมมีการพูดคุยถึงชุมชนที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ 3 ชุมชน คือ ชุมชนคลองเตย, ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ปทุมวัน และชุมชนบ้านขิง บางแค โดยเฉพาะชุมชนบ้านขิง ที่ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค.มีการตรวจเชิงรุกในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในเขตดังกล่าว 1,413 ราย พบติดเชื้อ 68 ราย คิดเป็น 4.8% และยังมีท่าปล่อยรถเมล์ที่มีพนักงาน 100 คน พบติดเชื้อ 4 ราย โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. มีการตรวจหาเชื้อพนักงาน 70 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล ซึ่งพนักงานเหล่านี้เชื่อมโยงไปยังชุมชนบ้านขิงที่มีประชากรกว่า 1,000 คน  โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. มีการรับแจ้งว่าคนในชุมชนพบเชื้อ 30 ราย  วันที่ 30 เม.ย. พบเชื้ออีก 24 ราย วันที่ 3 พ.ค. มีการค้นหาเชิงรุกในชุมชนพบติดเชื้ออีก 25 ราย  
ขยับตรวจเชิงรุก
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หลังจากนี้จะตรวจพื้นที่เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันแล้ว จำนวนที่พบจากการตรวจเชิงรุกถือว่าน้อยกว่าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ จึงคุยกันว่าต้องเพิ่มการตรวจเชิงรุกหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลระหว่างวันที่ 5 เม.ย.-5 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ทั้งสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และห้างสรรพสินค้า รวม 49 แห่ง 69 ครั้ง ตรวจไปแล้ว 42,251 ราย พบติดเชื้อ 1,677 ราย คิดเป็น 3.97% และยังรอผลอีก 559 ราย โดย กทม.มีแผนตรวจเชิงรุกให้ได้ 26,850 รายต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการตรวจเชิงรุกในคลัสเตอร์สำคัญ 8,300 รายต่อสัปดาห์ เฝ้าระวังเชิงรุกใน 6 โซน กทม. วันละ 3,000 ราย หรือ 15,000 รายต่อสัปดาห์ การสุ่มตรวจในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 250 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 1,750 รายต่อสัปดาห์ และการตรวจในสถานกักตัวของรัฐ ที่มีการจัดเป็นที่พักให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแยกตัวออกมาอยู่ในโรงแรม 3 แห่ง คือ โรงแรมธำรงอินน์ จรัญสนิทวงศ์, โรงแรมมายโฮเทล ห้วยขวาง และโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท วันละ 600 คนต่อวัน หรือ 1,800 รายต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน จะจัดเตรียมเตียงรองรับไว้ให้ได้ 1,343 เตียงต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับคนที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19
    เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการ 3 ชุดที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการงานในส่วนของ กทม.และปริมณฑล จะทำงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกับงานของ ศบค. นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งใน ศบค. ทำงานประสานงานเชื่อมโยงระหว่างคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงข้อมูลขึ้นมาสู่การบริหารจัดการในระดับที่นายกฯ จะได้เข้ามารับรู้ข้อมูลเป็นรายวันโดยเร็วเพื่อบริหารสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับภาคส่วนอื่นๆ ยังดูแลกันเหมือนเดิม  
    ด้าน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค. และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวถึงการทำงานที่อาจซ้ำซ้อนกันว่า ในกรอบ ศบค.ทั้งหมด มีส่วนเข้าร่วมในทุกกิจกรรม ทุกกรรมการ โดยเป็นบุคคลหลักในการบูรณาการงานทุกคณะกรรมการให้เป็นไปอย่างประสานสอดคล้อง ไม่ให้ไม่ซ้ำซ้อน ส่วนความจำเป็นที่ต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมารองรับการทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปก้าวล่วงทุกหน่วยงานได้ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่า ศบค.ให้ทหารมารบโรคระบาดแทนที่จะเป็นแพทย์นั้น ใน ศบค.มีหลายหน่วยงาน ถ้าไม่มีหน่วยงานบูรณาการ หมอซึ่งรับผิดชอบรักษาโรคหรือป้องกันการแพร่ระบาดก็ต้องมารับภาระประสาน เช่น การระวังป้องกันตามแนวชายแดน ฉะนั้นเห็นว่างานต่างๆ มีมากมาย การที่ได้รับมอบจากนายกฯ เข้ามาก็เพื่อประสานการปฏิบัติเท่านั้น การรักษาโรคการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นหน้าที่ของ สธ.
ล็อกดาวน์มาตรการสุดท้าย
    ถามอีกว่า หากถึงวันศุกร์ที่ 14 พ.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น ศบค.จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ทุกครั้งที่ ศบค.กำหนดมาตรการการแพร่ระบาด จะฟังข้อเสนอแนะของ สธ.เป็นหลัก ซึ่งจะวิเคราะห์ต้นเหตุของการแพร่ระบาดในแต่ละครั้งว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และเมื่อออกมาตรการมาแล้ว และใกล้ครบ 14 วัน ก็ต้องมาประเมินอีกครั้งหนึ่งว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ยังทำให้เกิดการแพร่ระบาด และต้องออกมาตรการป้องกันต่อไป
    เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่จะถึงขั้นล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า นายกฯ ห่วงใยในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้ ศบค.พิจารณาอย่างรอบคอบในการพิจารณาการออกมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาด พยายามให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด มาตรการล็อกดาวน์หรือมาตรการเคอร์ฟิวจะเป็นมาตรการสุดท้าย หากไม่สามารถหยุดยั้งได้จริงๆ
เมื่อถามถึงความคืบหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังเป็นไปตามกำหนดเดิม 1 ก.ค.นี้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า จะตอบว่าเป็นไปได้หรือไม่ ศบค.ก็จะพยายามทำให้เป็นไปได้ แต่คงต้องดูสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นอีกครั้ง ขณะนี้นายกฯ ได้ให้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขว่า วัคซีนที่ทยอยเข้ามาในเดือนนี้ก็จะเร่งฉีดให้กับในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นอันดับแรก เพื่อให้ทำให้แผนการแพร่ระบาดลดลง และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย และพัทยา
    เมื่อถามถึงจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จะยังคงมีมาตรการเข้มงวดในสถานบริการยาวถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า คงต้องรับฟังจาก สธ.เป็นหลักว่าจะมีความเห็นอย่างไร หลังจากที่ได้มีการสอบสวนโรคแล้ว ก็จะทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด โดย สธ.จะนำมาวิเคราะห์เมื่อครบ 14 วัน เพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมต่อไป
เมื่อถามว่า กรณีที่มีหัวคะแนนในพื้นที่เขตคลองเตยจัดคิวฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม ศบค.จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ในชั้นต้นได้รับข้อมูล แต่ได้สอบถามหน่วยงานในพื้นที่ ไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งช่วงเช้า ศปก.ศบค.ได้เน้นย้ำหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะ ผอ.เขตคลองเตยและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ขอเพ่งเล็งเรื่องนี้เป็นพิเศษ และมิให้เกิดปัญหาเช่นนั้นขึ้น โดยในอนาคตหากยังมีเหตุการณ์เช่นนี้ อาจจะให้ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปสนับสนุนต่อไป   
    เมื่อถามว่า นอกจากกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้สูงอายุ โรคประจำตัว ที่เป็นเป้าหมายแรกในการฉีดวัคซีน คนหนุ่มสาวมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ เพราะเสี่ยงติดเชื้อโควิดเช่นกัน เลขาฯ สมช.กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ในการประชุม ครม. ให้นโยบายแก่ สธ. จำเป็นจะต้องฉีดให้คนกลุ่มอื่นและคนทำงาน ไม่ใช่ฉีดเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวหรืออายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะวันนี้มีพื้นที่เสี่ยงและคนกลุ่มอื่นอาจเข้าไปติดเชื้อ โดย สธ.กำลังประชุมเรื่องนี้อยู่ คาดว่าจะจัดสรรฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มอื่นด้วย  
4 เดือนฉีดคน กทม.
    เมื่อถามว่า มีการตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้คนกรุงเทพฯ อย่างไร พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เป็นนโยบายจากนายกฯ ตั้งเป้าจะฉีดให้คนไทย 50 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ที่เหลือเวลาอีก 8 เดือน และ ศบค.ก็วางแผนว่าใน 4 เดือนแรกควรฉีดในเข็มแรกให้คนกรุงเทพฯ และประชากรแฝง คาดว่า 6 ล้านคน หรือประมาณวันละ 6 หมื่นคน โดย ศบค.ให้กรอบดังกล่าวไปให้ กทม. และ กทม.ต้องไปการวางแผนว่าในพื้นที่ 50 เขตว่าจะมีกี่จุด เพื่อให้สามารถฉีดได้ตามเป้าหมาย
    ผู้สื่อข่าวถามถึงโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลและแอฟริกาที่มีข้อกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดเข้ามาทางชายแดน หรืออาจพบในสถานกักกัน ศบค.จะเข้าไปแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า นายกฯ ได้เน้นย้ำฝ่ายความมั่นคง ทั้งกองทัพไทยและกระทรวงมหาดไทย ให้เข้มงวดตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย และแม้จะเข้าโดยถูกกฎหมาย ก็ให้เพิ่มความเข้มงวดตรวจคัดกรองให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยได้หารือกันแล้วว่าถึงแม้ขยายเวลากักตัวเป็น 14 วันเหมือนเดิม สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก็จะให้ติดตามหลังจากที่ได้ออกจากสถานกักกัน และก็ขอความร่วมมือที่จะหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนอื่นอีกสักระยะหนึ่งเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่อไป
    ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการฉีดวัคซีนโควิดว่า จะฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อยู่ในไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติที่ประสงค์จะฉีดทุกคนโดยความสมัครใจ โดยในการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศต้องฉีด 70% ของประชากร ซึ่งแผนการจัดหาวัคซีนมีประชากรทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ หรือมีการทำงานต่อเนื่องในไทย รวมทั้งคณะทูตานุทูตทั้งหมด 70 ล้านคน เป็นคนไทย 67 ล้านคน และต่างชาติอีก 3 ล้านคน เมื่อคิดยอดที่ต้องฉีด 70% คือ 50 ล้านคน โดย 1 คนฉีด 2 โดส รวมวัคซีน 100 ล้านโดส
    “การที่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในแผ่นดินไทย รัฐบาลและ สธ.  โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ย้ำหลายครั้งว่า Nobody is safe until everyone is safe. ทุกคนจะปลอดภัย เราต้องทำให้ทุกคนในแผ่นดินไทยให้ปลอดภัย” นพ.โอภาสกล่าว และว่า การฉีดวัคซีนให้กับคนต่างชาติและคณะทูตานุทูต ยึดหลักการปฏิบัติแบบสากล ด้วยความเคารพและให้เกียรติกันและกัน จะไม่มีใครฉีดก่อนฉีดหลัง เป็นไปตามความสมัครใจ และข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยืนยันว่าทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยจะได้ฉีดวัคซีนอย่างพร้อมเพรียงและใกล้เคียงกัน
        นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ข่าวดีวันนี้วัคซีนซิโนแวคเข้ามาในไทยอีก 1 ล้านโดส ทำให้ในเดือน พ.ค.เป็นเดือนที่ได้รับวัคซีนค่อนข้างมาก โดยจะมีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจเชิงคุณภาพใช้เวลาประมาณ 7 วัน จากนั้นจะเร่งกระจายวัคซีนไปฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในจังหวัดต่างๆ และกระจายวัคซีนไปฉีดเพื่อควบคุมสถานการณ์ในจุดที่มีการระบาด เช่น เขตคลองเตย
ไม่หว่านแหฟาวิพิราเวียร์
    ทั้งนี้ เมื่อเวลา 05.35 น. ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค 1 ล้านโดส จากประเทศจีนที่ขนส่งโดยสายการบิน Air China Airline
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ว่าผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนยืนยันตรงกันว่า กรณีผู้ติดเชื้อยืนยันที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม จะยังไม่ให้ยารักษาเฉพาะ ส่วนผู้ติดเชื้อยืนยันที่อาจมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วมหรือมีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งนอกเหนือจากการรักษาตามอาการแล้ว สามารถให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ได้ตามดุลพินิจของแพทย์ อาทิ อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี ภาวะอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ตับแข็ง ภาวะ ภูมิคุ้มกันตาและภาวะอื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาเห็นว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง จึงเปิดช่องเอาไว้ให้แพทย์ที่รักษาให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป ขณะที่คนติดเชื้อที่เริ่มมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย นอกจากให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว การให้ยาสเตียรอยด์ยังช่วยลดความรุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในอนาคตได้
    "ที่เราไม่หว่านแหให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะมีผลข้างเคียง บางคนจะมีปัญหาตับอักเสบ และในที่สุดจะเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นห่วงมาก เพราะตอนนี้เท่าที่ดูยังไม่มียารักษาเฉพาะ มีเพียงการวิจัยระยะ 2 และ 3 แต่ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนและยังเอามาใช้ไม่ได้ ดังนั้นเราจะต้องเก็บยาตัวนี้เอาไว้เป็นอาวุธสําคัญ ที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 จึงไม่อยากหว่านแห ที่สำคัญเราพบว่าผู้ติดเชื้อยืนยันที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วมที่มีประมาณ 30-40% นั้น ในจำนวนนี้มี 80-90% ไม่เปลี่ยนไปเป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองหรือสีแดง จึงไม่จำเป็นต้องให้ยา เพราะเป็นการให้ยาโดยเปล่าประโยชน์" นพ.สมศักดิ์กล่าว
    ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยได้มอบหมายสำนักงานเขต 50 เขต เร่งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 5 ฝ่าย และมอบหมายทุกสำนักงานเขตเร่งสำรวจผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่ ทั้งในส่วนที่ทำการตรวจคัดกรองหาเชื้อจากที่อื่น หรืออยู่ในรายชื่อผู้ป่วยของทีมแพทย์ กทม.ให้เพื่อให้การช่วยเหลือเข้ารับระบบการรักษาไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่ กทม.
        “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการในที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ให้ทั้ง 50 เขตปูพรมทำการ Swab และฉีดวัคซีน โดยเฉพาะชุมชนหนาแน่นและกลุ่มเสี่ยง โดยมีเป้าหมายร่วมกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้อยู่ภายในวงจำกัดภายใน 2 สัปดาห์นี้” นางศิลปสวยระบุ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"