กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า-LRA


เพิ่มเพื่อน    

        อดีตผู้บังคับบัญชาใน กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า (Lord’s Resistance Army: LRA) “โดมินิค อองเวน” (Dominic Ongwen) ถูกจับเมื่อปลายปี 2014 และปรากฏตัวต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2015 ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้จำคุก 25 ปี ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการสังหารหมู่ ทรมานเหยื่อ ข่มขืน และใช้แรงงานทาส

โดมินิค อองเวน ขณะรับฟังการพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก ictj.org)

 

ผู้รับพระบัญชา, โจเซฟ โคนี และ LRA

                ชาว “อะโคลี” อาศัยอยู่ในยูกันดาทางเหนือ ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า ในขณะที่ชาว “บากันดา” อาศัยอยู่ทางใต้ ทำการเพาะปลูกเป็นหลัก เมื่ออังกฤษยึดยูกันดาเป็นอาณานิคมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พวกเขาได้รับความร่วมมือจากชาวใต้มากกว่า ในขณะที่หลายกลุ่มก้อนทางเหนือมีปฏิกิริยาต่อต้านเจ้าอาณานิคม

                ยูกันดาทางเหนือมีสภาพแห้งแล้งกันดาร ผู้คนออกจะป่าเถื่อนและล้าหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับชาวใต้ที่ดูมีวิวัฒนาการดีกว่า อังกฤษมองว่าเป็นการยากที่จะทำให้ชาวอะโคลีมีอารยะได้ จึงนำมาเป็นทหารและใช้แรงงานหนักเสียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ชาวบากันดาทางใต้ได้งานราชการ หรืองานที่มีอำนาจอิทธิพล ยูกันดาทางใต้จึงมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีกว่า

                ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างทางเหนือกับทางใต้ดำรงฝังแน่นแม้หลังจากยูกันดาได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วในปี ค.ศ.1962 “อิดี อามิน” ได้ยึดอำนาจเป็นเผด็จการปกครองประเทศระหว่างปี ค.ศ.1971-1979 โครงสร้างสังคมของชาติถูกทำลาย และหลังจากโค่นล้ม “อิดี อามิน” ลงได้ก็เกิดการแย่งอำนาจกันระหว่าง 2 ฝ่าย ได้แก่ ขบวนการ National Resistance Movement นำโดย “โยเวรี มูเซเวนี” ได้รับการสนับสนุนจากชาวใต้และตะวันตก อีกกลุ่มคือ Uganda People’s Democratic Army ของชาวอะโคลีและผู้คนทางเหนือกลุ่มอื่นๆ มี “ติโต โอเคลโล” เป็นผู้นำ

                ปี 1986 ฝ่ายของ “โยเวรี มูเซเวนี” ชนะสงครามกลางเมืองและเข้าปกครองประเทศ ผู้มีชัยเริ่มกระชับอำนาจและล้างแค้นกลุ่มชนทางเหนือ ทั้งเข่นฆ่า ปล้นสะดม และเผาทำลาย ชาวอะโคลีหนีขึ้นเหนือไปอยู่ตามชายแดนซูดาน หลายกลุ่มยอมสยบ แต่ก็ไม่ทำให้กองทัพจากทางใต้หยุดโจมตี

                ปลายปี 1987 ขบวนการต่อต้านจากทางเหนือกลุ่มใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น นำโดย “อลิซ ลัควีนา” สตรีผู้อ้างว่าเป็นศาสดารับบัญชาจากพระเจ้า โดยสารที่ถูกส่งลงมาคือชาวอโคลีสามารถเอาชนะรัฐบาลมูเซเวนีได้ เพียงแต่ต้องทำตามคำสั่งของลัควีนา อาทิ ห้ามฆ่างูและผึ้ง ตอนรบไม่ต้องถือปืน ให้ถือไม้และก้อนหินแทน รวมถึงให้ราดน้ำมันจากต้นเชียนัทเพื่อกันกระสุน ไม่ต้องหลบหรือถอยยามต่อสู้ สุดท้ายกองกำลังของลัควีนาก็พ่ายแพ้ ตัวเธอเองหนีเข้าประเทศเคนยา

                “โจเซฟ โคนี” อดีตเด็กช่วยทำพิธีในโบสถ์ จัดการรวบรวมสมาชิกที่กระจัดกระจายของลัควีนา และทหารฝ่ายเหนือที่พ่ายแพ้ให้กับมูเซเวนีก่อนหน้านั้น โคนีได้ปรับกลยุทธ์การรบให้เป็นแบบทหารจากคำแนะนำของอดีตผู้บัญชาการที่ปราชัยมาก่อน แต่ก็ยังอ้างว่าตนเป็นผู้รับบัญชาจากพระเจ้าเหมือนเช่นลัควีนา และได้ใช้ชื่อ Ugandan People’s Democratic Christian Army ในช่วงแรก จากนั้นในราวๆ ปี 1992 เปลี่ยนเป็น Lord’s Resistance Army หรือ “กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า” ร่วมกันต่อสู้ในนามของพระเจ้าเพื่อโค่นล้มมูเซเวนี มีเป้าหมายตั้งรัฐบาล และนำ “บัญญัติ 10 ประการ” มาบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ

กำเนิดไอ้มดขาว

                ยุทธวิธี “กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า” หรือ LRA ใช้ความสะเทือนขวัญเข้าข่มขู่ ทำลายความปลอดภัยและการใช้ชีวิตปกติของประชาชน กระจายความกลัว เพื่อให้รู้สึกว่ารัฐบาลอ่อนแอ ปกป้องพลเรือนไม่ได้

                กองกำลัง LRA จับเด็กหญิงเป็นทาสรับใช้ในบ้านและทาสทางกามารมณ์ ส่วนเด็กชายจับไปเป็นทหาร ให้ซึมซับและเรียนรู้การฆ่า ตัดแขนขา และข่มขืน เด็กพวกนี้กลายเป็นกำลังรบสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ “โดมินิค อองเวน”

                แรกเกิดเมื่อปี ค.ศ.1975 เขามีชื่อว่า “โดมินิค โอคูมู ซาวิโอ” แต่พ่อแม่ได้ให้ชื่อสกุลปลอม “อองเวน” ซึ่งแปลว่า “มดขาว” แก่เขาเหมือนเช่นชาวอะโคลีคนอื่นๆ ที่บอกชื่อปลอมแก่ลูกๆ เผื่อว่าในกรณีที่ถูกจับตัวก็ไม่น่าจะมีภัยมาถึงครอบครัว

                และแล้วอองเวนก็ถูกจับตัวโดย LRA ในปี 1988 ขณะเดินไปโรงเรียนเมื่ออายุได้ 14 ปี (ตามคำให้การของเขา ขณะที่สื่อรายงานว่าถูกจับตอนอายุ 9 หรือ 10 ขวบเท่านั้น) เมื่อพ่อแม่ของเขาทราบข่าวก็ไม่ได้หนีตายแบบเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ พวกเขาบอกว่าพร้อมเผชิญหน้ากับกลุ่ม LRA ทว่าตอนที่ชาวบ้านเหล่านั้นกลับมาก็พบแม่และพ่อของอองเวนถูกฆ่าตายเรียบร้อยแล้ว

                “ไอ้มดขาว” ถูกนำไปเข้าค่าย บังคับให้ดูการทรมานศัตรู และการฆ่า ต่อมาได้รับการอบรมทฤษฎีและถูกล้างสมองโดย “วินเซนต์ ออตติ” รองผู้นำสูงสุดของ LRA จากนั้นไม่นานกลายเป็นนักรบของกองกำลังในขณะที่ยังเป็นเยาวชน และเติบโตในขบวนการนี้อย่างรวดเร็ว เพียงอายุ 18 ปีก็ได้เป็นผู้พัน และช่วงอายุ 20 ปลายๆ ได้เป็นนายพลจัตวา บัญชาการรบ “กองพลน้อยซีเนีย” 1 ใน 4 กองพลน้อยสำคัญของ LRA มีเมียอย่างน้อย 7 คน ส่วนใหญ่โดยการบังคับขู่เข็ญ รวมถึงลูกๆ ที่สื่อรายงานว่ามีมากกว่า 20 คน

 นักรบรุ่นเยาว์กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า หรือ LRA (ภาพจาก childsoldiersstories.weebly.com)

 

สงคราม การสังหารหมู่ และลักพาตัว

                รัฐบาลยูกันดาโดยกองทัพ NRA (National Resistance Army) พยายามกวาดล้าง LRA หลายระลอก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับมีการเจรจาสงบศึกหลายครั้งที่ล้วนล้มเหลว ข้อเสนอเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยจากบุคคลระดับโลกอย่างสมเด็จพระสันตะปาปา “จอห์น ปอล ที่ 2” กลับถูกปฏิเสธจากโจเซฟ โคนี เช่นเดียวกับการยื่นมือเข้าไปของ “มูลนิธิเซ็นเตอร์คาร์เตอร์” ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ “จิมมี คาร์เตอร์” ก็ไม่เกิดผล

                ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ทางฝ่าย LRA ได้รับการสนับสนุนทางทหารจากรัฐบาลซูดานเพื่อตอบโต้รัฐบาลยูกันดาที่ให้การหนุนหลังการแบ่งแยกดินแดนทางใต้ (ซึ่งต่อมากลายเป็นประเทศซูดานใต้) ยิ่งการต่อสู้ระหว่าง LRA และ NRA หนักขึ้น ฝ่าย LRA ก็สังหารหมู่ และลักพาตัวพลเรือนมากขึ้น จนกองกำลังพิเศษของสหประชาชาติได้เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อยับยั้งความโหดเหี้ยมของ LRA

                เดือนมีนาคม ปี 2002 กองทัพ NRA ของรัฐบาล ในชื่อใหม่ Uganda People’s Defence Force (UPDF) ปล่อยปฏิบัติการชื่อ “กำปั้นเหล็ก” ใส่กองกำลัง LRA ที่มีฐานอยู่ทางใต้ของซูดาน ฝ่าย LRA เอาคืนด้วยการถล่มค่ายผู้ลี้ภัยในยูกันดาทางเหนือและซูดานทางใต้ เป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิตหลายร้อยคน และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 ก็บุกจู่โจมค่ายผู้ลี้ภัยทางเหนือของยูกันดา สังหารหมู่ไปมากกว่า 300 คน จับตัวไปอีกมาก

                ปี ค.ศ.2005 ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับแรกของศาลนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น ผู้ต้องหามี 4 คน ได้แก่ โจเซฟ โคนี, วินเซนต์ ออตติ, โอคอต โอดิอัมโบ รองผู้บัญชาการกองกำลัง LRA และ “อองเวน” ผู้บัญชาการกองพลน้อยซีเนีย

                หมายจับถูกส่งไปยัง 3 ประเทศที่กองกำลัง LRA มีปฏิบัติการครอบคลุม ได้แก่ ยูกันดา, ซูดาน (ซูดานใต้ แยกจากซูดานในปี 2011) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ทิศตะวันตกของยูกันดา) ปลายปี 2007 ออตติถูกโคนีฆ่า และมีข่าวว่าโอดิอัมโบก็เสียชีวิตในปีต่อมา แต่ไม่ทราบว่าเป็นการลงมือของฝ่ายใด

                ระหว่างปี 2006-2008 มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลยูกันดาและ LRA อีกหลายครั้งโดยมีผู้นำการแยกตัวของซูดานใต้เป็นคนกลาง ปรากฏว่า LRA ยอมลงนามหยุดยิง ในข้อตกลงมีเงื่อนไขให้ LRA ออกจากยูกันดา ไปอยู่อาศัยใน “อุทยานแห่งชาติการัมบา” ทางเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รัฐบาลยูกันดาให้คำมั่นจะไม่โจมตีอีก

                อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2008 ถึงมีนาคม 2009 กองทัพยูกันดา, คองโก และซูดาน โจมตีทางอากาศและบุกทำลายแคมป์ของ LRA ในอุทยานแห่งชาติการัมบา ในชื่อ “ปฏิบัติการฟ้าร้องฟ้าแลบ” ที่สหรัฐให้การสนับสนุน ฝ่าย LRA แตกกระเจิง แต่ไม่สามารถฆ่าหรือจับกุม “โคนี” ได้ พวกกลุ่มย่อยของ LRA สามารถกลับมาแก้แค้น ฆ่าหมู่พลเรือนในคองโกและซูดานใต้ไปอีกมากกว่าพันคน จับตัวไปอีกหลายร้อย เกือบล้านต้องอพยพหลบหนี

                ผลงานเหี้ยมของ “โดมินิค อองเวน” คือการนำกองกำลังของเขาสังหารหมู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในเดือนธันวาคม 2009 อย่างน้อยเป็นพลเรือน 321 คน และจับตัวไปอีก 250 คน เรียกกันว่า “การบุกทำลาย 4 วัน” จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ก็ฆ่าไปอีกราว 100 คน บริเวณชายแดน 3 ประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และซูดาน การโจมตีปลีกย่อยเกิดขึ้นต่อเนื่องรายวัน ผู้คนหนีภัยย้ายถิ่น องค์การสหประชาชาติประกาศว่าเป็นวิกฤติทางมนุษยธรรมครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

                ปัจจุบันแม้ว่าจำนวนนักรบของ LRA จะมีจำนวนลดลงไปมาก เหลือเพียงหลักร้อย แต่ยังมีพิษสงและปฏิบัติการอยู่ใน 3-4 ประเทศตามที่ได้กล่าวมา

 เยาวชนทหารของกองกำลัง LRA (ภาพจาก qz.com)

 

อาชญากรรมและการลงทัณฑ์

                ปี 2013 สหรัฐประกาศให้รางวัลนำจับสำหรับ “โคนี” และ “อองเวน” คนละ 5 ล้านเหรียญฯ ปลายปี 2014 อองเวนถูกโคนีจับขังเพราะขัดคำสั่งและไม่ยอมตอบวิทยุสื่อสารของเขา อองเวนหลบหนีได้สำเร็จ แม้ว่าสุดท้ายจะถูกกลุ่มกบฏชื่อ “เซเลคา” จับตัวได้ แต่พวกนี้ไม่ทราบว่าเป็นอองเวน ส่งต่อไปให้เอ็นจีโอองค์กรหนึ่ง ซึ่งเรียกให้กองกำลังพิเศษของสหรัฐในภูมิภาคนั้นมารับไปและมอบให้กับกองทัพยูกันดา ก่อนจะไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศในเวลาต่อมา ทั้งนี้กลุ่ม “เซเลคา” ไม่ได้รับรางวัลนำจับแต่อย่างใด

                ในการเริ่มไต่สวนพิจารณาคดีเมื่อเดือนธันวาคม 2016 อองเวนกล่าวว่าจะไม่ยอมรับผิด เพราะตัวเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำอันป่าเถื่อนของ LRA ฝ่ายทนายก็ต่อสู้ในประเด็นที่เขาถูกจับตัวไปตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งประสบความทุกข์ทรมานหนักหนาสาหัสเช่นกัน

                ทว่าศาลได้อธิบายว่าอองเวนเป็นนักรบที่เก่งกาจและเป็นผู้บัญชาการที่วางแผนรบได้อย่างยอดเยี่ยม มีความระมัดระวัง ประเมินความเสี่ยง และได้รับคำสรรเสริญจากผู้นำคนอื่นๆ อยู่เสมอ พวกเขาเหล่านั้นบอกว่าหากอองเวนปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็จะไม่ถูกเอาชีวิตหรือถูกทำโทษหนัก และว่าเขาไม่ได้ใช้โอกาสที่มีหลายครั้งในการหลบหนี แต่เลือกที่จะก้าวหน้าในยศและตำแหน่ง

                ศาลยังพบด้วยว่าอองเวนไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโคนี และได้จับตัวเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีหลายคนเพื่อฝึกให้เป็นนักรบ เด็กเหล่านี้ถูกทุบตีและบังคับให้ดูการฆ่า ก่อนจะถูกฝึกทักษะการรบ โดยไม่ให้พวกเขาแยกแยะระหว่างนักรบและพลเรือน จึงทำให้มีการฆ่าไม่เลือกหน้า

                พยานสตรีหลายคนให้การว่า พวกเธอถูกจับตัวและได้รับการข่มขู่เอาชีวิตหากปฏิเสธการเป็นภรรยาของผู้บัญชาการ และพวกเธอก็ถูกข่มขืนครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากนี้ยังมีพยานเล่าว่าอองเวนใช้อำนาจของเขาในการแจกจ่ายภรรยาให้กับนักรบคนอื่นๆ บางคนให้การว่าถ้าไม่ยอมก็จะถูกฆ่า เพราะเห็นเด็กหญิงบางคนทำผิดพลาดเพียงนิดหน่อยก็ไม่รอดชีวิต

                เหยื่อ LRA จำนวน 4,065 คน ได้รับอนุญาตให้ชมการถ่ายทอดการอ่านคำพิพากษาผ่านจอโทรทัศน์ทางภาคเหนือของยูกันดา สำหรับเหยื่อส่วนที่เกี่ยวข้องกับอองเวนโดยตรงมีประมาณ 1,500 คน

                จากการพิจารณาคดีนาน 4 ปี ศาลได้ตัดสินไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ให้เขามีความผิด 61 ข้อหา แต่เพิ่งจะมีการกำหนดโทษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นั่นคือให้จำคุกเป็นเวลา 25 ปี บางคนพอใจกับโทษที่อองเวนได้รับ บางคนคิดว่าเขาควรจะติดคุกตลอดชีวิต

                ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศคนหนึ่งให้ความเห็นว่าโทษที่อองเวนได้รับถือว่ายุติธรรมแล้ว แต่อาจไม่ยุติธรรมต่อเหยื่อ เพราะอองเวนติดคุกในยุโรป ได้กินไส้กรอกและเบคอนเป็นมื้อเช้า ในขณะที่เหยื่อของเขายังอดอยากและทุกข์ทรมานอยู่

                ปัจจุบัน โจเซฟ โคนี ยังไม่ถูกจับ ตั้งแต่ตั้งกองกำลัง LRA ขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบันได้ลักพาตัวเด็กหญิงและเด็กชายไปมากกว่า 3 หมื่น ฆ่าพลเรือนไปมากกว่า 1 แสน.

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"