ปูพรมฉีดเข็มแรก ‘บิ๊กตู่’ย้ำกรกฎาคมประชากรผู้ใหญ่ครึ่งของประเทศได้รับวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

  แจงถี่ยิบ! "บิ๊กตู่" กางไทม์ไลน์วัคซีนซ้ำ 3 แนวทาง เพิ่มแน่ 150 ล้านโดส 50 ล้านคนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จ่อฉีดเข็ม 3 ด้วย สั่งสู้กระแสโลกแย่งวัคซีน และปรับแนวทางปูพรมฉีดเข็มแรกให้มากที่สุด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแจงผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านแอปหมอพร้อมจะได้ฉีด AstraZeneca เริ่มเดือน มิ.ย. ประเดิม 16 ล้านโดส องค์การเภสัชฯเร่งดีลวัคซีนให้เอกชนยันจบในปีนี้

    เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ระบุว่า "จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ผมได้ตัดสินใจเดินหน้า 3 แนวทางเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนี้ครับ
    แนวทางแรก เราต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนของเราให้มากกว่านี้ จากที่ปัจจุบันเราตั้งเป้าสั่งซื้อวัคซีนที่ 100 ล้านโดส ประเทศไทยควรต้องหาวัคซีนเพิ่มอีกให้เป็น 150 ล้านโดส หรือมากกว่านั้นให้ได้ แม้ว่าบางส่วนอาจจะส่งมอบให้เราได้ในช่วงปีหน้าก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราไม่ควรจัดหาวัคซีนด้วยเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศจะเกิดขึ้น เมื่อเราฉีดให้ประชาชนได้ 50 ล้านคน เราควรต้องมีวัคซีนให้เพียงพอสำหรับคนไทยทุกคน
    ประเทศเรามีประชากรผู้ใหญ่อยู่ประมาณ 60 ล้านคน และควรต้องมีวัคซีนเผื่อสำรองเอาไว้อีก เพราะทุกวันนี้ทั่วโลกยังมีความไม่ชัดเจนว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากไวรัสตัวนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตลอดจนคำถามอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ เช่น หลังจากฉีดวัคซีนครบโดสแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนจะคงอยู่ได้นานเท่าไหร่ และเรามีความจำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 อีกหรือไม่ รวมทั้งเรื่องของการกลายพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่วัคซีนอาจจะส่งมอบล่าช้า อย่างล่าสุด หลายประเทศชั้นนำของโลกมีการคาดการณ์กันว่า ในช่วงเวลานี้จะได้รับส่งมอบวัคซีนเป็นจำนวนที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เขาสั่งไว้
    แนวทางที่สอง ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของเรามีความคืบหน้าที่เร็วกว่านี้ ให้มีการเจรจากับผู้ผลิตหลายรายเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้วัคซีนเพิ่มขึ้น เรามีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนจำนวนถึง 7 ราย และกำลังหาเจรจาเพิ่มอีก รวมถึงวัคซีนใหม่ๆ จากผู้ผลิตรายใหม่ๆ ด้วย แน่นอนว่าในขณะที่ทั้งโลกยังคงแย่งกันสั่งซื้อวัคซีนให้กับประเทศของตัวเอง ทำให้การจัดหาและสั่งซื้อวัคซีนยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากอยู่ แต่เราจะต้องหาทางทำให้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
    การตัดสินใจของผมเรื่องสุดท้าย คือการปรับแนวทางการฉีด โดยเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนเข็มแรก หลังการหารืออย่างเข้มข้นกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุข เราจะปรับมาให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากทางการแพทย์มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แม้แค่เพียงเข็มแรก ก็สามารถช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสในการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก
    "ดังนั้น เราต้องเร่งเครื่องเดินหน้าให้เร็ว ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนจำนวนมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ในช่วงประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยจะมีประชากรผู้ใหญ่จำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศที่จะได้รับวัคซีนเข็มแรก และได้รับการปกป้องจากอันตรายของโควิด-19 แล้วในระดับที่มากพอสมควรครับ" นายกฯระบุ
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลดูแลคนไทยทุกคนทุกสิทธิ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ให้แนวทางชัดเจนแก่ทุกส่วนราชการ โดยให้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณี ทั้งให้ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด คัดกรองก่อนผ่าตัด การตรวจเชิงรุกตามดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งหากผลตรวจไม่พบเชื้อสามารถตรวจซ้ำได้ฟรีหลังกักตัวครบ 14 วัน แต่หากผลตรวจมีการพบเชื้อ จะได้รับการดูแลเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากรัฐบาลจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน
    โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดการฉีดวัคซีนตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยคุ้มครองตั้งแต่วัคซีนเข็มแรกที่ฉีดให้คนไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2564 ให้ประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หากมีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งแม้พบในสัดส่วนที่น้อย รัฐบาลพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทุกกรณี ตามหลักเกณฑ์เงินจ่ายเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีประชาชนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
    1.ตาย/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 4 แสนบาท 2.เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท 3.บาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสน โดย สปสช.จะแต่งตั้งกลไกเพื่อให้สามารถจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องแล้ว
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวให้ความมั่นใจว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศไทย ได้ผ่านพิจารณาอย่างรอบคอบของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดที่รัฐบาลจัดหาให้ประชาชน มีศักยภาพสามารถลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง ลดการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตด้วย ช่วยทำให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งจะช่วยหยุดการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพอีกครั้ง
    นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (GPO) กล่าวถึงการดำเนินการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตอื่นทั่วโลก อาทิ โมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชนว่า กระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนจากหลายบริษัท เพื่อฉีดให้กับประชาชนเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมา บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมมาเป็นระยะๆ
    ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2564 ได้เข้าพบหารืออีกครั้งกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันถึงความร่วมมือกันในการจัดหาวัคซีนของโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชน โดยผ่านการบริหารจัดการโดยทางองค์การเภสัชกรรม
    นพ.วิฑูรย์กล่าวอีกว่า ขณะนี้วัคซีนดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นการขออนุญาตขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน เรียกว่า Conditional Approval for Emergency Use Authorization (EUA) โดยแนวทางของผู้ผลิตทั่วโลกสำหรับวัคซีนโควิดทุกชนิดที่ผลิตได้และใช้ฉีดใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องบริหารจัดการและกระจายวัคซีนด้วยองค์กรภาครัฐ
    "องค์การเภสัชกรรมจะรวบรวมความต้องการวัคซีนของโมเดอร์นา จากภาคเอกชน และยืนยันคำสั่งซื้อเพื่อแจ้งจำนวนความต้องการไปยังบริษัท ซิลลิค ฟาร์มาฯ เพื่อให้บริษัทเร่งการนำเข้าวัคซีน กระจายไปฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงให้เร็วที่สุดภายในปีนี้" นพ.วิฑูรย์กล่าว
    ด้าน ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวด้วยว่า การดำเนินการฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนโรงพยาบาลเอกชนมีการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ฉีดให้ฟรีตามที่ทางภาครัฐจัดสรรวัคซีนมาให้ เพื่อช่วยให้การกระจายการฉีดของภาครัฐให้กับประชาชนรวดเร็ว เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาลเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ
    ส่วนที่ 2 ฉีดแบบมีค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนนี้ที่ทุกๆ ฝ่ายกำลังเร่งจัดหาวัคซีนมาให้ได้โดยเร็วที่สุด ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งวัคซีนจะเป็นคนละยี่ห้อกับที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ ไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับวัคซีนของภาครัฐ ในเบื้องต้นวัคซีนที่ฉีดแบบมีค่าใช้จ่ายนี้เป็นวัคซีนบริษัทโมเดอร์นา ที่กำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตขึ้นทะเบียน และรวมถึงวัคซีนอื่นๆ ที่จะมีการขึ้นทะเบียนต่อไปในอนาคต ซึ่งวัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชนจะนำมาใช้ฉีดนั้นจะมีการควบคุมราคาการให้บริการในการฉีดวัคซีนในราคาที่สมเหตุสมผล
    "ขอย้ำว่าการจัดหาวัคซีนนี้ที่ต้องให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อเข้ามานั้น เป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทผู้ผลิตที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศผู้ซื้อวัคซีนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการตามแนวทางของการได้รับทะเบียนแบบฉุกเฉิน และเป็นแนวทางของผู้ผลิตทั่วโลก” ศ.ดร.นพ.เฉลิมกล่าว
    นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 เปิดเผยว่า คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติมีมติอนุญาตให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป้าหมายเพื่อให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เช่น เดือนพฤษภาคม ที่มีเพียงวัคซีนซิโนแวค เพื่อช่วยลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ จึงต้องคลายล็อกเพื่อให้มีวัคซีนฉีดสำหรับผู้สูงอายุ
    สำหรับวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ทั้งนี้ล็อตแรกในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม จะมีวัคซีนแอสตร้าฯ ทยอยออกมา 16 ล้านโดส ดังนั้น ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่จองในระบบหมอพร้อม จะได้รับวัคซีนของแอสตร้าฯ
         กล่าวโดยสรุปคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นหลัก ยกเว้นในช่วงที่ไม่มีวัคซีนชนิดนี้และมีแต่วัคซีนซิโนแวค หรือแพทย์ที่ดูแลใช้ดุลพินิจว่าผู้สูงอายุคนนี้สมควรได้รับวัคซีนซิโนแวค
    “ทำความเข้าใจฉีดซิโนแวคในคนอายุเกิน 60 ปี คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติอนุญาตให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ เป้าหมายเพื่อให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เช่นในเดือนพฤษภาคมจะมีแต่วัคซีนซิโนแวค จะช่วยลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุได้ จึงต้องคลายล็อกเพื่อให้มีวัคซีนฉีดสำหรับผู้สูงอายุ"
    นพ.โสภณเผยว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ผู้ที่จองในระบบหมอพร้อม ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคจะได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เพราะเราจะมีวัคซีนชนิดนี้ถึง 16,000,000 โดส ในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม กล่าวโดยสรุปคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ยกเว้นในช่วงที่ไม่มีวัคซีนชนิดนี้ และมีแต่ซิโนแวค หรือแพทย์ที่ดูแลใช้ดุลพินิจว่าผู้สูงอายุคนนี้สมควรได้รับวัคซีนซิโนแวค
    ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสายพันธุ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันว่า ถ้าเรามองย้อนไปถึงการระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว สายพันธุ์ของการระบาดปีที่แล้วเป็นสายพันธุ์ที่มาจากอู่ฮั่น จนกระทั่งมาระบาดที่สมุทรสาคร ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดที่สมุทรสาครเป็นสายพันธุ์ที่ได้มาจากพม่า สายพันธุ์นี้เหมือนกับสายพันธุ์ทั่วไปที่ระบาดทั่วโลก แต่การระบาดครั้งใหม่ปลายเดือนมีนาคม สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ปริมาณไวรัสในลำคอของผู้ป่วยจะมีจำนวนมาก และไวรัสนี้ยังติดต่อง่ายกว่าไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 1.7 เท่า ทำให้ผู้ป่วยของเรายอดสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดมา
    นพ.ยงกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้จะเห็นว่าอัตราการสูญเสียชีวิตค่อนข้างมากถ้าเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา หรือถ้าพูดเฉลี่ยก็คือ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นการป้องกันที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ก็จะลดการแพร่กระจาย และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อได้น้อยลง ดังนั้นการกำหนดระยะห่างสำคัญมาก
    "สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะมาช่วยเราได้เร็วขึ้นในการลดการระบาดคือการให้วัคซีน การฉีดวัคซีนถามว่ามีความเสี่ยงไหม ก็ตอบว่ามีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงนี้ถ้าเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้ การที่เป็นโควิดแล้วมีโอกาสเสียชีวิตอย่างน้อย ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ กับการฉีดวัคซีนแล้วโอกาสที่จะเกิดอันตรายจากวัคซีน อาจจะเป็นหนึ่งในหลายๆ แสนหรือหลายล้าน เพราะฉะนั้นความเสี่ยงกับประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีนแล้ว ห่างเป็นพันเท่า การแพ้วัคซีนที่เราเห็นเป็นข่าวส่วนใหญ่เป็นอาการเพียงชั่วคราว จะเห็นว่าในประเทศเรายังไม่มีผู้ใดที่เสียชีวิตที่เกิดจากวัคซีน ผมเคยเปรียบเทียบเสมอว่าความเสี่ยงในการข้ามถนนของผม อาจจะมากกว่าความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนด้วยซ้ำ เราจึงกำหนดให้ทุกคนขอให้มาฉีดวัคซีน ซึ่งเรามีมาตรการในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยการให้ฉีดที่โรงพยาบาล” นพ.ยงกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"