พรรคแห่งชาติสกอตชนะเลือกตั้ง ปลุกประชามติแยกเอกราชจากอังกฤษ


เพิ่มเพื่อน    

นายกรัฐมนตรีหญิง นิโคลา สเตอร์เจียน นำพรรคแห่งชาติสกอตคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติถ่ายโอนอำนาจของสกอตแลนด์ แม้ไม่ถึงขั้นครองเสียงข้างมากเกินครึ่ง แต่จุดกระแสเรียกร้องการจัดลงประชามติชาวสกอตเรื่องแยกเอกราชจากสหราชอาณาจักรรอบที่ 2 ขณะรัฐบาลอังกฤษยืนกรานคัดค้าน

นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ นำพรรคแห่งชาติสกอตชนะเลือกตั้ง (Photo by Andrew Milligan - Pool/Getty Images)

    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหราชอาณาจักรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ปรากฏผลว่า การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของสกอตแลนด์นั้น พรรคแห่งชาติสกอต (เอสเอ็นพี) ของสเตอร์เจียน ที่หาเสียงเลือกตั้งด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะจัดการลงประชามติแยกเอกราชอีกครั้ง กวาดที่นั่ง ส.ส.ได้ 64 ที่นั่งจากสภา 129 ที่นั่ง ขาดเพียง 1 ที่นั่งก็จะได้ครองเสียงข้างมาก ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยมสกอตได้ ส.ส.มากเป็นอันดับสองที่ 31 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคแรงงานสกอต 22 ที่นั่ง พรรคกรีนสกอต 8 ที่นั่ง และพรรคเสรีประชาธิปไตย 4 ที่นั่ง

    ผลคะแนนที่ออกมาเมื่อวันเสาร์ ซึ่งเอสเอ็นพีชนะเป็นสมัยที่ 4 และได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้นายกฯ สเตอร์เจียนประกาศว่า ชาวสกอตมอบอำนาจให้รัฐบาลของนางจัดประชามติแยกเอกราชครั้งที่ 2 หลังจากประชามติครั้งแรกเมื่อปี 2557 นั้นเสียงส่วนใหญ่โหวต "ไม่"

    ในสุนทรพจน์ประกาศชยัชนะ สเตอร์เจียนกล่าวว่า ตอนนี้รัฐสภาอังกฤษ "ไม่มีเหตุผลที่เป็นประชาธิปไตย" ที่จะปฏิเสธการจัดประชามติครั้งที่ 2 "ดิฉันหวังว่าจะได้นำสกอตแลนด์แยกเอกราช" นางกล่าวกับบีบีซีเมื่อวันอาทิตย์ และว่า คงเป็นเรื่องเหลวไหลและอุกอาจอย่างสิ้นเชิงหากประชามติจะนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายในศาลสูงสุด หากรัฐสภาอังกฤษขัดขวาง และสภาสกอตผ่านกฎหมายของตนเอง

    รัฐบาลอังกฤษยืนกรานคัดค้านการลงประชามติอีกครั้ง และนายกฯ บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า ผลประชามติเมื่อปี 2557 ที่ชาวสกอต 55% ลงมติไม่แยกเอกราชนั้นควรเป็นประชามติครั้งเดียวของคนรุ่นนี้ 

    เขากล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า เป้าหมายของเอสเอ็นพีที่จะจัดประชามติครั้งที่ 2 นั้น "ไร้ความรับผิดชอบและไม่ยั้งคิด" ขณะที่เขาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสเตอร์เจียนขอร้องให้เธอ "ทำงานร่วมกัน" ใน "ทีมสหราชอาณาจักร" 

    ความดึงดันของรัฐบาลสกอตและการคัดค้านอย่างหัวชนฝาของอังกฤษอาจนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองและทางกฎหมายที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลอังกฤษ ลดทอนความสำคัญของประเด็นนี้ โดยย้ำผ่านคำให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า สำหรับผู้นำในสหราชอาณาจักรทุกคน รวมถึงสเตอร์เจียน สิ่งสำคัญอันดับแรกในตอนนี้คือการฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด และว่า ประเทศนี้ไม่มีเวลาสำหรับการสนทนาที่ยืดเยื้อเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

    โกฟชี้ด้วยว่า ข้อเท็จจริงที่เอสเอ็นพีไม่ได้ที่นั่งข้างมากในสภาถ่ายโอนอำนาจ เหมือนผลการเลือกตั้งก่อนการจัดประชามติครั้งแรกในปี 2557 ได้สร้าง "ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"