สายพันธุ์อินเดียโผล! พบในสถานกักตัวแม่-ลูกมาจากปากีฯ/ศบค.สั่งเฝ้าระวังสูงสุด


เพิ่มเพื่อน    

 ติดเชื้อใหม่ 1,630 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 คน สายพันธุ์อินเดียโผล่ไทย! พบในสถานกักตัวเป็นหญิงไทยและลูกจากปากีสถาน ศบค.สั่งเฝ้าระวังสูงสุด บัวแก้วระงับ 3 ประเทศเข้าไทยสกัดกลายพันธุ์ กทม.ยันเตียงพอ คาดอีก 2 สัปดาห์ผู้ป่วยลดลง หลังพีกสุดวันละ 500 เร่งปูพรมตรวจคลัสเตอร์ไข่แดงให้เสร็จใน 3 วัน สธ.เผย 71 จังหวัดระบาดน้อยลง ย้ำคุมเข้มชายแดนป้องแรงงานต่างด้าว “บิ๊กตู่” เปลี่ยนใช้ตึกไทยคู่ฟ้าประชุม ครม.
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,630 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,622 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,321 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 301 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 85,005 ราย หายป่วยสะสม 55,208 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 1,603 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,376 ราย อาการหนัก 1,151 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 389 ราย
    มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 22 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 13 ราย ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดคือ 30 ปี และมากสุด 92 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว โดยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 13 ราย นอกจากนี้ยังมีเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ไต และมีผู้ป่วยติดเตียง ขณะเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตถึง 2 รายที่ทราบผลว่าติดเชื้อวันเดียวกันกับที่เสียชีวิต และมีถึง 7 รายที่เสียชีวิตในสัปดาห์เดียวหลังจากทราบผล จึงขอเน้นย้ำใครมีอาการไข้และความเสี่ยงขอให้เข้าระบบคัดกรองโดยเร็ว เพื่อให้มารักษาก่อนที่อาการจะหนัก อย่างไรก็ตาม ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 421 ราย
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานว่า มีหญิงไทย อายุ 42 ปี ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ มีภูมิลำเนาอยู่ปากีสถานเดินทางมาพร้อมลูก 3 คน อายุ 4 ปี อายุ 6 ปี และอายุ 8 ปี กลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. โดยมีการแวะพักเครื่องที่มุมไบ อินเดีย และเข้ามาอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ โดยหญิงคนดังกล่าวพักอยู่ห้องเดียวกับลูกวัย 4 ขวบ ส่วนลูกอีก 2 คน พักอีกห้องหนึ่ง โดยแม่และลูกวัย 4 ปี ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย อีกทั้งยังมีข้อมูลว่าขณะนี้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียมีการแพร่ระบาดไปที่ปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล รวมไปถึงอังกฤษ เยอรมนี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น บาห์เรน ที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ ทั้งที่กลายพันธุ์แล้วและเชื้อที่อาจพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่ในประเทศไทย จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์สูงสุด นอกจากนี้ ขอให้ติดตามประกาศของกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องการชะลอใบอนุญาตเข้าประเทศเพิ่มเติมหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้เราชะลอใบอนุญาตการเดินทางของคนต่างชาติที่มาจากอินเดียไปแล้ว ส่วนเที่ยวบินจากอินเดียที่จะเดินทางมาไทยในเดือน พ.ค.นั้น มีแต่คนไทย และจะเฝ้าระวังอย่างเต็มที่  
    ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการหารือและเน้นย้ำฝ่ายปกครองขอให้กำกับติดตามป้องกันการลักลอบเข้าประเทศผ่านชายแดน โดยเน้นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทราบว่าทำงานหนักอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยิ่งต้องเข้มเป็นพิเศษ และขอความร่วมมือคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศขอให้เข้าสู่ระบบ ทำตามมาตรฐาน ซึ่งคนที่ลักลอบเข้ามาอาจไม่ให้ความร่วมมือ จึงขอให้ประชาชน ผู้นำชุมชน สื่อมวลชนท้องถิ่นช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นการขนส่งแรงงานต่างด้าวขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
ติดโควิดครบทั้ง 50 เขต
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑล วันที่ 10 พ.ค. มีถึง 1,061 ราย หรือเกินครึ่งของผู้ติดเชื้อในวันเดียวกัน ในส่วนของ กทม.พบคลัสเตอร์สำคัญที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังคือ ซอยเพชรบุรี 5 และ 6 เขตราชเทวี และอาคารสำนักงานให้เช่าเขตยานนาวา ขณะเดียวกัน พบผู้ติดเชื้อใน กทม.ครบทั้งหมด 50 เขตแล้ว โดยการตรวจเชิงรุกเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ตรวจไปทั้งสิ้น 9,270 ราย พบเชื้อ 258 ราย จึงจะต้องมีการระดมตรวจเชิงรุกให้มากขึ้นและเร็วที่สุด โดยแผนการตรวจหาเชื้อนั้น ที่เขตคลองเตย บ่อนไก่ แฟลตดินแดง เขตดุสิต ธูปะเตมีย์ จะตรวจต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ได้ประมาณวันละหมื่นราย
          เมื่อถามว่า มีผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามเพียงแค่ 10 วันจริงหรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การพบผู้ติดเชื้อมีมาตรฐาน ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลตามอาการ 14 วัน ถึงจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน แต่เดือน เม.ย.-พ.ค. เรามีปัญหาเรื่องเตียง จึงอนุญาตให้กลับได้หากอยู่ครบ 10 วัน แต่ไม่ได้หมายความว่าหายแล้ว เพราะเราจะขอให้ผู้ที่เดินทางกลับบ้านต้องแยกกักตัวอยู่อีก 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่แพร่เชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีประชาชนกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลเอกชนนั้น ยืนยันว่าคนไทยทุกคนจะได้รับสิทธิ์ฉีดวัคซีนไม่ว่าจะลงทะเบียนที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  
    ต่อมาเวลา 13.15 น. มีรายการ NBT ร่วมใจ สู้ภัยโควิด-19@ทำเนียบรัฐบาล โดย พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดและแผนการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้พยายามที่จะตรวจให้ได้วันละ 1 หมื่นคน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงไข่แดงคลัสเตอร์ใหญ่ ที่พบการติดเชื้อให้เสร็จภายใน 3 วัน ส่วนพื้นที่ไข่ขาว จะเฝ้าระวังเชิงรุก สุ่มเก็บตัวอย่าง ส่วนกลุ่มเปราะบางนั้น สำนักอนามัยไปสวอปให้ถึงที่บ้าน ทั้งนี้ จะเร่งปูพรมเขตต่างๆ ที่มีการระบาดอย่างเร่งด่วน
    นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ขอฝากประชาชน หากมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์เอราวัณติดต่อไปแจ้งว่าท่านมีผลเป็นบวก ขอกรุณาอย่าปฏิเสธโรงพยาบาลสนาม สามารถอยู่และรักษาตัวได้ จนถึงขณะนี้ยังมีผู้ปฏิเสธอยู่ไม่ถึง 5% จากก่อนหน้านี้ที่มีถึง 10% ขอให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เตียงใน Hospilal และโรงพยาบาลสนาม 16,871 เตียง ตอนนี้ใช้ไป 50% เหลือประมาณ 8,000 เตียง ทั้งนี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมาเตียงที่หายากคือ เตียงเหลือง หรือผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ และต้องใช้เวลา หลังจากนี้จะมีการเปิดโรงพยาบาลสนามของกระทรวงสาธารณสุขที่เมืองทองธานี 5,200 เตียง จะช่วยให้ กทม.ผ่อนคลายการรับผู้ป่วยสีเหลืองได้พอสมควร
    เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.เฉลี่ย 500-1000 คนต่อวัน จะรับมือกับสถานการณ์ในอีก 2 สัปดาห์ได้หรือไม่ นพ.สุขสันต์ระบุว่า คาดว่าหากมีการคัดกรอง และฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง จะมีผู้ป่วยพีกสุด เฉลี่ยวันละ 500 คน และจะน้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับมีผู้หายป่วยออกมาจากโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เชื่อว่ารับมือไหว
ย้ายที่ประชุม ครม.อีก
    ผู้สื่อข่าวรายงานประจำทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 พ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุม ครม.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ไปยังกระทรวงต่างๆ โดยเปลี่ยนสถานที่จากเดิมที่ใช้ตึกภักดีบดินทร์เป็นที่ประชุม เพื่อลดจำนวนคนที่เข้าร่วมประชุม ให้เฉพาะเท่าที่จำเป็นตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ การเปลี่ยนสถานที่ประชุมนับตั้งแต่พบบุคลากรที่ปฏิบัติงานในทำเนียบฯ หลายรายติดเชื้อโควิด-19 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเปลี่ยนจากตึกบัญชาการ 1 มาใช้ตึกภักดีบดินทร์ และสัปดาห์นี้เปลี่ยนมาใช้ตึกไทยคู่ฟ้าเป็นสถานที่ประชุมแทน
    ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บัญชี “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” และจะรับมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า
     ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อใหม่รวม 1,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของการติดเชื้อทั้งหมด แนวโน้มการระบาดชะลอตัว ยังพบผู้ติดเชื้อในชุมชน เช่น คลองเตย สี่แยกมหานาค ปากคลองตลาด แฟลตดินแดง บางแคบริเวณห้างสรรพสินค้าและชุมชนใกล้เคียง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งคัดกรองนำผู้ติดเชื้อออกมาดูแลและกักกันกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 9 พ.ค. คัดกรองไปแล้ว 113,642 ราย พบการติดเชื้อร้อยละ 2.84 ส่วนปริมณฑลยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง แนวโน้มการระบาดของโรคทรงตัว เน้นคัดกรองเชิงรุกในชุมชนและสถานที่เสี่ยง ที่อาจมีแรงงานต่างด้าวลักลอบอาศัย พร้อมมอบกรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพหารูปแบบรองรับผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมาก เช่น ในกลุ่มสีเขียวให้มีระบบกักตัวในชุมชน อาจใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน โรงเรียน เป็นพื้นที่กักตัว
    “ในภูมิภาค 71 จังหวัด การระบาดมีแนวโน้มลดลง วันนี้พบผู้ติดเชื้อรวม 622 ราย ได้กำชับให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดประเทศเพื่อนบ้านคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งประสานฝ่ายปกครองกำกับ ติดตาม ป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ และเพิ่มการฉีดวัคซีนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่าน ตำรวจ และทหาร ที่ทำหน้าที่จับกุมผู้ลักลอบผ่านช่องทางธรรมชาติ ขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแสหากพบการขนส่งแรงงานลักลอบเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในประเทศ” นพ.เกียรติภูมิระบุ
    ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณียังพบผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 1,500-2,000 รายต่อวัน ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องทรัพยากร ว่าการระบาดส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่ กทม. ขณะนี้ สธ.ได้เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาตามอำนาจหน้าที่ โดยจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วย แก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเตียง ต่อมาเมื่อมีรายงานปัญหาว่า มีผู้ป่วยแสดงอาการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อาจกระทบกับระบบโรงพยาบาล (รพ.) ปกติ สธ.จึงได้ตั้ง รพ.บุษราคัม ที่อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง รองรับเบื้องต้น 1,200 เตียง แต่ขยายได้ถึง 5,000 เตียง ใช้ความร่วมมือจากแพทย์จากทั่วประเทศ โดยจะไม่กระทบกับงานของหมอที่รักษาผู้ป่วยอยู่แล้ว เพื่อช่วยให้ รพ.ในกรุงเทพฯ รับผิดชอบผู้ป่วยอาการหนักโดยเฉพาะ ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นนโยบายว่าจะต้องสำรองใช้ไม่ขาด พร่องไปต้องเอามาเติม องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เริ่มผลิตยานี้ในประเทศไทยได้แล้ว
ยกทีม สธ.จิ๋วแต่แจ๋ว
    “ผมอยากให้ทุกคนร่วมกันให้กำลังใจทำคนงาน ผมและผู้บริหาร สธ. ทุกวันนี้ต่างให้กำลังใจกันและกัน โดยฉพาะ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เห็นจิ๋วแบบนั้น แต่แจ๋วมาก ทำงานบนความกดดัน แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่บั่นทอนกำลังใจตัวเอง แต่ในหลายครั้งที่คุณหมอออกมาพูด อธิบายในข้อโต้แย้งต่างๆ ก็เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนอย่างถูกต้อง คุณหมอมีความหวังดี และเราต้องให้กำลังใจ ฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน” นายอนุทินกล่าว และว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด
    ในช่วงบ่าย นายอนุทินพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สธ. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจเยี่ยม รพ.บุษราคัม สถานที่ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง
    ที่โรงพยาบาลราชวิถี กทม. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ติดตามความคืบหน้าการเปิดหอไอซียูส่วนต่อขยายรองรับผู้ป่วยวิกฤติโควิด-19
    โดยนายสาธิตให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ได้มอบให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นต้นแบบในการขยายเตียงไอซียู ได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี จำกัด มหาชน ออกแบบและก่อสร้างหอผู้ป่วยไอซียูส่วนขยาย ขนาด 10 เตียง โดยใช้เวลาก่อสร้างและจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยอาการวิกฤติ อาทิ เครื่องช่วยหายใจการไหลเวียนออกซิเจนสูง เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เป็นต้น ภายในเวลารวดเร็ว 7-10 วัน พร้อมระดมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานในหอผู้ป่วยไอซียู ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำงาน เปิดให้บริการวันที่ 11 พ.ค.นี้
    นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถีมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 62 เตียง ใช้ไปแล้ว 58 เตียง เฉพาะเตียงไอซียูมีอยู่ 21 เตียง ใช้ไปแล้ว 18 เตียง และการเพิ่มเตียงไอซียูส่วนต่อขยายครั้งนี้จะช่วยให้การหมุนเวียนการใช้เตียงทำได้ดีขึ้น ซึ่งมีระบบการทำงานเหมือนไอซียูปกติ  
    วันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้ให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมบูรณาการความร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช.ดำเนินการขยายระยะเวลาการตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ และประชาชนทั่วไปตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. โดยในแต่ละวันตรวจได้ไม่เกิน 3,000 คน รอบเช้า 1,500 คน และรอบบ่าย 1,500 คน ให้บริการตรวจไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการตรวจสามารถลงทะเบียนจองคิวตรวจได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php
        ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจาก ศบค.พบว่ามีผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย B 1617.1 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (ซีโออี) ให้ชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าจะระงับการออกซีโออีให้ชาวต่างชาติที่มาจากประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.นี้ แต่ไม่ได้ห้ามคนไทย ดังนั้นคนไทยยังสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"