วัคซีนปลอดภัยเหมือนใส่ชุดเกราะ


เพิ่มเพื่อน    

 "อนุทิน" กำชับสร้างความมั่นใจประชาชนที่จะรับวัคซีน ยืนยันคำนึงถึงความปลอดภัยเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรค ภาครัฐต้องให้คนไทยใส่ชุดเกราะ ผู้ว่าฯ กทม.ตรวจความพร้อมสถานที่ต้นแบบให้บริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลใน กทม.จ่อทดลองระบบวันที่ 12-14 พ.ค. "เพื่อไทย" ซัดรัฐบาลสอบตกเหตุคนลงทะเบียนฉีดวัคซีนต่ำ ชง 4 แนวทางแก้ไข หวั่นหาวัคซีน 100 ล้านโดสแค่ภาพฝัน  

    เมื่อวันจันทร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างนำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ว่างานที่ทางกระทรวงต้องเร่งมือคือเรื่องของการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นส่วนสำคัญในแผนการควบคุมโรค ขอย้ำว่าวัคซีนที่นำมาบริการให้แก่ประชาชนนั้น ได้รับการพิจารณามาอย่างดี ถี่ถ้วน รอบคอบ ผ่านคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
    "ขณะที่เรื่องผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ทางกระทรวงได้วางแผนแก้ไขไว้แล้ว เช่น หลังรับบริการ ต้องพักรอดูอาการ 30 นาที จึงจะเดินทางออกจากจุดรับบริการได้ นอกจากนั้นยังมีช่องให้กรอกข้อมูลในไลน์หมอพร้อม เพื่อให้ภาครัฐได้ติดตามอาการ ทุกวันนี้มีรายงานเรื่องอาการไม่พึงประสงค์เข้ามาบ้าง แต่ก็น้อยมาก"
    นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ประโยชน์คือ ป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่สำคัญมากๆ คือ ผู้ได้รับวัคซีนจะมีโอกาสป่วยรุนแรง ไปถึงเสียชีวิตน้อยมากๆ วัคซีนเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรค ซึ่งภาครัฐต้องการให้คนไทยใส่ชุดเกราะ จากนี้ต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งต้องอาศัยแรงพี่น้อง อสม.และบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกท่านร่วมด้วยช่วยกัน
    รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ส่วนการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อมในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง นอกจากจะลงทะเบียนผ่านไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันแล้ว ยังสามารถติดต่อได้เองที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและ อสม. ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ขยายการฉีดวัคซีนในวัยแรงงาน โดยมีสํานักงานประกันสังคม และจังหวัดรวบรวมรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนส่งมายัง สธ.เพื่อกระจายการฉีดวัคซีนต่อไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพุธที่ 12 พ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการตรวจเยี่ยมและติดตามการทดลองระบบการฉีดวัคซีนก่อนให้บริการประชาชน ที่จุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในช่วงบ่ายด้วย
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศ ขณะนี้จัดสรรวัคซีนไปแล้ว 2,427,452 โดส จำนวนการฉีดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ. - 9 พ.ค.2564 รวม 1,809,894 โดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,296,440 ราย วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 513,454 ราย
    ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. เดินทางมาตรวจความพร้อมเอ็มซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ที่ใช้เป็นสถานที่ต้นแบบให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดภายนอกสถานพยาบาลแก่ประชาชนของ กทม.ในพื้นที่เขตบางกะปิ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าไทย และเดอะมอลล์ กรุ๊ป
ทดลองระบบฉีดวัคซีน 12-14 พ.ค.
           พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า วันนี้ กทม.ด้วยความช่วยเหลือจากหอการค้าไทย ผู้ประกอบการภาคเอกชน และจากทีมแพทย์จาก รพ.ต่างๆ ได้จัดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายนอกสถานพยาบาลแก่ประชาชนของ กทม.ทั้งหมด 25 จุด โดยเริ่มเรก 14 จุด ภายในวันที่ 15 พ.ค. และเพิ่มอีก 11 จุด หลังวันที่ 25 พ.ค. โดยจะเริ่มทดลองระบบระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค. เริ่มจากศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์-จามจุรีสแควร์, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว, ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เพื่อรองรับการใช้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนที่พักอาศัยและทำงานใน กทม.อย่างทั่วถึงภายใน 3 เดือน
    "เบื้องต้น กทม.จะเริ่มจากกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ครู-อาจารย์ในสถานศึกษาในเขตพื้นที่ของ กทม. 1.6 แสนคน กลุ่มผู้ขับรถขนส่งบริการสาธารณะ กลุ่มขนส่งเดลิเวอรี่ กลุ่มพนักงานทำความสะอาด พ่อค้าแม่ค้าในตลาด พนักงานศูนย์การค้า พนักงานโรงงาน ฯลฯ แต่ส่วนกลุ่มไหนจะได้รับการฉีดก่อน ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล คาดว่าภายในวันศุกร์ที่ 14 พ.ค. จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
    นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เสนอแนวทางคือ 1.ให้สิทธิ์ประชาชนอายุต่ำกว่า 60 ปี จองคิวฉีดวัคซีนได้ทันที โดยไม่ต้องรอจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม เพราะจะทำให้ลำดับการรับวัคซีนเกิดขึ้นหลังผู้ที่ได้สิทธิ์ที่อายุ เกิน 60 และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง และ 2.ในพื้นที่เสี่ยงระบาด ให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนรับวัคซีนได้ทันที และกำหนดให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมเพื่อติดตามอาการและรับวัคซีนเข็มที่2  
    น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังรัฐบาลเปิดให้ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ลงทะเบียนฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม จนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้ลงทะเบียนเพียง 1.55 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมากจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 16 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสอบตกในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีน บกพร่องต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่แท้จริงให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ
    ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ควรเร่งดำเนินการดังนี้ 1.ปรับเปลี่ยนแผนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้บุคคลทั่วไปที่สมัครใจและมีความพร้อม 2.ปรับให้กลุ่มอาชีพบริการ ซึ่งต้องสัมพันธ์กับการพบปะผู้คนในเมืองได้ฉีดวัคซีนก่อน เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง, คนขับรถตู้, ตุ๊กๆ, พนักงานส่งพัสดุหรืออาหารเดลิเวอรี่ ฯลฯ 3.เร่งสืบสวนหาสาเหตุอาการข้างเคียงของวัคซีน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างชัดเจน 4.สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน หากเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน รัฐบาลควรจ่ายเงินชดเชยที่สูง โดยนำกรณีของต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น ในมาเลเซีย หากเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน รัฐบาลจ่ายชดเชย 3.7 ล้านบาท, สิงคโปร์จ่าย 5.25 ล้านบาท แต่ไทยจ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท
หวั่น 100 ล้านโดสแค่ภาพฝัน
    โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาของการระบาด รัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนประเทศได้ในทุกด้าน ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหา การรับมือ หรือการป้องกันการระบาด จึงไม่แปลกใจหากจะมีประชาชนทยอยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อฉีดวัคซีน เพราะต้องการเลือกยี่ห้อวัคซีนเอง การตั้งเป้าจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ถ้าทำได้ก็จะดีต่อคนไทย แต่ผลงานโดดเด่นของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมา อดคิดไม่ได้ว่าเป้าหมายวัคซีนจำนวนนั้นอาจจะเป็นแค่ภาพฝันหรือไม่ ทางที่ดีควรบริหารสิ่งที่มีให้ดีก่อนฝันไปไกลแล้วไปไม่ถึงจะดีกว่า
            นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 3 ถือเป็นวิกฤติของชาติ การทำงานของรัฐเป็นการทำงานแบบวิ่งตามแก้ปัญหาการระบาดมาตลอด เห็นได้จากการจัดการวัคซีน ที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างออกมาส่งสัญญาณเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์เร่งจัดหาวัคซีนเพื่อให้บริการประชาชน แต่กว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้องก็ใช้เวลานานมาก ส่งผลให้การฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็นไปด้วยความล่าช้า ถึงวันนี้รัฐสามารถจัดการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนได้เพียง 1.7 ล้านคนเท่านั้น มีผู้ติดเชื้อใกล้ 1 แสนคนแล้ว และมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสเพิ่มทุกวัน
          "ต้องตำหนิการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อรัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลกจะให้รัฐเป็นผู้นำเข้าเท่านั้น เมื่อเอกชนมีความพร้อมทั้งงบประมาณและบุคลากร รัฐต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานเพื่อให้ได้วัคซีนมา รัฐไม่ควรหวงอำนาจและใจแคบ ผูกขาดการจัดซื้อวัคซีนแต่เพียงผู้เดียว ในภาวะวิกฤติเช่นนี้พลเอกประยุทธ์ไม่ควรเอาชีวิตประชาชนมาเสี่ยงกับความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล" นพ.ชลน่านกล่าว
    นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเสนอแนะให้รัฐบาล โดยเฉพาะ กทม.ดำเนินการตาม ดังนี้ 1.รัฐควรนำผู้ป่วยออกไปอยู่ที่โรงพยาบาล หรือสถานที่รักษา ขณะที่กลุ่มเสี่ยงก็ควรคัดออกจากชุมชนไปเลย ให้ไปอยูในสถานที่ที่จัดให้ 14 วัน เพราะไม่เช่นนั้น เขาก็ยังต้องดำเนินชีวิต ออกไปทำงาน ฯลฯ 2.กทม.ควรให้อำนาจกับผู้อำนวยการเขตในการบูรณาการในแต่ละเขต แล้วประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจะล็อกดาวน์ในเขตต่างๆ รวมถึงดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น อำนาจในการฉีดวัคซีน ฯลฯ ให้อำนาจเขาจัดการเลยโดยไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่ กทม.เท่านั้น 3.รัฐ โดย กทม.ควรกำหนดการฉีดวัคซีน โดยแผนการดำเนินการต้องชัดเจน 4.ถ้าพบเจอผู้ติดเชื้อในชุมชนใดควรปิดกั้นชุมชนไปเลย เช่น คลองเตย เมื่อเจอแล้วก็ห้ามบุคคลเดินทางเข้า-ออก แล้วคัดแยกผู้ป่วยให้รวดเร็ว ตอนนี้เขตราชเทวี ห้วยขวาง และวังทองหลาง มีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่าต้องการปิดชุมชน
    นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 150-200 ล้านโดส ก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ เพราะประชาชนยังไม่ทราบเลยว่าวัคซีนดังกล่าวจะมาถึงเมื่อไหร่ และตนเองจะได้รับการฉีดเมื่อไหร่ จะกระจายการฉีดวัคซีนได้อย่างน้อยวันละ 5 แสนโดสได้อย่างไร เพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทันสิ้นปีเพื่อจะเปิดประเทศและฟื้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังไม่แน่ใจในคุณภาพของวัคซีนที่เลือกเองไม่ได้ และสงสัยอีกว่าทำไมไม่ดำเนินการสั่งวัคซีนแต่แรก ต้องถูกตำหนิและมีปัญหาก่อนถึงคิดดำเนินการ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์มาตลอด ที่ขาดวิสัยทัศน์ไม่เคยคิดล่วงหน้า ต้องถูกตำหนิอย่างรุนแรงเสียก่อนถึงจะคิดแก้ไข.

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"