ศึกษาให้ครบสองด้าน ก่อนเชียร์-ค้าน CPTPP


เพิ่มเพื่อน    

       สัปดาห์ที่ผ่านมาโซเชียลร้อนฉ่า จากกรณีภาคประชาสังคมเผยแพร่ข้อมูลคณะรัฐมนตรี (ครม.) แอบมุบมิบอนุมัติให้ไทยไปเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)!!!!

            ถัดจากนั้นอีกวันฟากรัฐบาลจึงออกมาแก้ข่าว ยืนยันไม่ได้มีการกดปุ่มไฟเขียวให้ไปเจรจาแต่อย่างใด ความจริงคือเป็นเพียงการขอมติจากที่ประชุม ครม.ให้อนุมัติขยายระยะเวลาการศึกษาข้อตกลงดังกล่าวของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ออกไปอีก 50 วัน ถ้าดีดลูกคิดจะครบกำหนดตามคำขอช่วงต้นเดือน ก.ค.

                “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธาน กนศ. กล่าวถึงไทม์ไลน์ในเรื่องที่เกิดขึ้นว่า จากนี้ไปก็ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำต่อไปอีก 4 ขั้นตอน 1.เร่งพิจารณารายละเอียดต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 มิ.ย. 2.ครม.พิจารณาข้อเสนอและความเห็นของ กนศ.ในเรื่องซีพีทีพีพี 3.ถ้าเห็นชอบให้มีการเจรจาก็จะเจรจาภายใต้การรับรู้ว่ามีประเด็นที่เป็นปัญหาที่ใด และมีมาตรการรับมือในการเจรจาอย่างไร และ 4.หากสุดท้ายเจรจาแล้วเสร็จก็ต้องนำผลการเจรจาเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาต่อไป

            อย่างไรก็ตาม ข้อตกลง “ซีพีทีพีพี” นั้น เกิดเป็นประเด็นทางสังคม นำสู่การถกเถียงกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ในสภาผู้แทนราษฎรก็มีการตั้งญัตตินี่ขึ้น มี ส.ส.อภิปรายจำนวนหนึ่ง แสดงความกังวลที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลงนี้ โดยเฉพาะผลกระทบกับพี่น้องเกษตรกร ว่ากันว่าถ้าไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไปได้ รวมถึงปัญหาด้านสิทธิบัตรยา และอื่นๆ อีกด้วย

            จนเป็นที่มาให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบขึ้น ซึ่งก็ได้มีการศึกษา และส่งผลการศึกษาไปให้รัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

            พอสรุปใจความสำคัญว่า ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง รัฐบาลจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทั้งด้านเศรษฐกิจ เกษตร และสาธารณสุข และต้องให้ความรู้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงข้อตกลงต่างๆ นอกจากนี้รัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง

            ผลการศึกษาของคณะ กมธ.ยังระบุด้วยว่า การเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะทำให้เศรษฐกิจเสรีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม หมายรวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ ผลกระทบหนึ่งคือ ธุรกิจรายย่อย รายเล็กของไทยจะเสียเปรียบธุรกิจรายใหญ่ เพราะมีความสามารถในการแข่งขันที่น้อยกว่า แต่จากการศึกษาโดยละเอียดแล้ว พบว่า ไทยสามารถจัดทำข้อสงวนกรณีธุรกิจรายย่อยได้ และสามารถเจรจาระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นๆ ปรับตัวได้ด้วย

            ส่วนข้อกังวลว่า เมื่อประเทศของเราเข้าร่วมซีพีทีพีพีอาจจะบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาไม่ได้เหมือนเดิมนั้น จากการศึกษาของคณะ กมธ.พบว่ายังสามารถใช้ตามข้อกำหนดของ WTO เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้ทันทีตามหลักที่ WTO กำหนด

            ทั้งนี้ คณะ กมธ.ยังพบว่า ปัจจุบันระบบสิทธิบัตรอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ส่วนการขึ้นทะเบียนตำรับยาอยู่ในความรับผิดชอบของ อย. กระทรวงสาธารณสุข โดยที่ทั้ง 2 ส่วนไม่ได้มีการเชื่อมโยงกระบวนการกันเลย ซึ่งตัวบทของ CPTPP อาจทำให้เกิดการชะลอการเข้าสู่ตลาดของยาสามัญได้ ดังนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ อย.จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

            สำหรับปัญหาเกี่ยวกับการเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและกระทบกระเทือนจิตใจคนไทย เพราะประเทศเราคือประเทศเกษตรกรรม

            ครั้งหนึ่ง “จิราพร สินธุไพร” ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เคยอภิปรายถึงความกังวลนี้ไว้กลางที่ประชุมสภา ก่อนมีการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญฯ

            “เราต้องวิเคราะห์ให้ดีในเรื่องที่ไทยจะต้องเสียไป อย่างเช่น ความมั่นคงทางด้านอาหารจากการที่ไทยต้องเข้าร่วมอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ (ยูปอฟ 1991) ซึ่งประเด็นนี้หลายภาคส่วนยังคงแสดงความเป็นห่วง อนุสัญญายูปอฟไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ ดังนั้นจึงเหมือนเป็นการบังคับเกษตรกรต้องกลับมาซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้งเพื่อนำไปปลูกใช่หรือไม่”

            ทางคณะ กมธ.ฯ ได้หยิบประเด็นนี้มาพิจารณาด้วย ต่อมา “เพชรชมพู กิจบูรณะ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะ กมธ. เปิดเผยว่า 1.พันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครอง โดยให้สิทธิกับนักปรับปรุงพันธุ์ ที่ลงแรง ลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ 2.มาตรา 15 (2) ของอนุสัญญายูปอฟมีข้อยกเว้นสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ไว้ โดยให้สิทธิเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูต่อไปในจำนวนที่เหมาะสม 3.ข้อยกเว้นสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์เป็นไปตาม 2 เงื่อนไข คือ ตามประเพณีปฏิบัติของประเทศนั้นๆ และผลกระทบต่อสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ

            4.กล่าวคือ ถ้าเกษตรกรรายย่อยเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูต่อๆ ไปจนเป็นประเพณีไปแล้ว และการกระทำนั้นๆ ไม่ได้ทำให้สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ลดลงไปอย่างมาก เราสามารถเขียนกฎหมาย และออกประกาศกระทรวง ยกเว้นสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ในพืชบางชนิดได้ 5.ถ้าเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มาอย่างถูกต้อง ก็สามารถใช้ส่วนขยายพันธุ์ และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ถือว่าสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ถูกตัดขาดออกไปแล้ว

            6.หากไทยมีการเจรจาเพื่อจะเข้าร่วมซีพีทีพีพี ไทยสามารถขอเวลาอีก 4 ปี หลังไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกซีพีทีพีพี ถึงจะเข้าร่วมอนุสัญญายูปอฟ 1991 ซึ่งประเทศอื่นเคยขอมาแล้ว นอกจากนี้หากเป็นสมาชิกใหม่ยูปอฟ 1991 ให้เวลาสมาชิกอีก 10 ปีในการปรับตัว 7.เราต้องให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ของเรามากกว่านี้ ไทยมีพันธุ์กว่า 20,000 พันธุ์ แต่เมื่อไม่ได้รับการส่งเสริมปรับปรุง คุณสมบัติต่างๆ จึงสู้พันธุ์ที่ปรับปรุงใหม่ไม่ได้ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตดีกว่าในทุกปีอยู่แล้ว

                เมื่อความกังวลทั้งหมดได้รับการศึกษาและคลี่คลายลง หากฝ่ายคัดค้านยังไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่ามีประเด็นใดไม่ชัดเจน ก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ด้วยเหตุและผล ขณะที่ฝั่งรัฐบาลก็ควรทำเรื่องนี้อย่างเปิดเผย อย่าทำอะไรหมกเม็ด เพราะหากภาคประชาชนเกิดความไม่ไว้ใจ ผลประโยชน์ของประเทศจะพังทลาย บ้านเมืองย่ำอยู่กับที่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"