วอล์กอินฉีดวัคซีน ไฟเขียวทุกจว.ปูพรมเข็มแรก/ผงะคุกติดโควิดเฉียด3พัน


เพิ่มเพื่อน    

  ศบค.แจงติดเชื้อรายใหม่ 1,983 ราย เสียชีวิตเป็นนิวไฮ 34 ราย ห่วงผู้ป่วยอาการหนักพุ่ง สั่งเพิ่มมาตรการเข้มระบบขนส่งสาธารณะ เหตุพนง.ติดโควิดมากขึ้น "บิ๊กตู่" ปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ขยายจุดฉีดไป ตจว.ลดแออัด "มติ คกก.วัคซีนแห่งชาติ" ไฟเขียวทุก จว.เปิดวอล์กอินฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก แบ่งสัดส่วนผ่านแอปฯ 30% รพ.นัด 50% วอล์กอิน 20% หวังครอบคลุม 70% ของประชากร ผงะ! นักโทษเรือนจำติดโควิดเกือบ 3 พันคน

    เมื่อวันที่ 12 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,983 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,974 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,328 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 646 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ข้ามแดนมาจากกัมพูชาและลาว ประเทศละ 2 ราย ที่ข้ามแดนผิดกฎหมาย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 88,907 ราย หายป่วยสะสม 59,043 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,378 ราย อาการหนัก 1,226 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 401 ราย
    นอกจากนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 34 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุด เป็นชาย 16 ราย หญิง 18 ราย อยู่ในสมุทรปราการ 13 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสะสมตลอดสัปดาห์ กทม. 10 ราย นครปฐม, ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย สุพรรณบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร,เพชรบูรณ์, ชลบุรี, นครนายก, สระแก้วจังหวัดละ 1 ราย ส่วนปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน และเป็นผู้สูงอายุ รวมถึงโรคปอดเรื้อรัง โดยมีข้อมูลว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดามีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนปกติถึง 14 เท่า ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 486 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 160,322,840 ราย เสียชีวิตสะสม 3,331,127 ราย
    "จากข้อมูลผู้ป่วยที่มีอาการหนักตั้งแต่วันที่ 1-11 พ.ค. จะเห็นว่าตัวเลขไม่ลดลงเลย มีทิศทางพุ่งขึ้นตลอด แม้จะไม่ชัน แต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และจากตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มขึ้นก็จะสะท้อนไปที่ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตที่จะเป็นเส้นขนานกันไป ดังนั้นคนที่ทราบว่าตัวเองใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง อย่ารอจนกระทั่งมีอาการ เมื่อทราบแล้วให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน" พญ.อภิสมัยกล่าว
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อวันนี้จะเห็นว่า กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อรวมกันถึง 3 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ ขณะที่ 5 เขตในกทม.ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ วัฒนา, ดินแดง, ห้วยขวาง,คลองเตยและบางเขน โดยในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก สำนักอนามัย กทม.ได้รายงานว่า ได้มีการวางมาตรการเพิ่มเติมในระบบขนส่งสาธารณะเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น เนื่องจากพบบุคลากรในขนส่งสาธารณะทั้งพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ รวมถึงเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้า พบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง จึงเสนอให้มีการฉีดวัคซีนให้กับคนเหล่านี้ ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการแล้วควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว  
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กยังได้พูดคุยคลัสเตอร์ตลาดค้าพลอย จ.จันทบุรี ที่พบผู้ป่วยรายแรกเป็นหญิงชาวกินี อายุ 21 ปี ที่ตั้งครรภ์ตรวจพบเชื้อก่อนไปผ่าคลอดเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ทำให้มีการสอบสวนโรคคนใกล้ชิด คือ สามีชาวกินี อายุ 57 ปี ซึ่งเป็นนักธุรกิจค้าพลอย ที่เดินทางไปมาที่ตลาดค้าพลอย จ.จันทบุรี และมาค้าขายพลอยที่ย่านบางรัก กทม. ทำให้มีการตรวจเชิงรุกในตลาดค้าพลอย 992 ราย พบเชื้อ 137 ราย และจากการตรวจสายพันธุ์ของชายชาวกินี ไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกา เมื่อสอบประวัติชายคนดังกล่าวพบได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ละหมาดวันละ 5 เวลา ถือเป็นการรวมกลุ่ม ดังนั้นถ้าใครรู้ตัวว่าใกล้ชิดกับชายคนนี้สามารถเดินทางเข้าตรวจเชื้อโควิด-19 ได้
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำนักอนามัยเป็นห่วงคือเรื่องแรงงานต่างด้าว เพราะโดยปกติแล้วแรงงานต่างด้าวหากเกิดการเจ็บป่วยถึงแม้ว่าจะเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย เมื่อมาอยู่กับนายจ้างแล้วป่วยเราก็ต้องให้การดูแล โดยให้มีการตรวจหาเชื้อ ถ้าพบเป็นผู้ติดเชื้อจะต้องจัดสถานที่ให้เขาได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่การกระทำความผิดจะต้องได้รับการทบทวนและแก้ไขปัญหาควบคู่กันไปด้วย
ปูพรมเข็มแรกทั่ว ปท.
     "สำหรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เราจับได้ว่าทำผิดกฎหมาย ข้ามแดนทางพรมแดนธรรมชาตินั้น รองผู้ว่าฯ สมุทรสาครได้รายงานว่า จ.สมุทรสาครได้หารือกับบริษัทจัดหาแรงงานกว่า 20 แห่งของจังหวัด ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าฯ ประกาศนโยบายไม่ยอมรับแรงงานผิดกฎหมาย เพราะ จ.สมุทรสาคร เป็นแหล่งใหญ่ที่แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน แต่ทำให้เกิดการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศตามแนวชายแดน ทาง จ.สมุทรสาคร จึงได้เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างที่รับแรงงานผิดกฎหมาย ผู้จัดหา เอเยนต์ต่างๆ หรือคนที่นำพา คนขับรถรับแรงงาน ให้ที่พักให้การช่วยเหลือเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จ.สมุทรสาคร จะประกาศแบนทั้งหมด ซึ่ง จ.สมุทรสาครได้ทำเป็นต้นแบบแล้ว กรุงเทพมหานครจะได้นำนโยบายเหล่านี้มาทบทวน และหวังว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการจัดการแรงงานผิดกฎหมายด้วย" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการสรุปเรื่องการฉีดวัคซีน โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รายงานว่าวันที่ 10 พ.ค. มีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,809,894 โดส เข็มที่ 2 มีประชาชนได้รับวัคซีนไปแล้ว 513,454 ราย และในสัปดาห์นี้จะมีการระดมอาชีพสาธารณะผู้ที่ขับขี่รถ เรือ เครื่องบิน ครู พนักงานเก็บขยะ จะมีการระดมให้ฉีดวัคซีนในช่วงระยะแรกไปพร้อมกับผู้สูงอายุและผู้มีประวัติมีโรคประจำตัว
 พร้อมเน้นย้ำไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชนให้กระจายวัคซีนให้ได้ตามแผน ดังนั้นตอนนี้ทุกจังหวัดเริ่มมาตรการนี้แล้ว โดยแยกตามประชากรของแต่ละจังหวัด และรวมถึงประชากรแฝงในพื้นที่ที่อาจจะมีบ้างด้วย โดยคร่าวๆ ในเดือน ก.ย. จังหวัดจะดำเนินการฉีดวัคซีนแล้วเสร็จ 70% และฉีดเข็มที่ 2 ให้ทันในเดือน ธ.ค. โดยทาง ศบค.จะติดตามการกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการป้องกันการแพร่ระบาดของ สธ.
    ขณะที่เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ณ บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร มีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมทั้งผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ปให้การต้อนรับ
    สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล หรือหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย ณ บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เป็น 1 ใน 14 แห่ง โดยความร่วมมือบริการวัคซีนโควิด-19 ระหว่างกรุงเทพมหานคร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลรามาธิบดี มีความพร้อมในการให้บริการวัคซีนตามขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วน สามารถให้บริการ 1,000 คนต่อวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. กลุ่มเป้าหมายแรกของการให้บริการเป็นกลุ่มบุคลากรด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติงานในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและกลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยง ซึ่งได้รับการลงทะเบียนกับสำนักอนามัย กทม.แล้ว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการตรวจเยี่ยมว่า เราต้องทำลายความหวาดวิตก ความกลัวในการฉีดวัคซีนให้ได้ต้องทำลายมันให้ได้ ต้องมีความเชื่อมั่น เพราะรัฐบาลยืนยันวัคซีนที่นำเข้ามามีการตรวจสอบมาตรฐาน อาจจะเข้มงวดกว่าต่างประเทศเขาด้วยซ้ำไป วันนี้เราต้องเดินหน้าไปได้ทั้งการจัดหาวัคซีน การฉีดวัคซีน และการดูแลต่างๆ ทุกมิติเป็นวาระแห่งชาติไทย ประเทศไทยของเราทุกคน
    "เราต้องร่วมมือกัน และฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าเผยแพร่มาที่ไม่เป็นเรื่องจริง คุณดูก็รู้แล้ว ไม่จริงก็อย่าไปแพร่ต่อ เพราะรู้ว่ามันไม่จริง ด้วยเซนส์ของทุกคนก็น่าจะรู้ ก็พยายามฟังช่องทางของรัฐบาลให้มากหน่อย ของกระทรวงสาธารณสุข ของสภาหอการค้าฯ ของเอกชนอะไรก็แล้วแต่ ทำงานเป็นทีมให้ได้ นี่คือทีมประเทศไทย ซึ่งทำเพื่อประเทศไทยที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน ก็ขอให้ไปเชิญชวนคนมาฉีดให้มากขึ้น วัคซีนอาจจะจำกัดนิดหนึ่งในเดือนนี้ เดือนหน้าจะเข้ามามาก และจะเริ่มมีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้เข้ามาเพิ่มเติมให้ในวันหน้า" นายกฯ กล่าว
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและคณะ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมฯ และกรุงเทพมหานคร ทั้งหมดได้ร่วมขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกันสอดคล้องกับสภาพการเป็นวาระแห่งชาติ การจัดหาวัคซีน การกระจาย การฉีดวัคซีน เป็นแนวทางในการร่วมมือในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งมีจำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นมาตามที่รัฐบาลหามาได้ และต่อไปในเดือน มิ.ย.ก็จะมีเพิ่มอีก และในไตรมาส 3 และ 4 ก็จะมียี่ห้ออื่นเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งรัฐบาลจะต้องเดินหน้าเป็นขั้นๆ ไป
    "ตามเป้าหมายในเดือน มิ.ย.นี้จะปูพรมระดมฉีดวัคซีนเข็มแรก เพราะเราทราบดีว่าแค่การฉีดวัคซีนเข็มเดียวก็สามารถป้องกันได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นฉีดย่อมดีกว่าไม่ฉีด วันนี้เรามีศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชนแล้ว 14 แห่ง ที่พร้อมให้บริการ และจะเพิ่มเป็น 25 แห่งในเร็วๆ นี้ โดยจะขยายโมเดลนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆต่อไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดความแออัด เพราะวัคซีนเข้ามามากก็จะไปได้ทั้งหมด ซึ่งเดือนหน้าก็คงจะดีขึ้น ในส่วนการจองวัคซีนวันนี้อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างพอสมควร เรากำลังปรับปรุงแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพราะบางทีหมอพร้อมท่านก็ไม่พร้อม เพราะเข้ากันไปทีเดียวพร้อมกัน จึงขอให้ฟังการชี้แจงจากทางการด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เปิดวอล์กอินฉีดวัคซีน
    ถามว่าจะมีการปรับระบบการฉีดวัคซีนหรือไม่ เพราะขณะนี้มีการกระจายไปทั่ว ไม่ได้อยู่เฉพาะแค่กลุ่มบุคคลแล้ว นายกฯ กล่าวว่า "ฉีดเมื่อพร้อม"
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มการจัดหาจำนวนวัคซีนโควิด-19 อีก 50 ล้านโดส เพื่อเตรียมไว้ฉีดให้กับประชากร ทำให้ไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ในปี 2565 จำนวน 150 ล้านโดส และเร่งเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมเรื่องการกลายพันธุ์ เพิ่มโอกาสการรับวัคซีนในประชาชน รวมถึงการปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เร็วที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรค โดยเริ่มได้ทันทีตามความพร้อมของแต่ละจังหวัด
    "การฉีดวัคซีนจะมี 3 รูปแบบ 1.นัดหมายผ่านแอปฯ หรือไลน์หมอพร้อม 2.การนัดหมายเป็นกลุ่มก้อนของทางหน่วยงาน เพื่อขอรับวัคซีน และ 3.รับการฉีดแบบไม่นัดหมายล่วงหน้า หรือวอล์กอิน โดยให้จังหวัดทำหน้าที่บริหารจัดการเอง สธ.มีหน้าที่กระจายวัคซีนตามคำขอเท่านั้น พร้อมย้ำขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ เพราะ สธ.ทำหน้าที่จัดหา แต่กังวลเรื่องคนไม่มาฉีดกว่า ขอย้ำวัคซีนมีความปลอดภัย" นายอนุทินกล่าว
    ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบปูพรมไม่จำกัดแค่พื้นที่ระบาด แต่ให้ทำในทุกพื้นที่ เป็นหน้าที่ของแต่ละจังหวัดรับผิดชอบ ไม่จำกัดแค่พื้นที่ที่มีการระบาดหนัก โดยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนในแต่ละจังหวัดต้องครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร หากจังหวัดไหนพร้อมเริ่มฉีดได้ทันที และการฉีดวัคซีนแบบไม่นัดหมายล่วงหน้าหรือวอล์กอิน จะช่วยลดอุปสรรคของคนที่ไม่เข้าถึงเทคโนโลยี ไม่มีแอปฯหรือดำเนินการผ่านแอปฯ หมอพร้อมไม่ได้ และคนที่ไม่มีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน
    นพ.โอภาสกล่าวว่า สัดส่วนของการฉีดแบบไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าหรือวอล์กอินกับการนัดผ่านแอปฯ หมอพร้อม และ รพ.นัดหมาย แบ่งเป็นสัดส่วน 30-50-20 ปรับเปลี่ยนได้ตามเหมาะสม เช่นมีวัคซีน 1,000 โดส อาจเป็นให้การนัดผ่านหมอพร้อม ร้อยละ 30 รพ.นัดหมายร้อยละ 50 และแบบไม่นัดหมายหรือวอล์กอิน ร้อยละ 20 เป็นต้น ซึ่งทุกขั้นตอนการฉีดยังต้องมีมาตรฐาน สังเกตอาการ 30 นาที และแม้จะลดขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านแอปฯ หมอพร้อมในตอนแรกที่เป็นช่องทางการรับวัคซีนขาเข้า แต่หลังฉีดเสร็จยังต้องลงทะเบียนในแอปฯ หรือไลน์หมอพร้อม เพื่อกรอกข้อมูลเก็บไว้ใช้ในการติดตามผลของวัคซีน, นัดหมายฉีดเข็ม 2 และใช้ในการออกใบรับรองว่าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
    "วัคซีนทุกยี่ห้อมีความปลอดภัยไม่อยากให้ประชาชนมัวเลือก หรือพิจารณานานว่าสมควรฉีดหรือไม่ เพราะวัคซีนทุกตัวมีความปลอดภัยข้อบ่งชี้ในการฉีดแต่ละยี่ห้อ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าใครมีความเหมาะสมรับวัคซีนยี่ห้อไหน ชนิดไหน ฉะนั้นให้มั่นใจมีความปลอดภัย ที่ผ่านมาฉีดไปแล้ว 2 ล้านโดส ไม่พบคนเสียชีวิตหรือพิการ และขณะนี้กระจายวัคซีนไปแล้ว 2.5 ล้านโดส เหลืออีก 1 ล้านโดส ที่อยู่ระหว่างการรอตรวจสอบเอกสารต้นทาง" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ผงะนักโทษติดโควิดอื้อ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนก็จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่า ในเดือน พ.ค.นี้จะเข้ามา 3.5 ล้านโดส จากซิโนแวคและเดือนมิ.ย.อีก 6 ล้านโดส จากแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย จากนั้นเดือนก.ค. จะได้รับอย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น เช่น ไฟเซอร์ สปุตนิก วี หรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ขณะนี้รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ได้ 100 ล้านโดส ก็ตั้งใจที่จะจัดหามาให้ครบ 150 ล้านโดสภายใน 2564 นี้
    ถามถึงมาตรการป้องกันหรือจะยกระดับหลังพบโควิดสายพันธุ์อินเดีย นายอนุชากล่าวว่า ศบค.ได้หารือและมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติที่มีต้นทาง หรือมีถิ่นพำนักจากประเทศที่พบเชื้อกลายพันธุ์ พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการสถานเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ระงับการออกหนังสือรับรองดังกล่าว การตรวจลงตราสำหรับชาวต่างชาติบังกลาเทศ ปากีสถาน และเนปาล ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมอินเดีย ที่มีประกาศออกไปก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นชาวต่างชาติที่เดินทางออกจาก 4 ประเทศ และแวะพักเครื่องหรือเปลี่ยนเครื่อง หรือท่องเที่ยวใน 4 ประเทศ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยเช่นกัน
    "มาตรการดังกล่าวเป็นการชั่วคราวที่ต้องระวังการติดเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างชาติจาก 4 ประเทศ แต่ไม่ได้ห้ามคนไทย นักการทูตต่างชาติที่มีจุดประสงค์เพื่อรับงานและครอบครัว ผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทยสามารถกลับเข้าประเทศไทยได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดต้องกักตัว 14 วันในสถานที่รัฐจัดให้หรือสถานที่กักตัวทางเลือก" นายอนุชากล่าว
    วันเดียวกัน ?กรมราชทัณฑ์ออกเอกสาร?ข่าว?ชี้แจงกรณีมีสื่อตั้งข้อสงสัยว่ามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำได้อย่างไร และมีการปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์การรักษาผู้ติดเชื้อหรือไม่ ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีการกระจายเป็นวงกว้างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงเรือนจำและทัณฑสถานที่ต้องรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และนำผู้ต้องขังออกศาลอยู่เสมอ จึงอาจมีการหลุดรอดของเชื้อเข้าสู่เรือนจำได้ อย่างไรก็ดี กรมราชทัณฑ์ได้ป้องกันอย่างเต็มที่ด้วยมาตรการเชิงรุก คือแยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง ก่อนผู้ต้องขังพ้นระยะแยกกักโรค ซึ่งการตรวจพบการติดเชื้อของผู้ต้องขังที่ผ่านมา ถือว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ
    กรมราชทัณฑ์ระบุว่า สำหรับผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อจะได้รับการรักษาโดยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งในโรงพยาบาลสนามเรือนจำและโรงพยาบาลแม่ข่ายตามลักษณะอาการป่วยของแต่ละราย โดยกรมราชทัณฑ์ขอยืนยันสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เรือนจำทัณฑสถานทุกแห่งมีมาตรการอย่างเคร่งครัด เพราะมีการควบคุมบับเบิล แอนด์ซีล เช่น กรณีเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อก็สามารถดูแลรักษาจนหาย และไม่มียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในเรือนจำอีก
    "กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจเชิงรุกเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง 100% ซึ่งได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของเรือนจำและทัณฑสถานที่พบการติดเชื้อ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงกลาง มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,040 ราย และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,795 ราย ซึ่งทุกรายอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หากในบางรายมีอาการหนักจะได้มีการย้ายออก เพื่อรับการรักษายังโรงพยาบาลภายนอก เชื่อว่ามาตรฐานการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์กับกระทรวงสาธารณสุขจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ ไม่ขยายตัวไปสู่วงกว้างได้ เวลานี้ได้มีแดนกักโรคและโรงพยาบาลสนาม โดยมีแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด และการให้ยารักษาและการดูแลทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานของสาธารณสุข รวมทั้งมีการวางแผนเพื่อฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังด้วย อยู่ระหว่างรอการจัดสรรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง"
    ท้ายเอกสารระบุว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ซึ่งในส่วนของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ไปแล้วกว่า 17,000 ครั้ง ทำให้คัดแยกผู้ติดเชื้อไปรักษาได้รวดเร็ว สามารถแยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงออกมากักตัว เพื่อสังเกตอาการได้เป็นอย่างดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"