ผุดไอเดียดึงกกต. จัดเลือกตั้งก.ตร.


เพิ่มเพื่อน    

     ปฏิรูปที่มา "ก.ตร." ดึง กกต.กำหนดหลักเกณฑ์เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ชั้นสัญญาบัตร ยศร.ต.ต.มีสิทธิ์เลือกด้วย กันเสียงครหาไม่โปร่งใสพร้อมห้ามผู้บังคับบัญชาบังคับลูกน้องฝ่าฝืน มีโทษวินัยร้ายแรง-จำคุก 6 เดือน "วิรุตม์” ไม่ตื่นเต้น ระบุ ก.ตร.มีตำรวจกว่าครึ่ง หวั่นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกิดขึ้นยาก แนะเพิ่มบทบาทภาค ปชช. "สังศิต" เซ็งจะปรับปรุงอย่างไรก็เรื่องของคุณ ย้อนถาม ปชช.จะได้ความยุติธรรมจากตำรวจอย่างไร 
     เมื่อวันอังคาร นายคำนูณ สิทธิสมาน โนฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ..... เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับปัจจุบัน คณะกรรมการระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มี 2 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เคยมีมติตั้งแต่การประชุมครั้งแรกๆ ให้ยุบรวมเหลือเพียงชุดเดียว ล่าสุดที่ประชุมมีมติให้เรียกชื่อคณะกรรมการที่จะเหลือเพียงชุดเดียวนี้ว่า คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ตร.
    นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนองค์ประกอบของ ก.ตร. ใหม่ ประกอบด้วย 18 คน ในจำนวนนี้จะมี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน มาจากการเลือกโดยข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป โดยเลือกจากผู้ที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 5 คน และจากผู้ที่ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจอีก 3 คนนั้น ทั้งนี้ ในการเลือกนั้น ที่ประชุมมีมติปฏิรูปใหญ่ โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดให้มีการเลือก และประกาศผลการเลือกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่คณะ กกต.กำหนด ซึ่งอย่างน้อยในการดำเนินการดังกล่าวต้องกำหนดให้การเลือกเป็นการเลือกโดยตรงและลับ เพื่อความบริสุทธิ์ โปร่งใส และยุติธรรม
    "ที่ประชุมยังได้มีมติบัญญัติห้ามผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดสั่งการ ข่มขู่ หรือชักจูงด้วยประการใดๆ เพื่อให้เลือกหรือมิให้เลือกผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้บังคับบัญชาผู้ใดฝ่าฝืน ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน" นายคำนูณกล่าว
    นายคำนูณกล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดดังกล่าวใช้เฉพาะกับการเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ 18 คน โดย กกต.จะเข้ามาควบคุมและประกาศผล แต่ส่วนวิธีดำเนินการจะให้ กกต.เป็นผู้กำหนดเอง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส เพราะที่ผ่านมามีเสียงครหาในการเลือกมาโดยตลอด ดังนั้น ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกจากเดิมตั้งแต่ระดับผู้กำกับ เป็นระดับชั้นสัญญาบัตร หรือยศร้อยตำรวจตรี 
    เมื่อถามว่า เป็นกำหนดให้ กกต.ทำหน้าที่ดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มงานหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า การเลือกดังกล่าวไม่ได้เลือกทุกวัน และตำรวจชั้นสัญญาบัตรมีจำนวนไม่มาก เพียงหลักแสนโดยประมาณ จึงไม่คิดว่าเป็นการเพิ่มงาน อีกทั้งองค์กรอื่นๆ ก็ยังมาขอให้ กกต.ช่วย ส่วนจะต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเพิ่มหน้าที่ กกต. ส่วนตัวเข้าใจว่าเมื่อกฎหมายใดๆ กำหนด กกต.ก็ทำได้ แต่หากภายหลังติดขัดจริง ก็สามารถแก้ไขได้อีกครั้ง 
    ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ดูคร่าวๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรแปลกใหม่ ที่จะยุบรวมก็เป็นข่าวมาก่อน 2 เดือนแล้ว เราไม่รู้ว่าองค์ประกอบใหม่ทั้งหมด 18 คนมีใครบ้าง มีอดีตตำรวจ 5 คน แล้วตำรวจปัจจุบันเท่าไหร่ ถ้ามี ผบ.ตร.และรอง ผบ.ตร.อีก 3 คน ก็รวมเป็น 4 คน เป็นฝ่ายตำรวจกว่าครึ่ง ก็เต็มไปด้วยตำรวจ รวม 9 คนจาก 18 คน ส่วนเรื่อง กกต. ก็ไม่เห็นแปลกประหลาดอะไร เป็นเพียงการเปลี่ยนวิธี เพราะคิดว่าตำรวจจัดเองอาจจะไปบล็อกอะไรกันได้ ที่เหมือนจะทำให้เกิดความบริสุทธิ์ในการเลือกนั้นไม่ใช่ประเด็น เพราะการเลือกที่ผ่านมาบริสุทธิ์อยู่แล้วไม่เคยมีโกง เลือกโดยวิธีลับ แต่ก็ไม่ขัดข้องอะไรในการให้ กกต.จัดการ
     พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดคือเลขานุการยังเป็นคนของตำรวจ ถ้าจะให้ดีเมื่อนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก.ตร. ก็น่าจะให้ปลัดสำนักนายกฯ เป็นเลขาฯ เพราะใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แล้วโอนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจไปเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะเลขาฯ เป็นตำแหน่งสำคัญในการดูแลเรื่องต่างๆ ที่เข้าวาระประชุม ส่วนจำนวนตำรวจที่มีใน ก.ตร.มากมายนั้น ควรจะมี ผบ.ตร. 1 คน รอง ผบ.ตร. 1 คน ที่เหลือเลือกเอาก็พอ ดังนั้นสิ่งที่เสนอมาดูแล้วดีขึ้นนิดหน่อย แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และไม่ใช่ปฏิรูปอะไรที่แท้จริง
     “ไม่เห็นว่าจะมีนัยอะไร เพราะที่สำคัญคือองค์ประกอบของ 18 คน ประกอบด้วยใครบ้างที่ลงตัวขณะนี้ ก็ยังเห็นประกอบด้วยตำรวจและอดีตตำรวจเป็นส่วนใหญ่ถึง 9 คน ใน 18 คน แล้วตำรวจเหล่านี้ก็จะเป็นตำรวจระดับพลตำรวจโทขึ้นไปทั้งสิ้น ตำรวจระดับพันตำรวจเอกจะไปสมัครก็ไม่ได้ แล้วที่สำคัญมันขึ้นอยู่กับการเขียนอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร. ตรงนี้เราไม่เห็น และไม่เห็นจะตื่นเต้นอะไรเลย และก็ไม่ได้เห็นบทบาทภาคประชาชน ตำรวจเลือกกันเองก็ขึ้นกับใครเป็นลูกน้องใคร จึงต้องมีบทบาทของภาคประชาชนเข้าไป เช่น ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ ของสภาผู้แทนราษฎร ควรจะเข้าไปโดยตำแหน่ง 1 คน ต้องมีตัวแทนภาคประชาชน เพราะตำรวจมีความสัมพันธ์กัน ถ้าเป็นคนนอกจะมีน้ำหนักตรวจสอบมากกว่า"
     พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวด้วยว่า องค์ประกอบที่มีตำรวจจำนวนมากดังกล่าว รวมทั้งการทำหน้าที่เลขานุการด้วย จะทำให้การตรวจสอบประเมินผลและการขับเคลื่อนให้ระบบตำรวจเปลี่ยนแปลงในลักษณะของปฏิรูปทั้งโครงสร้างองค์กรและระบบงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง เช่น ตำรวจจังหวัด และการระบบงานสอบสวนที่มีความเป็นอิสระจะเกิดขึ้นได้ยาก
     นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ให้สัมภาษณ์ว่า ความคาดหวังของประชาชนเรื่องการปฏิรูปตำรวจคือ เมื่อปฏิรูปแล้วประชาชนจะได้รับความยุติธรรมจากกิจการของตำรวจมากขึ้น เขาไม่ได้คาดหวังว่าคุณจะไปจัดองค์กรอย่างไร จะยุบเหลือหนึ่งคณะ องค์ประกอบจะเป็นอะไร ประชาชนไม่ได้สนใจ ประชาชนสนใจว่าองค์กรของคุณจะสามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างไร ที่เสนอก็เสนอไป แต่ประชาชนยังไม่เห็นว่าตรงนี้จะได้ประโยชน์อย่างไร ยังไม่ได้ตอบโจทย์ของประชาชน สิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้ควรจะแถลงคือ จะต้องทำอย่างไรให้เห็นว่าเมื่อมีการปรับองค์กรนี้แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ในเรื่องของความยุติธรรม สามารถจัดการกับคนร้ายได้ เมื่อไปแจ้งความแล้วได้รับความยุติธรรมจากตำรวจ การรวมองค์กรเป็นเรื่องการบริหารราชการ คุณก็ทำไป ไม่มีใครเขาว่า แต่ประชาชนไม่ได้สนใจ
     “ยังไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชน นั่นมันโจทย์ของราชการ คุณจะปรับปรุงยังไงของคุณก็ปรับไปเถอะ แต่ช่วยตอบหน่อยว่าประชาชนจะได้รับความยุติธรรมจากองค์กรตำรวจได้อย่างไร นี่คือคำถามที่ประชาชนเขาถาม สิ่งที่ท่านมาแถลงยังไม่ได้ตอบคำถามของประชาชน” นายสังศิตกล่าว
     เมื่อถามว่า การให้ กกต.เข้ามาจัดเลือกจะเป็นการเพิ่มภาระ กกต.หรือไม่ นายสังศิตกล่าวว่า ไม่ได้เพิ่ม การเลือกตั้งเป็นงานที่ กกต.ถนัดอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติเขาทำหน้าที่เพียงกำกับดูแล คงใช้เจ้าหน้าที่ภายในทำงานด้านธุรการ ข้อเสนอนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้ประชาชน ช่วยเรียนประธานและคณะกรรมการชุดนี้ว่า ช่วยตอบโจทย์ประชาชนเขาต้องการเห็น คือความยุติธรรมจากระบบตำรวจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"