ฟ้องเรียกค่าเสียหายรัฐแก้โควิดเหลว


เพิ่มเพื่อน    

 ประเดิมรายแรก!   "มารดา" อดีตผู้บุกเบิกวงการอี-สปอร์ตที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่งพี่ชายยื่นศาล ปค.กลาง ฟ้องรัฐแก้โควิดล้มเหลวทำลูกชายเสียชีวิต เรียกค่าชดใช้ 4.53 ล้านบาท "บิ๊กป้อม" บุกศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สั่งยกระดับเฝ้าระวังเฟกนิวส์ ฟันพวกบิดเบือนข้อมูลโควิด-วัคซีนเฉียบขาด

    เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายกุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของนายกุลทรัพย์ วัฒนพล หรือ "อัพ VGB" อดีตผู้บุกเบิก วงการอี-สปอร์ต ของไทยที่เป็นผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายที่ 137 เพราะประสานหาที่ตรวจไม่ได้และได้รับการรักษาช้า  รับมอบอำนาจจากมารดาเข้ายื่นฟ้องศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือ ศบค., เลขาธิการนายกรัฐมนตรี,สำนักนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,530,000 บาท จากกรณีละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรเป็นเหตุให้นายกุลทรัพย์ต้องเสียชีวิต
    นายกุลเชษฐ์ระบุว่า การเสียชีวิตของนายกุลทรัพย์มาจากการไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้เชื้อโควิด-19 ทำลายปอดจนไม่สามารถรักษาได้ และเสียชีวิตในวันที่ 23 เม.ย.64 ซึ่งจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ศบค. ที่ประกาศแจ้งว่ามีศูนย์ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินตามหมายเลขสายด่วน ได้แก่ 1330, 1422, 1668, 1669, 1323 ซึ่งเป็นสายด่วนของกรมควบคุมโรค และสายด่วนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ แต่ปรากฏว่าขณะที่นายกุลทรัพย์มีลักษณะอาการตามที่ ศบค.เคยประกาศให้เป็นวิธีสังเกต ตนเองว่าติดเชื้อแล้วหรือยัง และได้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือตามหมายเลขสายด่วนดังกล่าว ซึ่งมีทั้งติดต่อไม่ได้และติดต่อได้ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
    นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดละเลยปล่อยให้มีการเปิดสถานบริการ  สถานบันเทิงจนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในคลัสเตอร์ทองหล่อ ในเดือน มี.ค. แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดกลับไม่ได้มีการประกาศห้ามเดินทางหรือออกมาตรการป้องกันการระบาดจากสถานบันเทิงสู่สังคม โดยยังคงให้ประชาชนเดินทางกลับไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จนการแพร่ระบาดขยายสู่ประชาชนเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 2,000 คน การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องทั้งหมดจึงเข้าข่ายจงใจประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยปละหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
    "ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายกุลทรัพย์ทางครอบครัวต้องจัดการงานศพอันเป็นค่าปลงศพ 30,000 บาท มารดาซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีต้องขาดไร้ซึ่งการส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งคิดจากช่วงอายุที่นายกุลทรัพย์เสียชีวิต คือ 35 ปี จนถึงนายกุลทรัพย์อายุ 60 ปี รวมระยะเวลา 25 ปี รวมเป็นเงิน 4,530,000 บาท จึงขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องร่วมกันรับผิดในทางละเมิดต่อครอบครัว" พี่ชายนายกุลทรัพย์ระบุ
     ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) และการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม กม.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม? (ดีอีเอส)? เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี? และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
    พล.อ.ประวิตรกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอเน้นย้ำให้มีดําเนินการข่าวปลอมอย่างเร่งด่วน หากพบกรณีจงใจสร้างความสับสนแก่ประชาชน ให้ดําเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นวัคซีน และเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหลัก ในการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทัน เลือกรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพื่อช่วยลดปัญหาข่าวปลอม หรือทําอย่างไรให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อ ร่วมมือกันตัดวงจรกระบวนการผลิตข่าวปลอมที่สร้างความสับสน ตื่นตระหนกแก่คนในสังคม
    พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี? แถลงว่า ในภาพรวมมีข่าวปลอมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และด้านสุขภาพมากถึง 66% โดยดีอีเอสกับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการตามขั้นตอน และมีความคืบหน้าตามนโยบายที่เคยให้ไว้เมื่อครั้งมาตรวจเยี่ยมครั้งแรกที่ผ่านมาอย่างน่าพอใจ
    "พล.อ.ประวิตรได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังข่าวปลอม ตลอดเวลา และดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการตรวจสอบข่าวสารอันเป็นเท็จ และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม และชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนทราบ" ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกฯ กล่าว
    ด้านนายชัยวุฒิกล่าวว่า จากการตรวจสอบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ระหว่างวันที่ 7 เม.ย.-11 พ.ค.64 พบข้อความที่เกี่ยวข้อง 3,857,190 ข้อความหลังจากคัดกรองพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 788 ข้อความ และมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 343 เรื่อง อยู่ใน 2 หมวดหมู่ข่าวคือ หมวดหมู่สุขภาพ 233 เรื่อง คิดเป็น 68% และหมวดหมู่ นโยบายรัฐ 110 เรื่อง คิดเป็น 32%
    "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตั้งแต่ 1 พ.ย. 62-6 พ.ค.64 ได้ส่งคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนไปให้ ศปอส.ตร. ดำเนินการตรวจสอบ จำนวน 1,021  เรื่อง รวมคดีที่ดำเนินการ 23 ราย โดยมีการดำเนินคดีแล้ว 33 เรื่อง จำนวนผู้กระทำผิด 70 ราย แบ่งเป็นเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 4 เรื่อง ผู้กระทำผิด 18 ราย และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 19 เรื่อง ผู้กระทำผิด 52 ราย" รมว.ดีอีเอสกล่าว
    วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิด กรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวและรายการที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นเท็จ คลาดเคลื่อนอย่างซ้ำซาก ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยที่ผ่านมามีการเสนอข่าวและรายการที่กลายเป็นเฟกนิวส์ถึง 4 เรื่อง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"