อุปสรรคของวัคซีนโควิดในชาติหมู่เกาะแปซิฟิก


เพิ่มเพื่อน    

วัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ถึงปาปัวนิวกินีเมื่อไม่นานมานี้ (เครดิตภาพ : gavi.org)

 

  

      ฉีดแล้วจะเป็นหมัน ฉีดแล้วจะถูกควบคุมติดตามด้วยสารที่อยู่วัคซีน ฉีดแล้วจะเปลี่ยนคริสเตียนเป็นซาตาน ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนในโซเชียลมีเดียเหล่านี้ทำให้ชาวเกาะแปซิฟิกเกิดอาการทั้งต่อต้าน และลังเลที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

                “ปากัวนิวกินี” ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก หนึ่งในสมาชิกราชอาณาจักรเครือจักรภพ ถูกการแพร่ระบาดของโควิด-19 เล่นงานอย่างหนักเมื่อเดือนที่แล้ว ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอยู่ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นได้อย่างไร

            สันนิษฐานว่าต้นตอน่าจะมาจากอินโดนีเซีย เพราะปาปัวนิวกินีมีเขตแดนติดกับจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย ต้นเดือนมีนาคมยังมีผู้ป่วยหลักไม่กี่ร้อยคน แต่พอสิ้นเดือนเมษายนยอดผู้ติดเชื้อวิ่งไปที่ 1 หมื่นกว่า หรือประมาณ 10 เท่าในระยะเวลา 2 เดือน

                “โจนาธาน ไพรค์” ผู้อำนวยการ Pacific Islands Program จาก Lowy Institute ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ให้ข้อมูลว่า การแพร่ระบาดมีเค้ามาตั้งแต่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่รัฐบาลปาปัวนิวกินีประเมินต่ำเกินไป จนในที่สุดก็ถึงจุดที่ควบคุมได้ยาก

            ปาปัวนิวกินีมีหมออยู่ประมาณ 500 คน บุคลากรทางการแพทย์ราว 5,000 คน สำหรับดูแลประชาชนทั้งประเทศกว่า 9 ล้านคน ยอดผู้ป่วยเพียง 1 หมื่นกว่าๆ ก็ถือว่าใกล้จะเกินศักยภาพและความสามารถของระบบสาธารณสุขแล้ว

            อย่างไรก็ตาม “ไพรค์” บอกว่ายังมีสิ่งที่กระจายเร็วยิ่งกว่าไวรัส นั่นคือข้อมูลเท็จ และเมื่อมีวัคซีนให้ฉีด ความเคลือบแคลงในวัคซีนก็มีมาก

            “โซเชียลมีเดียคือตัวขับเคลื่อนข้อมูลเท็จ และความไม่เชื่อมั่นต่อวัคซีน”

            ไม่นานมานี้ วัคซีนถูกส่งมาจากออสเตรเลีย ผู้ที่เข้ารับการฉีดเป็นคนแรกคือ “เจมส์ มาราเป” นายกรัฐมนตรีของประเทศ ท่ามกลางข่าวลือต่างๆ นานาถึงโทษและผลข้างเคียงของวัคซีน

                “มาราเป” กล่าวเล่นคำว่า ขอเป็น “หนูตะเภา” ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Guinea pig” หมายถึงหนูทดลอง

            “หากว่าผมตาย คนอื่นก็ไม่ต้องฉีด แต่ถ้าไม่ตายก็โปรดจงช่วยกันฉีดหน่อยเถอะ”

 เจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าเป็นคนแรกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน (เครดิตภาพ : PNG PM Media)

 

            จากนั้นน้องชายของท่านนายกรัฐมนตรีอีก 2 คนก็อยู่ในกลุ่มคนแรกๆ ที่ฉีดวัคซีนแม้ว่าจะไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้มีการกำหนดไว้ก็ตาม

                “วอร์เรน มาราเป” ให้สัมภาษณ์สื่อหลังฉีดวัคซีนเสร็จเรียบร้อยว่า เขาทั้งสองคนฉีดเพราะต้องการให้กำลังใจพี่ชาย

                “เรากังวล เราเป็นห่วง สิ่งที่ทำให้แย่ที่สุดคือข่าวลือเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่หมอบางคนที่โพสต์ข้อความต่อต้านวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ในฐานะชาวปาปัวนิวกีนี เราจะอยู่เคียงข้างพี่ชายของเรา หากต้องตายเพื่อเขา เราก็ยอม

            คำพูดของน้องชายนายกรัฐมนตรีไม่เพียงสื่อให้เห็นถึงสถานการณ์ผู้คนปฏิเสธและลังเลใจในการเข้ารับวัคซีนเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของข้อมูลเท็จบนโซเชียลมีเดียด้วย

            การหลั่งไหลจนเต็มหน้าจอโซเชียลมีเดียของบรรดาข้อมูลคลาดเคลื่อน บิดเบือน และจงใจโกหก มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

            สถาบันพัฒนาระดับนานาชาติของสถานี ABC และ Pacific Media Assistance Scheme ได้นำเสนอรายงานก่อนหน้านี้ว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของคนที่โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลร้ายของวัคซีนต้านโควิด-19

            ข้อมูลเท็จที่ได้รับกันมาแล้วส่งต่อส่วนใหญ่ ได้แก่ วัคซีนถูกผลิตมาเพื่อติดตามข้อมูลส่วนบุคคล, ต่อต้านรากฐานความเชื่อของชาวคริสเตียน และทำให้เป็นหมัน

                “แอนนา จอห์น” วัย 46 ปี เชื่อว่าวัคซีนคือจุดจบของโลก การฉีดวัคซีนจะทำให้มีเครื่องหมายของปีศาจประทับลงบนปาปัวนิวกินี

                “พวกเขาสร้างโควิด-19 ขึ้นมา เพื่อที่จะได้ฉีดวัคซีนแก่เรา จากนั้นก็ทำเครื่องหมายสัตว์ร้ายและซาตานไว้บนตัวเรา”

รอยยิ้มของเด็กๆ ชาวปาปัวนิวกินีจะกลับมาอีกครั้งหากประเทศปลอดโควิดโดยการฉีดวัคซีนกันทั่วหน้า (เครดิตภาพ : globalcitizen.org)

 

            สตรีวัย 53 ปี ชื่อ “จูลี โอฟานา” กล่าวว่า เธอไม่กลัวโควิด-19 เพราะปาปัวนิวกินีเป็นประเทศคริสเตียน ซึ่งโควิด-19 จะทำอะไรคริสเตียนไม่ได้

            ในช่วงแรกๆ ของการอุบัติขึ้นของโรคติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีผู้ป่วยที่ปาปัวนิวกินีเพียงไม่กี่ราย ทำให้พวกเขาเชื่อกันว่าสีผิวที่ค่อนข้างดำคล้ำของพวกเขามีส่วนในการป้องกันโควิด-19

            มีความเชื่อหนึ่งกระจายอยู่ในหมู่ชาวซามัวจนนำไปสู่การถกเถียงเสวนากันอย่างกว้างขวางว่า “เป็นคำพยากรณ์ที่มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ วาระสุดท้ายของมนุษยชาติได้มาถึงแล้ว”

            ในฟิจิ กล่าวกันว่า “นอกจากจะทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันแล้ว วัคซีนยังออกแบบมาเพื่อทำลายภาวะการเจริญพันธุ์ในผู้หญิง ผู้ออกแบบต้องการควบคุมประชากร”

                “เจลตา วอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยกให้ข้อมูลเท็จและบิดเบือนบนโซเชียลมีเดีย คือ “ความท้าทายสูงสุด” ในการทำสงครามกับโควิด-19

            “วอง” ทราบดีว่าการกลับคืนสู่ภาวะปกติของแต่ละชุมชนขึ้นอยู่กับการรับวัคซีนอย่างทั่วถึงในระดับที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

            จนถึงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ได้รับมาจากออสเตรเลียจำนวน 8,500 โดสในเดือนมีนาคม มีผู้เข้ารับการฉีดเพียงประมาณ 3,000 โดส สาเหตุเพราะผู้คนลังเล ไม่เชื่อมั่น และหวาดกลัว

            และล่าสุดวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์จำนวน 100,000 โดสได้มาถึงปาปัวนิวกินีแล้ว ทางรัฐบาลไม่ได้กลัวว่าจำนวนจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน แต่กลัวว่าวัคซีนจะหมดอายุเสียก่อนจะได้ใช้

                “ดร.พาเมลา โตลิมัน” นักวิจัยจาก Institute of Medical Research ของปาปัวนิวกินี เปิดเผยว่า สถาบันกำลังทำการศึกษาบทบาทของโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19

                “จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้สาธารณชนมีความประสงค์รับการฉีดวัคซีน และก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าปัจจัยใดที่ทำให้เกิดการกระจายข่าวเท็จเกี่ยวกับวัคซีน”

            บนเกาะโซโลมอน “ดร.โคลด โปซาลา” ประธาน Solomon Islands Medical Association กล่าวว่า ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียที่มากเกินไปได้ทำลายความน่าเชื่อถือของวัคซีน เพราะประชาชนมีปัญหาในการกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องออกมาจากกองพะเนินของข้อมูลเท็จ

            หมู่เกาะโซโลมอน อีกหนึ่งในประเทศราชอาณาจักรเครือจักรภพ มีประชากรประมาณ 7 แสนคน ได้รับวัคซีนล็อตแรกของแอสตร้าเซเนก้าจำนวน 24,000 โดส เมื่อ 23 มีนาคมที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และนักรบด่านหน้าได้รับสิทธิ์ฉีดก่อน ใน 6 วันแรกมีการฉีดไป 600 คนเท่านั้น

            ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณวัคซีน แต่อยู่ที่ความต้องการฉีด แม้แต่คนทำงานก็ยังไม่ไว้ใจวัคซีน

            อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตอบโต้ข่าวปลอมอย่างแข็งขัน ค่อยๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จนถึงวันที่ 25 เมษายน มีผู้ฉีดวัคซีนแล้วเกือบ 5 พันคน และคิวฉีดนอกศูนย์ให้บริการยาวขึ้นกว่าในช่วงแรก

                “เวลานี้รัฐบาลเอาจริงเอาจังในการสื่อสารกับประชาชนทางโซเชียลมีเดีย ในที่สุดเราก็ได้เห็นภาพผู้คนกระตือรือร้นในการฉีดวัคซีน” ดร.โปซาลาระบุ

            การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นถึงพลังอำนาจและบทบาทของโซเชียลมีเดียในการเล่าเรื่องและการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร

            ประชาชนในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมีการเข้าถึงเฟซบุ๊กมากกว่าสื่อดั้งเดิมทั่วไป ความคิดเห็นถูกเข้าถึงได้ง่ายกว่าข้อเท็จจริง

            อย่างไรก็ตาม ที่ซูวา เมืองหลวงของฟิจิที่กำลังมีการล็อกดาวน์เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์จากอินเดีย ผู้คนอยากฉีดวัคซีนกันขึ้นมาทันทีเพราะทราบถึงกิตติศัพท์ความร้ายกาจของสายพันธุ์นี้

                “โยป ทาไร” ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียจาก University of the South Pacific ให้ข้อมูลว่า ชาวฟิจิเตรียมพร้อมรับวัคซีนกันมากขึ้นเพื่อให้ชีวิตกลับสู่ปกติ และหากคนทั่วไปเห็นว่ามีการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นก็จะเกิดขึ้น สุดท้ายก็จะมองว่าทฤษฎีสมคบคิดทางโซเชียลมีเดียพวกนั้นเหลวไหลทั้งเพ

            เช่นเดียวกับการใช้คนดัง คนที่มีความน่าเชื่อถือ แสดงภาพที่ตัวเองฉีด และโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเชิญชวนให้คนทั่วไปไม่กลัววัคซีนและมีความต้องการอยากฉีด ซึ่งเรียกว่า “การพิสูจน์แล้วโดยสังคม” ผ่านสิ่งที่ภาษาทางการตลาดเรียกว่า Testimonial หรือการรับรองคุณภาพสินค้าและบริการโดยผู้ใช้จริง หรือที่ในปัจจุบันเรียกกันว่า “รีวิว”

                “ซานยา รุจจิเอโร” นักวิเคราะห์ด้านการสื่อสารขององค์การสหประชาชาติ โพสต์ภาพที่เธอฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า

            เขียนบรรยายว่า “ขอบคุณเจ้าหน้าที่ลานจอดรถ เจ้าหน้าที่ต้อนรับ ทีมงานลงทะเบียน และพยาบาลที่ทำให้ประสบการณ์ในวันนี้วิเศษที่สุด ชาวฟิจิและชาวเกาะแปซิฟิกต่างทราบดีว่าการฉีดวัคซีนมีความหมายต่อประเทศชาติของเราอย่างไร มันคือสัญลักษณ์แรกของความหวังหลังจากเกิดวิกฤติ”

นักวิเคราะห์ด้านการสื่อสารของยูเอ็นโพสต์ภาพที่เธอฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า และเขียนเชิญชวนให้ผู้อื่นฉีดตาม (เครดิตภาพ : ทวิตเตอร์ Sanya Ruggiero)

 

 

            เธอจบด้วยการใส่แฮชแท็ก AstraZeneca

            บทบาทของโซเชียลมีเดียที่เป็นตัวขัดขวางการรับวัคซีนก็จะกลายเป็นตัวสนับสนุน เวลานี้ภาพของผู้คนเข้าแถวฉีดวัคซีนได้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความกระตือรือร้นของหลายคนที่ต้องการฉีดเช่นกัน

            สรุปได้ว่าโควิดไม่น่ากลัว วัคซีนยิ่งไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวว่าสิ่งใดคือข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือนในโซเชียลมีเดีย

            แต่ก็ไม่เกินความสามารถหากรู้จักจัดการ

            ข้อมูลเท็จ ข่าวบิดเบือน เกี่ยวกับวัคซีนเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก บ้างมาจากความไม่รู้ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อผูกโยงกับศาสนาก็มีให้เห็น บางแห่งสร้างทฤษฎีประหลาดขึ้นมาเองเพื่อปั่นป่วนสังคม

            แต่ที่ปล่อยข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีน บางยี่ห้อยกย่อง บางยี่ห้อเหยียบย่ำ ทำกันเป็นขบวนการ โจมตีให้ประเทศชาติเสียหายเพื่อหวังผลทางการเมือง

                เห็นจะมีแต่ในเมืองไทย.

 

****************

 

ข้อมูลจาก :

- Judith Neilson Institute for Journalism and Ideas

- Hugh McClure

- The Guardian

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"