คลายล็อกแดงเข้มกินในร้าน


เพิ่มเพื่อน    

 

ผู้ประกอบการเฮ! ศบค.คลายพื้นที่สีแดง 4 จังหวัด กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นั่งกินอาหารในร้านได้ไม่เกิน 25% หรือนั่งได้โต๊ะละคน ไม่เกิน 3 ทุ่ม ถ้าสั่งกลับบ้านปิด 5 ทุ่ม ส่วนคอเหล้าลงแดงต่อไป ตลาดโต้รุ่งตี 4-5 ทุ่ม ห้างปิดไม่เกิน 3 ทุ่ม ผิดครั้งแรกจะตักเตือน ครั้งต่อไปจะมีอำนาจในการสั่งปิด ด้าน "วิษณุ" เผยขอ กทม.ผ่อนผันให้ ส.ส.ถอดหน้ากากอภิปรายในสภาได้

    เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้กำหนดพื้นที่ว่าจังหวัดใดอยู่โซนสีใดแล้วเป็นดังนี้
    พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จะสามารถบริโภคอาหารในร้านได้ โดยนั่งได้ไม่เกิน 25% หรือกำหนดโต๊ะสำหรับ 4 คน นั่งได้ 1 คน เปิดบริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. หากสั่งกลับบ้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. นอกจากนี้ยังคงมาตรการงดจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
    สำหรับร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการเวลา 04.00-23.00 น. ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามเวลาปกติ และให้ปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. จำกัดคนเข้าบริการ ส่วนมาตรการการใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษา ยังขอให้งดอยู่ ยกเว้นมาขอเป็นรายกรณี เช่น การสอบเข้า-จับสลาก เข้าเรียนระดับชั้นต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มาขอ สถานที่เสี่ยงหรือสถานที่กิจกรรมเสี่ยง ปิดบริการ ยกเว้นสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้ง เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ทำการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม
    พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงมี 17 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ยะลา ระนอง ระยอง ราชบุรี สมุทรสาคร สงขลา และสุราษฎร์ธานี สามารถบริโภคอาหารในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. ให้งดการจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน นอกจากนี้ส่วนของสถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
    พื้นที่ควบคุม สีส้ม 56 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชัยนาท ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พังงา พัทลุง พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร  ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ สามารถบริโภคในร้านได้ตามปกติ งดการจำหน่ายและงดดื่มสุรา นอกจากนี้ให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามมาตรการที่กำหนด
    ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการที่ผ่านมติที่ประชุม ศบค.ในวันนี้ จะต้องเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ลงนามให้ความเห็นชอบ ซึ่งเร็วที่สุดจะมีผลในคืนนี้ (15 พ.ค.64) หรือไม่ก็อาจเป็นคืนวันพรุ่งนี้ (16 พ.ค.64)
    “หลายคนต้องรอปากท้องในเรื่องของการเปิดกิจการ การกินอาหารก็เป็นเรื่องปัจจัยสี่ของเรา ซึ่งนายกฯ เห็นชอบเรื่องการผ่อนคลายในเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อผ่อนคลายเป็นนโยบายแล้ว เรื่องการกำกับติดตามหรือเรื่องที่ทำให้ผลการผ่อนคลายเป็นไปตามที่ทุกคนมุ่งหวังก็ต้องดำเนินการไปให้ได้”
ขอ ส.ส.ถอดหน้ากากอภิปราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับร้านอาหารที่จะเปิดให้บริการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการคือ 1.ลดที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่าง 25 เปอร์เซ็นต์ 2.เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร 3.การกำกับมาตรการให้เข้มข้น ซึ่งได้มอบหมายให้กรมอนามัย ส่วนปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยกันดู หากพบว่าผิดครั้งแรกให้ตักเตือน และพบครั้งที่สองครั้งต่อไปให้ปิดร้านได้เลย 4.จะมีการประเมินระยะยาวหากเกิดเหตุที่จะมีการติดเชื้อขึ้นมาอีกจากการผ่อนคลายมาตรการนี้ ก็สามารถที่จะกลับไปเป็นแบบเดิมได้คือการปิดเหมือนเดิม
    โฆษก ศบค.แถลงว่า การออกมาตรการเช่นนี้จะมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้เชิญกรมอนามัยและตัวแทนสมาคมภัตตาคารไทยมาพูดคุยกัน และออกมาตรการประกอบกิจการร้านอาหาร โดยมาตรการหลักคือ ผู้ประกอบการต้องประเมินไทยสต็อปโควิด ผู้ประกอบการและพนักงานต้องประเมินตนเองก่อนออกจากบ้าน กำหนดจุดคัดกรองพนักงานและผู้บริหาร ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด ทำความสะอาดพื้นที่ให้สะอาดทุกจุด เว้นระยะห่างระหว่างทางเดิน โต๊ะ และที่นั่ง พื้นที่รอคิวอย่างน้อย 1-2 เมตร ควบคุมจำนวนผู้รับบริการไม่ให้แออัด
    ส่วนมาตรการเสริมคือ มีการติดตามข้อมูลพนักงาน เช่น การใช้แอปพลิเคชันที่ราชการกำหนด รวมถึงลดการสัมผัส เช่น การจองคิวหรือสั่งซื้อกลับบ้าน ระบบชำระเงินออนไลน์ ขณะที่มาตรการจำเพาะ จะมีการจัดหาวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะฉีดให้ได้ 1 แสนราย หากพบพนักงานหรือผู้รับบริการเป็นโควิดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคทันที ซึ่งทางผู้ประกอบการก็รับปากจะทำให้ได้ เมื่อภาครัฐออกมาตรการเช่นนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนต้องให้ความร่วมมือ
    "วันนี้โซเชียลมีเดียก็มีพลัง สังคมก็จะช่วยดูแลกันและกัน โดยมาตรการเหล่านี้กรมอนามัยและฝ่ายปกครองจะเป็นผู้ดูแล หากพบการกระทำผิดครั้งแรกจะตักเตือน ครั้งต่อไปจะมีอำนาจในการสั่งปิด และถ้าประเมินแล้วมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกก็สามารถไปใช้มาตรการปิดเช่นเดิมได้" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ประชุม 4 ฝ่าย ได้หารือเตรียมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญ และประสานงานมายังตน เพื่อขอให้ดำเนินการประสานกับกรุงเทพมหานคร ขอปรับเปลี่ยนระเบียบคำสั่งกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกเคหสถานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และเห็นด้วยว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีวาระการประชุมและอภิปรายเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2565 ที่คาดว่าต้องใช้เวลาหลายวัน หากสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อาจส่งผลกับสุขภาพได้
    จึงจะขอให้ใช้ดุลพินิจผ่อนผัน ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากไม่มีการผ่อนผันให้ระหว่างการประชุม หรืออภิปรายในสภาจะเกิดปัญหาถูกปรับ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 วันนี้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"