โอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยไม้และป่าไม้


เพิ่มเพื่อน    

 

ภาคเกษตรกรรมไทยประสบปัญหาการผันผวนของราคาผลผลิตการเกษตรซึ่งมาจากลักษณะเฉพาะทั้งด้านการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความเป็นฤดูกาล การผลิตพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก อายุของผลผลิตเกษตรสั้น ปัจจัยด้านขีดจำกัดการบริโภคของประชากรชาวไทย การแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเกษตรกร รายได้มีแนวโน้มลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ภาระหนี้สินครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะภาวะวิกฤติโควิด 19 ที่กินระยะเวลายาวนานส่งผลให้การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรมีปัญหาเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะเกิดการล้นตลาดของผลผลิตเนื่องจากการหดตัวของการบริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ กระทบกับรายได้ของเกษตรกร ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคกระจายตัวและหยั่งรากถึงเศรษฐกิจพื้นฐาน

ในขณะที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยการเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้วหลายชุด การถือโอกาสปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และเป็นการเปลี่ยนจาก “การทำมากแต่ได้น้อย” มาเป็น “การทำน้อยแต่ได้มาก” 

หากมองย้อนกลับไป ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลักหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน เป็นต้น ในขณะที่ยิ่งผลิตมากเท่าไร งบประมาณที่ต้องสนับสนุน ก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวตัว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า การใช้สารเคมี ฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผา เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะเช่นนี้เป็นวงจรที่ควรแก้จากฐานรากนั่นคือ “ลักษณะการผลิตพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกรรายย่อย”

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ค่าเฉลี่ยการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 20 ไร่ต่อหนึ่งครัวเรือนเกษตร นั่นหมายถึงว่า เกษตรกรจะสร้างรายได้จากที่ดินดังกล่าวได้มากที่สุดอย่างไร หากตั้งคำถามเช่นนี้ ภายใต้เกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเองและที่สำคัญ คือ “มีน้ำ” รูปแบบการทำการผลิตไม่ควรเป็นการผลิตเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะพืชไร่หรือการทำนาโดยสิ้นเชิง เว้นเสียแต่รายได้หลักของครัวเรือนดังกล่าวมาจากกิจกรรมนอกภาคการเกษตร และเปลี่ยนโจทย์ว่ารายได้จากผลผลิตบนผืนดินเป็นรายได้เสริม และอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้เสริมดังกล่าวก็ได้

การกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตการเกษตรนั้นเป็นการปรับโครงสร้างสำคัญของเกษตรกร ที่เดิมเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนสูง ประกอบกับภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากราคาผลผลิตผันผวน หรือภัยพิบัติ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากสูญเสียที่ดินทำกิน การกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดความผันผวนด้านรายได้ลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวในระยะเวลาต่างกัน เช่น พืชผัก พืชไร่ ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ 

“การปลูกป่าถ้าจะทำให้ราษฎรมีประโยชน์ ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอัดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ” พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สามารถนำมาประยุกต์ได้ทั้งการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตสินค้าเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากครัวเรือนเกษตรน้อมนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้จะทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตลดต่ำลงได้ แนวคิดนี้ประกอบด้วยการกระจายความเสี่ยงของผลผลิตการเกษตร ผ่านการปลูกพื้นหลายระดับ เช่น ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล พืชผัก พืชตระกูลหัว เป็นต้น

นี่คือ โอกาสหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้

ในมุมมองด้านทรัพย์สิน หากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่ดินอย่างเดียว ดังนั้น ที่ดินเกษตรที่มีไม้เศรษฐกิจก็สมควรมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่ดินด้วย แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ประเทศไทยให้มูลค่าไม้เมื่อตัดแล้ว ทำให้มูลค่าไม้และผลกระทบสืบเนื่องต่ำกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกันหากไม้ยืนต้นมีมูลค่าในตอนที่มีชีวิตด้วย ทรัพย์สินของเกษตรกรและผู้ปลูกต้นไม้จะมีเพิ่มมากขึ้น แรงจูงใจด้านตัวเงินเช่นนี้ จะทำให้เกษตรกร ผู้ปลูกต้นไม้ และประเทศ “รวยขึ้น” จากมูลค่าของทรัพยากรไม้ที่เป็น Renewable Resources และยังเป็น Sustainable resources อีกด้วย นอกจากนั้น การให้คุณค่าแก่ต้นไม้ที่ยังมีชีวิต จะสร้างงานใหม่ทั้ง “รุกขกร” หรือ นักป่าไม้ นักวนวัฒนวิทยา ผู้ประเมินมูลค่า ผู้รับรองและตรวจสอบคุณภาพและแหล่งกำเนิดไม้ เป็นต้น 

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำไม้ในพื้นที่เอกชน แม้ว่า ภาครัฐจะได้ปรับแก้กฎหมายไปพอสมควร แต่การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในเชิงเศรษฐกิจ ต้องแก้ปัญหาความเข้าใจผิดของคนทั่วไปว่า การตัดไม้หรือการทำไม้เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็น “พวกตัดไม้ทำลายป่า” ในทางตรงข้ามการทำไม้ในพื้นที่เอกชนจะเร่งการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ และสามารถสร้างระบบและกลไกส่งเสริมไขว้ในป่าอนุรักษ์ได้อีกด้วย

ในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เข้ามาในราชอาณาจักรในปี 2561 คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจากกรมศุลกากร) ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเยื่อไม้ใช้ทำกระดาษ ที่เหลือหลัก ๆ ไม้ท่อน ไม้แปรรูป ในขณะที่การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม่รวมเยื่อกระดาษมีมูลค่ากว่า แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการการบริโภคไม้และผลิตภัณฑ์ที่มีนัยยะสำคัญทั้งปริมาณและมูลค่า ดังนั้น การสนับสนุนให้เกิดการผลิตไม้จะช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านจากการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ “ทำมากแต่ได้น้อย” มาเป็นการทำการเกษตรที่มีการกระจายความเสี่ยงและมีรายได้ดีขึ้น

ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่สวนยางพาราที่มีการปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น จำปาทอง ตะเคียน มะฮอกกานี ผสม พบว่า ผลผลิตยางพาราไม่ได้ลดลงแม้ว่าจำนวนต้นจะเหลือราวครึ่งหนึ่งของการทำสวนยางดั้งเดิม แต่รายได้ในระยะยาวของการทำสวนยางปกติกับการทำสวนยางผสมไม้มีค่านั้นแตกต่างกันอย่างยิ่ง นอกจากนั้น เกษตรกรชาวสวนยางที่มีการปลูกผสมไม้มีค่า ยังมีการเลี้ยงผึ้ง ปลูกกระชายเสริม ทำให้ได้รายได้จากการทำการเกษตรบนที่ดินมากขึ้น ลดปริมาณการใช้ปุ๋ย และยาลง ทำให้ต้นทุนทางการเกษตรลดลง สวนผลไม้ทางใต้ที่ผู้เขียนไปดูงานพบว่า เกษตรกรได้รายได้ระยะสั้นจากผลไม้ แต่ได้รายได้ระยะปานกลางและระยะยาวจากไม้มีค่า กลุ่มธนาคารต้นไม้ในจังหวัดราชบุรี กลุ่มธนาคารต้นไม้คลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง ของการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ผสมผสานกับกิจกรรมทางการเกษตรอื่น ๆ

ในด้านสิ่งแวดล้อมและการป่าไม้ ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีที่ร่วมลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญา UNFCCC พิธีสารเกียวโต และข้อตกลงปารีส แม้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนอกภาคผนวก 1 ซึ่งไม่มีผลบังคับประเทศไทยในการจัดการหรือมีกลไกการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต แต่ในปี 2564 ที่ข้อตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้ ทุกประเทศต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยต้อกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีกลไกที่จะจัดการการปล่อยก๊าซฯ ดังกล่าว ดังนั้น การปลูกต้นไม้ และการสร้างกลไกที่ทำให้จูงใจผู้ปลูกป่าและต้นไม้จะช่วยในกระบวนการการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของไทยด้วย ในทางวิทยาศาสตร์พบว่า การปลูกต้นไม้ที่มีอายุปานกลางและอายุยาวนั้น การดูดซับก๊าซฯ (Carbon Sequestration) จะทำได้อย่างมีนัยยะสำคัญและมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น การส่งเสริมการใช้ไม้และผลิตภัณฑ์จะช่วยเรื่องการจัดการคาร์บอนได้ดีอีกด้วย กระบวนการตลาดคาร์บอน ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทย
ประโยชน์ที่แฝงในการจัดการป่าไม้ คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยได้ทำการศึกษา เช่น การดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากป่าที่มีสมุนไพร เห็ด รา บางประเภทที่มีจำนวนมากในป่าเขตร้อนเช่นประเทศไทย การส่งเสริมนวัตกรรมในการใช้ประโยชน์จากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้ ยังสอดคล้องกับ เป้าหมายของประเทศในเรื่อง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย คิดเล่น ๆ ว่าในภาวะวิกฤติโควิด 19 สวนยางพาราที่มีการปลูกกระชายเอาไว้ มูลค่าการขายกระชายอาจเป็นรายได้ที่เฟื่องฟูกว่าภาวะปกติ และอาจเป็นรายได้หลักของเจ้าของสวนยางพาราเลยทีเดียว 

เราจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนาประเทศโดยการส่งเสริมไม้และป่าไม้ ให้มีมูลค่าตั้งแต่ตอนยังมีชีวิต จัดการระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ และทำให้การตลาดไม้และป่าไม้ขับเคลื่อนได้ แต่ทั้งนี้ ระบบบริหารจัดการก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แนวทางหนึ่งที่รัฐอาจพิจารณา คือ การจัดตั้งกองทุนป่าไม้แห่งชาติ ให้มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้และป่าไม้ และมีหน้าที่ในการส่งเสริมการจัดการป่าอนุรักษ์ จัดสร้างกลไกทางการตลาดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รวมถึง รวบรวมและจัดระบบกฎหมายป่าไม้และอุตสาหกรรมไม้ เพื่อทำให้ให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยไม้และป่าไม้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


ดร. ประชา คุณธรรมดี
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"