ความเจ็บปวดของ 'ชินวัตร'


เพิ่มเพื่อน    

        เทรนด์นี้กำลังมา

            พฤษภาคม เป็นเดือนแห่งความเจ็บปวด

            ก็คงจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะมวลชนผู้เสียสละ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พฤษภาเผาเมือง  

            พฤษภาทมิฬ อธิบายได้ไม่ยาก มวลชนจากชนชั้นกลางต่อสู้กับเผด็จการสุจินดา

            บาดเจ็บล้มตายคือความเจ็บปวดของคนไทยทั้งประเทศ

            พฤษภาเผาเมือง มวลชนส่วนใหญ่จากรากหญ้า บาดเจ็บล้มตาย สู้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มีคนบอกว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่โดนไล่ทุบรถเกือบตาย

            เป็นการต่อสู้ของขั้วการเมือง แต่ความเจ็บปวดนี้ไม่ได้ครองใจคนทั้งประเทศ

            เหมือนการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม กปปส. ที่ นปช.คนเสื้อแดง ไม่รับรู้ความเจ็บปวดด้วย 

            กลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองคู่ขนาน

            เรื่องคือว่าวานนี้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า

                "ดิฉันขอวิงวอนว่าความเจ็บปวดที่ครอบครัวของเหยื่อการเมืองไทยและผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น จะเป็นความเจ็บปวดครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศไทยค่ะ #๑๑ ปี  ๑๙ พฤษภา

                ดิฉันขอร่วมรำลึกถึงความสูญเสียของประชาชนจากการสลายชุมนุมปี ๒๕๕๓ ที่ประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำจากฝ่ายรัฐ และขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วม #คืนความจริง ให้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันนั้น"

            ถ้าคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างความฉิบหายทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ มาแสดงความเจ็บปวด คงรับฟังได้

            แต่นักการเมืองตระกูลชินวัตรมาแสดงความเจ็บปวด  มันคือการตีหน้าเศร้าเล่าเรื่องเท็จ 

            พรรคการเมืองได้ผลประโยชน์ทางการเมืองบนความสูญเสียของคนเสื้อแดง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเข้าใจกันว่าความรุนแรงในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๓ มาจากฝั่งตรงข้ามคนเสื้อแดงเพียงฝ่ายเดียว

            เบื้องหลังของความรุนแรงเกิดจากใครกันแน่

            พฤติกรรมของหลายคนในอดีต ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นประวัติศาสตร์คู่ขนานที่ฝ่ายคนเสื้อแดงไม่เคยยอมรับ

            แต่มันถูกบันทึกเอาไว้ในหน้าสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก  ต่างนำเสนอไปในทิศทางเดียวกันว่า มีคำสั่งจากแดนไกล ล้มโต๊ะเจรจาก่อนเปิดยุทธการเผาเมืองไม่กี่วันหลังจากนั้น

            คนรุ่นใหม่ที่มักอ้างว่าเกิดมาในยุคเผด็จการประยุทธ์  ไร้สิทธิเสรีภาพ ถูกกดทับ ในทุกด้าน ควรกลับไปศึกษาข้อมูลว่า ก่อนยุคที่ถูกกดทับนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

            โดยเฉพาะเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ที่พยายามบิดเบือนสร้างอุปาทานหมู่ว่า ไม่มีการเผาเมือง ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ นั้น ความจริงคืออะไร และเริ่มต้นที่ตรงไหน

            คงไม่ต้องถอยไปไกลถึงเรื่องไล่ทุบรถ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่กระทรวงมหาดไทย "นิพนธ์ พร้อมพันธุ์" เกือบสังเวยชีวิตให้กับความบ้าคลั่งของคนเสื้อแดง

            เริ่มที่วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ถูกเรียกว่ารัฐบาลร่างทรงของเผด็จการทหาร เปิดโต๊ะเจรจากับกลุ่มแกนนำ นปช. ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง ๑๑

            บรรยากาศภายในห้องประชุมทั้งสองฝ่ายต่างมีสีหน้ายิ้มแย้ม     

            อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นั่งตรงข้ามกับ วีระ  มุสิกพงศ์

            กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นั่งตรงข้าม กับ เหวง โตจิราการ

            ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นั่งตรงข้าม จตุพร พรหมพันธุ์

            ทั้งสองฝ่ายได้จับมือกันเพื่อให้สื่อมวลชนได้บันทึกภาพ

            ส่วนประชาชนจ้องจอทีวีตาแทบไม่กะพริบ

            น่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการรัฐบาลเดียวในโลกที่ยอมให้มีการถ่ายทอดสดทางทีวีให้ประชาชนได้ติดตามดูการพูดคุยอย่างใกล้ชิด

            ไม่มีอะไรปิดบัง!

            เจรจาประมาณ ๓ ชั่วโมงครึ่งไม่ได้ข้อยุติ นัดเจรจาใหม่วันรุ่งขึ้น

            จันทร์ที่ ๒๙ มีนาคม จตุพร พรหมพันธุ์ เสนอให้รัฐบาลยุบสภาใน ๒ สัปดาห์

            รัฐบาลเห็นด้วยว่าต้องยุบสภา แต่ขอเวลายุบใน ๙  เดือน

            ทีนี้มาดูว่าบนโต๊ะเจรจาวันนั้น ใครพูดอะไรไว้บ้าง

            "อภิสิทธิ์" : ไม่ปฏิเสธเรื่องการยุบสภา เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระบบ แต่มีคำถามว่า ยุบเพื่อวัตถุประสงค์อะไร โดยยืนยันพรรคร่วมสนับสนุนการเจรจาในครั้งนี้ แต่การตัดสินใจต้องฟังความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยว่า การยุบสภาจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ซึ่งตนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของคนทั้งประเทศ

            "วีระ" : ข้อขัดข้องอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหา แต่เมื่อเห็นว่าการจัดทำประชามติ และการแก้ไขในรัฐธรรมนูญไม่เดินหน้า จึงเห็นว่าการยุบสภาจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ซึ่งรับประกันได้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะยอมรับไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร

            "จตุพร" : รัฐบาลชุดนี้จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จและคงเป็นไปได้ยาก ท่าทีของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่เกี่ยวกับ ทักษิณ แต่เป็นมติของคณะกรรมการพรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่า รัฐบาล ไม่สามารถดำเนินการบริหารประเทศต่อไปได้

            "กอร์ปศักดิ์" :  ควรมีการกำหนดประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการยุบสภา โดยให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด เพื่อเป็นเครื่องประกันว่ารัฐบาลใหม่ที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาจะดำเนินการแก้ไขตามที่กำหนดไว้

            เห็นอะไรมั้ยครับ 

            การแก้ไขรัฐธรรมนูญมักถูกหยิบยกมาอ้างว่ามีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งได้ทั้งสิ้น ไม่ว่ารัฐบาลไหน

            แม้กระทั่งการเมืองเปลี่ยนขั้วแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขึ้นมาแทนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมา ว่าหากมีการแก้ไขแล้วจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้

            โต๊ะเจรจาทำท่าว่าจะมีทางออก เพราะเห็นร่วมกันแล้วว่าต้องยุบสภา แต่รายละเอียดต่างกันแค่เงื่อนเวลา ที่ถกเถียงกันอยู่พักใหญ่

            สุดท้าย "วีระ" พูดตัดบทว่า "รอเสนอถ้า ๑๕ วันมันไม่ไหว รอเสนอมากี่วันมาว่า เท่าไร"

            ประชาชนที่้เฝ้าอยู่หน้าจอ เริ่มจะเบาใจว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะจบลงได้

            เสื้อแดงจะสลายการชุมนุม

            ฉากสุดท้ายในวันนั้นคือ อภิสิทธิ์ บอกว่า จะคุยกันนอกรอบอีกครั้งก็ได้ และรัฐบาลพร้อมยินดีเจรจา ผมไปต่างประเทศจะกลับมาอีกครั้งวันพฤหัสบดี แต่อยากให้รักษาบรรยากาศอย่างนี้ไว้

            ส่วน "จตุพร" พูดว่า "พวกผมอยู่กับประชาชน พวกผมต้องไปถามผู้ชุมนุมจะเอาอย่างไรกันต่อ"

            "อภิสิทธิ์" ตอบว่า "ฝ่ายผมก็ยินดีนัดหมาย"

            ใครฟังก็ต้องรู้สึกเหมือนกัน เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

             แต่น่าเสียดาย ไม่มีการเจรจารอบที่ ๓ เกิดขึ้น เพราะมีการเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงจากมวลชนเสื้อแดงบางกลุ่ม และกองกำลังติดอาวุธชุดดำ

            ขณะนั้นมีการตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนสั่งล้มโต๊ะเจรจา

            ใครที่รอไม่ไหวกับการยุบสภาใน ๙ เดือน 

            ใครที่รู้ดีว่าเสนอยุบสภาใน ๒ อาทิตย์ของ นปช.นั้น เป็นไปไม่ได้

            ใครคนนั้นคือคนสั่งให้ นปช.แตกหักกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดการนองเลือด

            เชื่อหรือไม่ว่าคนคนนั้นยังคิดใช้รูปแบบที่ว่าในวันนี้

            ปราบปรามให้นองเลือด ดึงต่างชาติแทรกแซง

            และแล้วพฤษภา ๒๕๕๓ ก็นองเลือดจริงๆ

            แต่...ต่างชาติไม่มีใครเล่นด้วย เพราะรู้ดีว่า นี่ไม่ใช่การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย แต่เป็นการชิงอำนาจทางการเมือง

            ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ "อภิสิทธิ์" ประกาศยุบสภา

            แทนที่จะเป็น ๙ เดือนที่ นปช.บอกว่ารอไม่ไหว  "อภิสิทธิ์" อยู่ต่อถึง ๑ ปี

            ครับ...ความเจ็บปวดที่ "ยิ่งลักษณ์" แสดงออกมาลึกๆ แล้ว อาจจะเป็นความเจ็บปวดของพี่ชาย แพ้ยับเยินในเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง           

            มาแพ้ซ้ำกับ พ.ร.บ.นิรโทษโกง

            และแพ้หมดรูปเพราะกลับมาโกง จนไม่มีแผ่นดินอยู่

            แม้นี่จะเป็นประวัติศาสตร์คู่ขนาน

            แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกว่ามีคนโกงจริง

            และหนีไปอยู่ต่างประเทศจริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"