ผลกระทบโควิดสามรอบ ขยายความเหลื่อมล้ำในสังคม


เพิ่มเพื่อน    

 

         สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดรอบสามในประเทศไทยยังวิกฤติต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่แต่ละวันยังแตะระดับหลักพันต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจก็เห็นชัดรอบนี้ ประชาชนหลายกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตและการทำมาหากินจำนวนมาก 

            ขณะเดียวกัน เรื่อง ผลกระทบทางสังคม ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด ก็จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและคนในครอบครัวตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะ กลุ่มคนยากจน-กลุ่มเปราะบาง ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็จะยิ่งทำให้สังคมไทยเกิดปัญหา-ช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตามมาด้วย

            ปมปัญหาทางสังคมดังกล่าวอันเป็นผลมาจากผลกระทบโควิด ทางด้านความคิดเห็นจากนักวิชาการ-นักวิจัย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) นักวิชาการที่ศึกษาเรื่อง ผลกระทบโควิดในประเทศไทยต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เขาได้โฟกัสประเด็นเรื่องผลกระทบโควิดกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไว้ว่า ประเด็นความเหลื่อมล้ำกับโควิด กระทบในสามช่องทาง

...layers แรกคือ ทุนนิยม คือคนที่มีเงินจะได้เปรียบในการเอาตัวรอดทุกอย่าง เช่น คนที่มีเงินออมเยอะกว่า ก็สามารถอยู่บ้านได้ แต่ถ้าอีกกลุ่มหนึ่งมีหนี้สิน เช่นคนขับแท็กซี่ ต้องส่งค่างวดทุกวัน จะไม่ออกไปขับรถไปหาเงิน ไปเจอกับความเสี่ยงได้หรือ อันนี้ก็คือความเหลื่อมล้ำแล้ว หรือภาคธุรกิจ หากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก การกู้เงินก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า ธนาคารไม่ค่อยอยากปล่อยกู้ โดยเฉพาะช่วงโควิด แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ก็มีสายป่านที่ยาวกว่า มีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่า นี้คือ layers ทุนนิยมที่พอเกิดโควิด ยิ่งไปถ่างทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก

            สำหรับ layers ที่สองคือเรื่อง วัฒนธรรม ซึ่งเรื่องนี้สังคมไทยไม่ค่อยถูกกดทับเท่าไหร่ แต่บางสังคมก็มี เช่นผู้ชายสำคัญกว่าผู้หญิง ของไทยเราก็มีบ้าง เช่นที่ภาคใต้ ที่คนไปติดโควิดมาจากการไปประกอบพิธีกรรม อันนี้ก็อาจมีบ้าง หรือการติดพวกการพนัน โดยจะมีคนบางกลุ่มโดยเฉพาะ ที่เพราะความเชื่อทางศาสนาและเพราะแบบแผนการดำเนินชีวิตทำให้เขาเกิดความเสี่ยง

            ส่วน layers ที่สามคือเรื่อง การเมือง การที่เรามีกลไกการเมืองที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มที่ แต่ก็ไม่ใช่เผด็จการแบบเต็มที่เหมือนกัน เราอยู่แบบครึ่งๆ กลางๆ มันก็ทำให้มีกลไกเบียดขัดอยู่เหมือนกัน มันทำให้มีคำถามเกิดขึ้นบางกรณี เช่น ทำไมคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนกลุ่มแรกๆ ไม่ใช่กลุ่มแพทย์ แต่กลับกลายเป็นแคดดี้ คนในสถานบริการ เราจะเห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอยู่ว่ากลุ่มไหนจะได้รับวัคซีนหรือการช่วยเหลือก่อน ซึ่งถ้าเป็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เราจะได้วัคซีนที่หลากหลายขึ้น มีแผนการจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น

            ดร.นณริฏ นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวต่อว่า "จากที่ผมได้ศึกษามา คนที่อยู่ฐานล่างทางสังคมที่น่ากังวลใจ ก็เช่นกลุ่มเด็กเล็กในครอบครัวยากจน กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง เช่น การไม่สามารถเรียนทันคนอื่น ไม่สามารถเรียนในระบบออนไลน์ได้ จนต้องออกจากการเรียนกลางคัน จนถึงกระทั่งหลุดออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงานเลย ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาในระยะยาว

....รวมถึง กลุ่มคนตกงาน โดยกลุ่มคนตกงานจากโควิดรอบแรกจนถึงรอบสาม มีความเสี่ยงที่จะกลับไปทำงานอีกได้ยาก รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่สามารถหางานได้ จะเกิดสภาพ ตกงานเรื้อรัง ที่ก็จะต้องมาแข่งกับคนรุ่นต่อไปจากกลุ่มเขา คือพวกบัณฑิตที่จบในปีการศึกษาต่อไปอีก โดยที่กลุ่มบัณฑิตว่างงานที่ไม่ได้ทำงานแล้วไม่มีการพัฒนาทักษะในช่วงไม่ได้ทำงาน ก็จะมีความเสี่ยงมากจะเป็นกลุ่มเปราะบาง"

ดร.นณริฏ ให้ข้อมูลอีกว่า นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลดผู้สูงอายุเร็ว อย่างภาคเอกชน พออายุเลยห้าสิบปีก็จะเห็นการถูกปลดออกไปเยอะ อันนี้ก่อนมีโควิดด้วยซ้ำ พอมีโควิดยิ่งทำให้ปลดเร็วกว่าเดิม ผนวกกับประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ก่อหนี้เก่ง เก็บไม่เป็น มีสถาบันที่วิจัยเรื่องผู้สูงอายุ พบว่ามีผู้สูงอายุไทยแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะรับวิกฤติต่างๆ ดังนั้นหากตกงานชีวิตพวกเขาจะเปราะบางมาก ต่อให้ได้รับเงินจากภาครัฐและการช่วยเหลือจากครอบครัว ก็มีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายได้

            "โควิดยิ่งทำให้กลุ่มคนเปราะบาง ที่เดิมก็เปราะบางอยู่แล้ว เขาจะยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีก แล้วมันมีแนวโน้มว่าหากเขาหลุดไปแล้ว จะลงไปอยู่ในระดับล่างลงไปอีกจนไม่สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ อย่างเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาแล้ว จะกลับเข้ามาอีกก็ยาก"

            ..อย่างไรก็ตาม ก็พบว่าที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ว่าภาครัฐไม่สนใจกลุ่มเปราะบาง แต่ผมก็ยังคิดว่ายังดีไม่พอ อย่างจากการสำรวจของกองทุกเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่ามีกลุ่มเด็กเสี่ยงที่อยู่ในครอบครัวหรือครัวเรือนยากจนร่วมกว่า 2 แสนคน ทางภาครัฐยังเข้าไปช่วยเหลือไม่ถึง คือภาครัฐไม่ใช่ไม่ช่วย เขาไปช่วยแล้วแต่ยังมีปัญหาหลงเหลืออยู่ ซึ่งหากภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางพวกเด็กเล็กในครอบครัวยากจน-ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ-บัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ สี่กลุ่มนี้ หากภาครัฐเพิ่มการช่วยเหลือเข้าไปอีกก็จะดี

            เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ส่งไปถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องที่เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดรอบนี้ เพื่อไม่ให้มีการทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"