วัคซีนไม่พอ‘วอล์กอิน’ติดกึก รัฐเจอปัญหาทำปชช.สับสน


เพิ่มเพื่อน    

    สับสนกันพอสมควรกรณี ‘วัคซีนวอล์กอิน’ หลังก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ปรากฏว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม กลับมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เบรกเรื่อง

                ‘วอล์กอิน’

            ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีการกำหนดช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีนจำนวน 3 ช่องทางคือ จองผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม, นัดหมายสถานพยาบาล หรือ อสม. หรือผ่านองค์กร, ลงทะเบียน ณ จุดฉีด หรือเรียกว่า On-site Registration

            3 ช่องทางดังกล่าว การลงทะเบียน ณ จุดฉีด หรือ On-site มีความใกล้เคียงกับ ‘วอล์กอิน’ ที่สุด และคล้ายคลึงกับที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงล่าสุดหลังมีข่าวรัฐบาลเบรกเรื่อง ‘วอล์กอิน’ ว่า หากเดินทางไปแล้วไม่ได้รับวัคซีน ขอให้ลงทะเบียนในจุดที่วอล์กอิน เพื่อจะได้รับทราบวัน-เวลาที่ชัดเจนในการเดินทางมาฉีดวัคซีนต่อไป 

                “การรับวัคซีนสามารถวอล์กอินเข้าไปได้หากมีวัคซีนเพียงพอ เช่น ช่วงเช้าคนที่จองคิวไว้ไม่มาตามนัด จึงทำให้มีวัคซีนเหลือในวันนั้น หากวัคซีนพร้อมก็ได้รับการฉีดเลย แต่หากมีไม่พอจะให้ท่านลงทะเบียนเพื่อนัดกลับมาอีกครั้ง”

            รูปแบบวอล์กอินกับ On-site แทบจะเหมือนกัน ต่างกันที่คำเรียก รวมถึงรูปแบบ On-site ที่ทำให้ประชาชนรู้ตั้งแต่ต้นว่า การเดินเข้าไปไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้ฉีดในวันดังกล่าวเลย 

            ขณะที่วอล์กอิน ก่อนหน้านี้ประชาชนเข้าใจว่าเมื่อเดินเข้าไปแล้วจะต้องได้ฉีดทันที แต่เมื่อมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่าหลายคนไปแล้วไม่ได้ฉีดจึงเกิดปัญหา

            โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.มีเสียงบ่นจากประชาชนเป็นอย่างมากว่าไปแล้วไม่ได้รับการฉีด เพราะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เหตุนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องกลับมาทบทวน

            นอกจากนี้ ท่าทีของกรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทยเองก็ยังไม่อยากให้มีการวอล์กอิน เพราะวัคซีนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องถูกประชาชนก่นด่ารายวัน

            ขณะที่ย้อนไปดูเรื่องรูปแบบวอล์กอินก่อนหน้านี้ พบว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติให้เพิ่มการบริการให้กับประชาชน เพื่อให้การรับการฉีดวัคซีนเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนวอล์กอินเข้ามาได้  

            ส่วนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์เองก็เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวว่า รัฐบาลมีแผนเรื่องการให้ประชาชนสามารถวอล์กอินเข้าไปฉีดวัคซีนโควิดได้ โดยได้เตรียมการไว้ในช่วงเดือน มิ.ย. ถ้าหากมีวัคซีนเข้ามาเพียงพอ

            แต่การที่อยู่ๆ รัฐบาลไม่ปลื้มกับคำว่า วอล์กอิน จนมีการสั่งให้ทุกคนหยุดพูดเรื่องนี้จนกว่าจะมีมาตรการชัดเจน ก็น่าจะมีมูลเหตุมาจากเสียงโวยวายที่วอล์กอินไปแล้วไม่ได้ฉีด 

            เรื่องวอล์กอินนั้น ไอเดียนี้เริ่มต้นจากช่วงแรกที่รัฐบาลเปิดฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง แต่ปรากฏว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงหลายคนไม่กล้าไปฉีดเพราะกลัวผลข้างเคียง ทำให้ยอดผู้ฉีดวัคซีนต่ำกว่าเป้าหมาย จึงมีการเปิดโอกาสให้คนที่พร้อมสามารถมาฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

            ทว่า ปัจจุบันความเข้าใจในวัคซีนของประชาชนมีมากขึ้น ความกลัวน้อยลง ประชาชนส่วนใหญ่ต่างอยากฉีด แต่วัคซีนมีจำกัด ทำให้รูปแบบวอล์กอินไม่สามารถกระทำได้ในขณะนี้ จึงต้องมีการเบรกออกไป รอให้มีวัคซีนที่เพียงพอก่อน

            แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์มีเหตุผลในการเบรก แต่ผลกระทบที่ตามมาคือ ความสับสนของประชาชนว่าสรุปแล้วรัฐจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะกลับไปกลับมาหลายครั้ง

            และมันไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องลักษณะกลับไปกลับมา แต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการหรืออะไรบางอย่าง แต่ประชาชนกลับหาความชัดเจนเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ 

            จึงเป็นอีกครั้งที่รัฐถูกตั้งคำถามว่า สรุปแล้วไม่ได้มีการวางแผนรองรับเรื่องต่างๆ ล่วงหน้าไว้เลยใช่หรือไม่ 

            มันกลายเป็นว่า รัฐบาลหาเรื่องถูกด่าทั้งที่ไม่ควรจะต้องถูกด่าอะไรในเรื่องพวกนี้เลย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"