“รู้จักกินใช้เท่าที่มี” หลักพอเพียง..ฝ่าโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาปรับใช้ในชีวิต โดยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะหลักของความพอเพียงนั้น ยึดโยงกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าการเดินทางสายกลางนั่นเอง เพราะอันที่จริงแล้วหากเราดำเนินชีวิตอย่างพอดี ก็ย่อมเกิดให้เกิดประโยชน์มากกว่าผลเสีย เช่น ไม่ต้องเป็นหนี้สินจากการจับจ่ายเกินตัว ประกอบกับช่วงที่โควิด-19 ระบาดนั้น การประหยัดถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเงินทองจะหาได้ค่อนข้างลำบากมากขึ้น เห็นได้จากผู้ประกอบการหลายธุรกิจ ต้องรู้จักปรับตัวจึงจะสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเอง

 

อีกทั้งในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ยังทำให้หลายคนต้อง Work from home ทำงานที่บ้าน ซึ่งล่าสุดมีผลสำรวจของโพลชื่อดัง เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าน้ำประปาหรือไฟฟ้า ในช่วงที่คนทำงานอยู่บ้าน จากนโยบายของการหยุดเชื้อเพื่อชาติดังกล่าว ตลอดจนการที่ภาครัฐมีนโนบายคลายล็อคให้ร้านอาหารในจังหวัดเสี่ยงสีแดงเข้ม 4 จังหวัด (กทม,นนทบุรี,สมุทรปราการ,ปทุมธานี) ให้กลับมานั่งรับประทานที่ร้านได้ถึง 21.00 น.และลดจำนวนลูกค้าในร้านไม่เกิน 25%ของพื้นที่ร้าน อีกทั้งต้องการเว้นระยะห่างทางเดินกับโต๊ะอาหาร 1-2 เมตร ซึ่งหลายคนเกิดคำถามว่า เราควรออกไปกินอาหารนอกบ้านหรือไม่ งานนี้ “อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ” ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.มาให้คำแนะนำในการยึดหลักปรัชญา “ความพอเพียง” ในการดำเนินชีวิต ช่วงโควิด-19 ระบาดไว้น่าสนใจ

 

 

 “อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ” ให้ข้อมูลว่า “การยึดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับสภาพพื้นฐานของแต่ละคน และที่สำคัญหลังปรัชญาความพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่ยึดโยงกับหลักทางพระพุทธศาสนา นั่นคือความพอดีนั่นเอง ทั้งนี้โดยส่วนตัวอาจารย์ที่อยู่ต่างจังหวัดราชบุรี และอยู่บ้านสวนในอำเภอจอมบึง ก็จะสอดรับกับเศรษฐกิจพอเพียงคือ อาจารย์ได้กินผักสวนครัว และผลไม้ที่ปลูกอยู่รอบบ้าน ที่สำคัญจะซื้อเพียงเนื้อสัตว์เท่านั้น ตรงนี้จึงไม่เป็นปัญหาและไม่ได้ออกไหนนั่งอยู่ในสวน และทำกิจกรรมเล็กๆน้อยๆภายในบ้าน ก็ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ไปด้วยในตัว

 

 

แต่สำหรับผู้ที่ต้องอยู่ในเมือง หรือพักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม กระทั่งอยู่ในบ้านของตัวเองในกทม.นั้น ถ้าประหยัดได้ก็ควรประหยัด แต่ถ้าอันไหนที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ใช้น้ำใช้ไฟฟ้าในการทำงานที่บ้านก็ต้องใช้ เพราะเรายังต้องทำงาน แต่แนะนำว่าถ้าพอมีพื้นที่สวนบริเวณบ้าน ก็สามารถยกโน้ตบุคออกไปทำงานในสวนหลังบ้าน หรือใครที่อยู่คอนโดมิเนียมที่มีระเบียงระบายลม ก็สามารถลดการเปิดแอร์ในช่วงเวลากลางวัน และออกไปนั่งทำงานนอกระเบียงที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน เพื่อที่จะได้เปิดแอร์เฉพาะเวลากลางคืนช่วงเข้านอนเท่านั้น หรือเลือกวิธีเปิดประตูห้องเพื่อรับลมเย็นเข้ามา และเปลี่ยนจากการเปิดแอร์เป็นการเปิดพัดลมตัวเล็กๆแทนก็ได้เช่นกัน หรือในช่วงเวลากลางวันก็แนะนำ ให้เปิดหน้าต่างให้กว้าง  เพื่อให้แสงสว่างมีมากพอในการนั่งทำงาน ก็จะช่วยลดการเปิดไฟได้อีกด้วย นอกจากนี้หากเราต้องทำงานอยู่บ้าน และไม่ต้องการเปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะยกโต๊ะทำงานมาไว้ที่บริเวณ ซึ่งมีลมระบายอากาศแล้ว ก็สามารถหยิบผ้าขนหนูผืนเล็กๆมาชุบน้ำเย็น และลูบตัวเพื่อคลายร้อน ก็ประหยัดค่าไฟฟ้าไปในตัว

 

 

ส่วนเรื่องของมาตรการคลายล็อคดาวน์ ให้ร้านอาหารในพื้นที่สีแดงเข้ม สามารถนั่งรับประทานได้นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าการลดการออกไปนอกบ้านให้น้อยที่สุด ไม่เพียงเป็นการลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ยังลดค่าใช้จ่ายในการขับรถออกไปนอกบ้านได้ และถ้าพูดถึงเรื่องของความพอเพียงนั้น การทำอาหารกินเองที่บ้านในช่วงนี้ ก็เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย จากการขับรถไปยังร้านอาหารได้เช่นกัน ที่สำคัญให้ซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น อาทิ อาหารแห้ง ข้าวสาร ผักผลไม้ ที่สามารถเก็บไว้หลายวันได้ในตู้เย็น (แต่จะต้องไม่ใช่การกักตุนสินค้า แต่ให้ซื้ออย่างพอดี) เพราะเราจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า จะรอดพ้นวิกฤตของโรคระบาดนี้ไปได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือความพอเพียง พอดี และประหยัดอดออมนั่นเอง

 

สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ในการออกไปซื้ออาหารต่างๆนั้น คำแนะนำภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หากใครที่มีบ้านเดี่ยวในเมือง และพอมีพื้นที่เหลือเล็กน้อย ก็แนะนำให้ปลูกผักสวนครัวเล็กๆน้อยๆกินเอง เช่น กะเพรา หรือผักคะน้าแปลงเล็กๆ หรือจะปลูกในกระถางริมรั้วก็ได้ แต่ถ้าใครที่อยู่คอนโดมิเนียมที่ไม่มีพื้นที่ หากจำเป็นต้องซื้อก็ควรซื้อ แต่วิธีประหยัดค่าใช้จ่ายที่ดีที่สุด และได้สุขภาพที่แข็งแรงกลับมาพร้อมๆกันนั้น เช่น หากเป็นการซื้ออาหารกลับมาปรุงเองที่บ้าน เพื่อลดการติดเชื้อไวรัส หากเป็นในช่วงเช้าและช่วงเย็นนั้น โดยร้านค้าหรือตลาดอยู่ห่างประมาณ 1-5 กิโลเมตร ก็สามารถปั่นจักรยานไปซื้อได้ และก็จะทำให้เราได้ออกกำลังกาย ไปด้วยในตัวทำให้ร่างกายแข็งแรง หรือหากร้านจำหน่ายอาหารสด อยู่ห่างจากบ้านเราประมาณ 400-500 เมตรก็สามารถเดิน หรือ วิ่งออกกำลังกายเยาะๆ หรือวิ่งจ็อกกิ้งไปซื้อของได้เช่นกัน ก็ทำให้เราได้ออกกำลังกายทุกส่วนไปด้วย”

 

จริงอยู่ที่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม นับเป็นปัจจัยสี่ในการดำเนินชีวิต แต่ทว่าการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาปรับใช้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น “ผู้ทรงคุณวุฒิจากสสส.” อธิบายเกี่ยวกับการช้อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่ ในช่วงนี้ควรเลื่อนออกไปก่อน และให้ซื้อเฉพาะของใช้ที่จำเป็นเช่นอาหารการกิน ที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานๆ จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าว่า “ สำหรับการช้อปปิ้งเสื้อผ้าในช่วงนี้ ควรจะเป็นเรื่องที่ห่างไกล หรือยังไม่ควรซื้อ หมายความว่าถ้าเรายังใส่ชุดไหนได้ก็ให้ใส่ชุดนั้นไป เช่น การกลับไปหยิบชุดเก่าในตู้เสื้อผ้ามาซักให้สะอาดและใส่ ก็จะทำให้เรามีแฟชั่นสไตล์วินเทจใส่ โดยที่ไม่ต้องไปซื้อของใหม่ เนื่องจากช่วงนี้เงินทองหายากขึ้น ถ้าสิ่งที่ควรซื้อจริงๆควรเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูป ที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานๆก็จะดีกว่า ส่วนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อของนอกบ้านนั่นเอง และลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเอง”

           


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"