จับตาก้าวย่าง 'ไทยไม่ทน' เขย่าบังลังก์อำนาจประยุทธ์


เพิ่มเพื่อน    

       นับแต่การเปิดเวทีปราศรัยครั้งแรก 4 เม.ย. เผลอแป๊บเดียว ‘กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย’ ปลุกแนวร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ เกือบครบ 2 เดือนแล้ว แม้รูปแบบการปราศรัยจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไป ให้สอดรับเหมาะตามสถานการณ์ ท่ามกลางไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในระลอก 3 บวกกับกฎระเบียบข้อห้าม การรวมตัว ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส ทำให้กลุ่มไทยไม่ทนปรับรูปแบบจัดกิจกรรม จากเดิมมักจะนัดสมาชิกมาชุมนุมในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เวทีเปิด อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม มาเป็นรูปแบบเวทีปิด ปราศรัยออนไลน์ ห้องประชุมไทยไม่ทน สถานีพีซทีวี

            จากวิกราชดำเนิน ย้ายมารามอินทรา แต่เป้าหมายขับไล่ประยุทธ์พ้นตำแหน่งไม่เปลี่ยนแปลง ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ประธานใหญ่คนเสื้อแดง ‘อดุลย์ เขียวบริบูรณ์’ ‘วีระ สมความคิด’ ‘ไทกร พลสุวรรณ’ จากจุดตั้งต้น ริเริ่มเวที เริ่มขยับขยายไปยัง แนวร่วมหลายกลุ่ม หลายแขนงมากขึ้น

                ‘สุทิน คลังแสง’ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ‘พิชัย นริพทะพันธ์’ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ‘สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ‘โภคิน พลกุล’ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

                ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ‘ทวี สอดส่อง’ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ‘มงคลกิตติ์ สุขสินธานานนท์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ‘สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี’ สมาชิกกลุ่มแคร์

                รายชื่อนักการเมืองบางส่วนที่เคยมาร่วมเวทีไทยไม่ทนฯ นำเสนอในหลายแง่ หลายมุม ถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ไวรัสโควิด-19

            สมทบด้วยแนวร่วมหลายสาขาอาชีพ ผู้ชำนาญการแต่ละด้าน อาทิ ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตนายทหารผู้เปิดโปงการทุจริตในกองทัพ ต่างเคยมาขึ้นเวทีไทยไม่ทน

            เนื้อหาการปราศรัยใช่ว่าจะมีแต่วาทกรรม กระแทกกระทั้นด้วยถ้อยคำรุนแรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์และคณะเท่านั้น ยังมีข้อเท็จจริงที่คนในรัฐบาล ในกองทัพ และหน่วยงานอิสระควรเงี่ยหูฟัง โดยเฉพาะ หมู่อาร์ม-ส.อ.ณรงค์ชัย นำข้อมูลอันไม่ชอบมาพากลในกองทัพ อาทิ น้ำมันระเหยหายไปจากกองทัพต่อเดือนมูลค่ากว่าล้านบาท การสมคบคิดกัน เบิกเบี้ยเลี้ยงเท็จ การเบิกเงินเท็จ ร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร เป็นต้น ล้วนเป็นเรื่องอื้อฉาวในกองทัพ บางเรื่องส่งถึงมือผู้บังคับบัญชาแล้ว แต่นิ่งเงียบ บางเรื่องไปถึงมือ ป.ป.ช.แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าที่ควร

            การชุมนุมทั้งรูปแบบที่เคยลงถนนมาแล้ว และจัดปราศรัยรูปแบบปิดผ่านระบบออนไลน์ในการให้ข้อมูล เป็นเหมือนการเติมเชื้อให้ชุดข้อมูลความรู้กับประชาชน รอวันสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เตรียมนัดหมายแนวร่วมลงถนนขับไล่ประยุทธ์อีกครั้ง กลุ่มไทยไม่ทน ยกระดับการต่อสู้เข้มข้น เริ่มขยับขยายไปยัง คณะบุคคล หน่วยงานต่างๆ ตามที่ จตุพร ออกมาเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ นายวีระ สมความคิด นายไทกร พลสุวรรณ และผม จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงหน่วยงานและบุคคลต่างๆ วันที่ 24 พ.ค. เวลา 10.00 น. ยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล วันอังคารที่ 25 พ.ค. เวลา 10.00 น. ไปยังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง วันที่พุธ 26 พ.ค. เวลา 10.00 น. ไปพรรคภูมิใจไทย เรียกร้องให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล วันพฤหัสบดี 27 พ.ค. เวลา 10.00 น. ไปกองบัญชาการทหารบก ยื่นหนังสือให้ผู้บัญชาการทหารทำหน้าที่ทหาร อย่าทำหน้าที่นักการเมือง เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

            ที่น่าสนใจ เมื่อ 24 พ.ค. ธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง หนึ่งในแนวร่วมกลุ่มไทยไม่ทนฯ เดินทางไปยังศาลปกครอง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ไต่สวนกรณี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.... เพื่อกู้เงินในวงเงิน 7 แสนล้านบาท โดยร่าง พ.ร.ก.ที่บัญญัติวิธีใช้จ่ายโดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ คัดเลือกโครงการเอง กำกับโครงการเอง กำหนดระเบียบบริหารโครงการเองนั้น ทำให้มีช่องโหว่หละหลวม ขาดการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม ไม่ตรงหลักวินัยการเงินการคลัง จึงขอเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข

             แม้ในวันนี้ กลุ่มไทยไม่ทน จะยังไม่อาจเขย่าบังลังก์อำนาจประยุทธ์ให้สั่นคลอนได้ แต่จากการให้ชุดข้อมูลความรู้ทางวิชาการเสริมเข้าไป เป็นการหวังผลระยะกลางถึงยาว โดยเฉพาะความพยายามเน้นย้ำให้ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการบริหาร แก้ไขสถานการณ์โควิดอย่างผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งทางชีวิต ทรัพย์สิน ธุรกิจเสียหาย ขอให้ไปฟ้องรัฐบาลประยุทธ์ชดเชยค่าเสียโอกาส รายได้ที่หายไป

            ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ และ ศบค.เป็นจำเลย ให้เป็นกรณีตัวอย่าง น่าสนใจ หากปลุกกระแสฟ้องร้องรัฐบาล ให้กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ได้ คงจะสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับการยื่นคำร้องของธีรชัยก็น่าสนใจ ระหว่างนี้คงต้องเฝ้ารอผลคำวินิจฉัยศาลปกครองกลางด้วยใจระทึก

            กลุ่มประชาชนคนไทยที่เป็นแนวร่วมเดิม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดย นิติธร ล้ำเหลือ, พิชิต ไชยมงคล, ศิริชัย ไม้งาม ในอดีตแม้จะเป็นกลุ่มการเมืองยืนคนละฝั่งความคิดกับ จตุพร แต่ด้วยเครือข่าย นักกิจกรรม และรามคำแหงคอนเน็กชั่นที่มีคนเชื่อมเข้าด้วยกัน ในวันข้างหน้าจะมารวมตัว ร่วมเวทีกันหรือไม่ยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่แน่ๆ ในวันนี้มองประยุทธ์เป็นปัญหาของชาติ เหมือนกัน

                ยังไม่นับรวมความน่าจะเป็นของผู้ที่พยายามจะหลอมรวมผู้นำสองสีเสื้อ เหลือง แดง ที่มีอิทธิพลทางความคิด สนธิ-จตุพร ให้ขึ้นเวทีขับไล่ ประยุทธ์ด้วยกัน แม้ในวันนี้เป็นเพียงชุดความคิด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาไม่น้อย.   

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"