เปิดงบ 2565 รายกระทรวง ฝ่ายค้าน จัดทัพ ชำแหละ


เพิ่มเพื่อน    

      สภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมเพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565  ระหว่างวันที่ 31 พ.ค., วันที่ 1-2 มิ.ย. ด้วยวงเงินงบประมาณกว่า 3.1 ล้านล้านบาท เวทีสภาที่ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลตั้งตารอคอย โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่ว่ากันว่า จะแปรเปลี่ยนการประชุมพิจารณางบวาระที่หนึ่งนี้ ให้เป็นเสมือน ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อมๆ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา  อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกสาม  ที่เมื่อหันไปดูการบริหารจัดการ การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลแล้ว ล้วนล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ 

            เมื่อพลิกไปดูเอกสารบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ  ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ส่งมายังสภา สรุปรายละเอียดแยกย่อยเป็นรายกระทรวง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ รวมไปถึงแยกเป็นการใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เอาไว้ทั้งสิ้น 34 รายการ ประกอบด้วย

            (1) งบกลาง จำนวน 571,047.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.4 (2) สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 34,017.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 (3) กระทรวงกลาโหม จำนวน  203,282.0 ล้านบาท ร้อยละ 6.6 (4) กระทรวงการคลัง  จำนวน 273,941.3 ล้านบาท ร้อยละ 8.8 (5) กระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 7,618.7 ล้านบาท ร้อยละ 0.2 (6) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 5,164.6 ล้านบาท  ร้อยละ 0.2 (7) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 24,664.8 ล้านบาท ร้อยละ 0.8 

            (8) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 124,182.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.0 (9) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 110,126.5 ล้านบาท  ร้อยละ 3.6 (10) กระทรวงคมนาคม จำนวน 175,858.7  ล้านบาท ร้อยละ 5.7 (11) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 6,979.1 ล้านบาท ร้อยละ 0.2 (12) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 28,325.5 ล้านบาท ร้อยละ 0.9 (13) กระทรวงพลังงาน จำนวน 2,717.5  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 (14) กระทรวงพาณิชย์ จำนวน  6,523.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.2 

            (15) กระทรวงมหาดไทย จำนวน 316,527.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.2 (16) กระทรวงยุติธรรม จำนวน  24,321.3 ล้านบาท ร้อยละ 0.8 (17) กระทรวงแรงงาน  จำนวน 49,742.8 ล้านบาท ร้อยละ 1.6 (18) กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 7,104.4 ล้านบาท ร้อยละ 0.2 (19)  กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 332,398.6 ล้านบาท ร้อยละ 10.7 (20) กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 153,940.5 ล้านบาท ร้อยละ  5.0 (21) กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 4,380.1 ล้านบาท  ร้อยละ 0.1 

            (22) ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงาน ภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี จำนวน 122,729.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.0 (23) จังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 17,411.0 ล้านบาท ร้อยละ 0.6 (24) รัฐวิสาหกิจ จำนวน 130,586.4 ล้านบาท ร้อยละ 4.2 (25) หน่วยงานของรัฐสภา จำนวน  8,208.1 ล้านบาท ร้อยละ 0.3 (26) หน่วยงานของศาล  จำนวน 22,947.8 ล้านบาท ร้อยละ 0.7 (27) หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ จำนวน 18,468.6 ล้านบาท  ร้อยละ 0.6 (28) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน  78,305.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.5 

            (29) หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 479.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.0 (30) สภากาชาดไทย จำนวน 8,265.4 ล้านบาท ร้อยละ 0.3 (31) ส่วนราชการในพระองค์ จำนวน  8,761.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.3 (32) ทุนหมุนเวียน  จำนวน 195,397.9 ล้านบาท ร้อยละ 6.3 (33) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.0  (34) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978.6  ล้านบาท ร้อยละ 0.8

            สำหรับเป้าหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย  พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ตั้งเป้าชำแหละแยกเป็น รายกระทรวง โดยเฉพาะกลุ่มกระทรวงที่เกี่ยวกับมิติด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ในกลุ่มกระทรวงหลัก มีทั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข  เป็นต้น เพราะแต่ละกระทรวงล้วนได้รับงบประมาณสูงเกินแสนล้านบาท

            ว่ากันว่ามีการปักหมุด กำหนดเป้าหมาย โดยหยิบยก สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทุกวันนี้ยอดผู้ติดเชื้อ สูงถึงหลัก 2-3 พันคนต่อวัน ผู้เสียชีวิต 20-30 คน และภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณไว้อย่างไร ทั้งที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาไวรัสโควิด การบริหารจัดการเรื่องวัคซีน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชน การเร่งให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการฟื้นฟูภาคธุรกิจ หลังเหตุการณ์ไวรัสโควิดเริ่มคลี่คลาย จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

            ไฮไลต์คงจะมีการนำมาเปรียบเทียบกันระหว่าง งบประมาณกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงสาธารสุข และลากโยงไปถึงความพยายามกู้เงินของภาครัฐอีก 7 แสนล้านบาท  โดยจะโยงให้เห็นภาพเหล่าทัพ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดซื้ออาวุธ การก่อสร้าง หรือการนำไปใช้ในส่วนอื่นที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์ แทนที่จะทุ่มให้กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน นักรบชุดขาว แพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร  ตลอดจนเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นด่านหน้า เสี่ยงภัยกับปัญหาไวรัสโควิด ที่จะถูกนำมาเปรียบเทียบ อย่างแน่นอน 

            ขุนพลนักอภิปรายก็คงจะเป็นคนหน้าเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น สุทิน คลังแสง กับ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม, ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา,  ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.,  วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย, สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี, จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด จากค่ายเพื่อไทย สมทบด้วยทีมก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, วิโรจน์  ลักขณาอดิศร, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แตะมือร่วมทีม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นต้น 

            เป็นเพียงขุนพลที่คาดการณ์เอาไว้เบื้องต้น ไม่น่าจะหลุดโผไปจากนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นนักอภิปราย หลายคนเคยเป็นรัฐมนตรี เคยอยู่ในหน่วยงานสำคัญๆ ของรัฐ จึงรู้ถึงเบื้องลึก เบื้องหน้า เบื้องหลัง การจัดสรรงบประมาณเป็นอย่างดี 

                เวทีชำแหละงบประมาณที่ฝ่ายค้านวาดหวังว่า คงไม่ต่างจากเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์และคณะ จะดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหน รอเพียงอึดใจเดี๋ยวคงได้รู้กัน ในวงเล็บท่ามกลางข่าวประธานสภาผู้แทนราษฎรปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของตัว ส.ส.ที่จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน กับข่าวแม่บ้านสภาติดโควิด  คลัสเตอร์คนงานก่อสร้างสภาแห่งใหม่ที่เข้ามาตกแต่งห้องทำงาน ส.ส.และห้องทำงานส่วนอื่นของสภา ที่ระบาดลุกลามจนคุมไม่อยู่ จนการประชุมถูกเลื่อนไปเสียก่อนนะ. 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"