กู้5แสนล้านสู้โควิด รัฐบาลแจงรับมือระบาดยืดเยื้อลุ้นดันจีดีพีโตเพิ่ม1.5%


เพิ่มเพื่อน    

  “สุพัฒนพงษ์” นำทีม ศก.ตั้งโต๊ะแจงกู้สู้โควิด-19 ระลอกใหม่อีก 5 แสนล้านบาท เตรียมพร้อมรับมือระบาดยืดเยื้อ ดูแลทุกกลุ่มครบทุกมิติ คลังลุ้นช่วยเข็นจีดีพีโตเพิ่ม 1.5% การันตีพิจารณารอบคอบไม่เกินเพดานหนี้ 60% ยันตัวเลขเหมาะสม ปรับลดจาก 7 แสนล้านบาท ประเดิมกู้ก้อนแรกแสนล้าน จ่อชง 4 โครงการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหม่เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน แถลงว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว โดยการกู้เงินดังกล่าว เพื่อใช้ในการดูแลประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย รักษาการจ้างงานและสร้างงานให้กับภาคประชาชนในระดับท้องถิ่น หรือโครงการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากการระบาดในอนาคต หรือรองรับการระบาดในครั้งนี้ที่อาจจะทอดยาวออกไป
    โดย พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาทนี้ จะเป็นคู่แฝดไปกับมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท รวมเป็น 3.5 แสนล้านบาท และยังมี พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1.25 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินที่รัฐบาลได้เตรียมไว้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและวิกฤติอย่างในครั้งนี้ ซึ่งให้ความช่วยเหลือครบทุกมิติ
    “พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมไม่เกิน 5 แสนล้านบาทนี้ เชื่อว่าจะอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หากภาคเอกชน ประชาชนทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่รัฐบาลกำหนด ก็เชื่อว่าจะควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดีขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าการระบาดในไทยอยู่ในช่วงท้าย ๆ แล้ว เพราะมีวัคซีนและเริ่มทยอยฉีดอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภายในไตรมาส 2/2564 น่าจะควบคุมการระบาดได้ แต่การกู้เงินในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของรัฐบาล หากต้องเจอกับสิ่งที่ไม่แน่นอน ซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับไทย แต่เกิดทั้งโลก จึงประมาทไม่ได้” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ
    ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้แบ่งแผนงาน หรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ออกเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และ 2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านบาท และ 3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท พร้อมทั้งกำหนดชัดเจนว่า กรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงาน หรือโครงการภายใต้ 3 วัตถุประสงค์นี้ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
    “3 แผนงานนี้จะเป็นแผนงานที่เข้ามาเสริมแผนงานตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉบับแรก วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะเน้นย้ำในบางเรื่องที่สำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วง นั่นคือเรื่องเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพหรือธุรกิจรายเล็ก ส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการก่อนหน้าแล้ว อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ และโครงการม33เรารักกัน” นายอาคมกล่าว
ลุ้นช่วยดันจีดีพีโตอีก 1.5%
    นอกจากนี้ ประเมินว่าการกู้เงินเพิ่มเติมวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาทนี้เป็นวงเงินที่เหมาะสม และคาดว่าการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้แผน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 1.5% จากกรณีฐานที่ก่อนหน้านี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 1.5-2.5% เนื่องจากมีมาตรการเสริม และมีพื้นที่ทางการคลังที่จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งทำให้คาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้
    รมว.การคลังยืนยันว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้กู้เงินในครั้งเดียวทั้งหมด แต่จะทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้ โดยประเมินว่าหากกู้เต็มวงเงินจะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 อยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี ยังอยู่ภายใต้กรอบหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะพิจารณาการกู้เงินอย่างระมัดระวัง โดยดูทั้งตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ และการออกตราสารหนี้ในแต่ละช่วงให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติมากที่สุด โดยรัฐบาลจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2565
    นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาทนั้น หลักๆ จะใช้เม็ดเงินเพื่อสนับสนุนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไปจากงบประมาณ โดยจะเน้นไปที่โครงการบริหารจัดการน้ำในชุมชน โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ขนาดไม่ใหญ่ และโครงการลงทุนพื้นฐานอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการช่วยดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น กระตุ้นการบริโภคในประเทศระยะสั้น
    รวมถึงการดูแลแบบพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Work form Home และการจำกัดการเดินทาง จำกัดพื้นที่ร้านอาหาร โดยขณะนี้กำลังพิจารณามาตรการหรือโครงการที่จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางบางส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงซอฟต์โลนของ ธปท. นอกจากนี้จะต้องมีการนำวงเงินเข้าไปช่วยรักษาระดับการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบมาปีกว่า ทำให้การจ้างงานใหม่ยังมีข้อจำกัด ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ต้องดูว่าจะมีโครงการอะไรเข้าไปช่วยเรื่องการจ้างงานเพิ่มเติม
    สำหรับภาพรวมการเบิกจ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันได้มีแผนการใช้จ่ายเงินครบถ้วนแล้ว โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 79.88% จากวงเงินที่มีการอนุมัติแล้วทั้งหมด 8.7 แสนล้านบาท ซึ่งมีการประเมินว่าหากมีการเบิกจ่ายวงเงินตามที่อนุมัติทั้งหมดแล้ว จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ประมาณ 2%
    ทั้งนี้ ภาพรวมแผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันได้มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 2.58 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1.91 หมื่นล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเสนอโครงการเพื่อใช้เงินสำหรับการจัดหาวัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยารักษาโรคเพิ่มเติม ส่วนแผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท มีการอนุมัติวงเงินแล้ว 1.25 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 1.44 แสนล้านบาท ก็จะใช้สำหรับดำเนินโครงการที่จะช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่ง และเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จำนวน 4 โครงการ โดยคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเห็นชอบในหลักการไปแล้ว
    ในส่วนแผนงานด้านการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 6.8 แสนล้านบาท ขณะนี้มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 6.66 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ดำเนินโครงการเราไม่ทิ้งกัน แผนงานช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มเปราะบางต่างๆ และโครงการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ผ่านโครงการเราชนะและโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท โดยมีประชาชนได้รับการเยียวยาช่วยเหลือกว่า 40 ล้านคน
คลังประเดิมกู้แสนล้าน
    ที่กระทรวงการคลัง นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.คาดว่าจะสามารถกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ก้อนแรกภายในสิ้นปี 2564 จำนวน 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2564-2565 ขยายตัวเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 0.75% หรือช่วง 2 ปี ที่ 1.5% ทั้งนี้ สบน.จะทยอยกู้ตามความจำเป็น เช่นเดียวกันกับ พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท และใช้เครื่องมือในการกู้ต่างกัน ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลก็จะดูแลไม่ให้ล้นตลาด โดยยืนยันว่าการบริหารหนี้สาธารณะทำด้วยความรอบคอบ ในภาวะวิกฤติการกู้เงินเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดในการดูแลเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศดำเนินการอยู่
    "ยืนยันว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเป็นการตรากฎหมายตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการทุกฉบับ ส่วนการปรับลดวงเงินกู้จาก 7 แสนล้านบาท เหลือ 5 แสนล้านบาท เนื่องจาก ครม.เห็นชอบกรอบไว้ที่ 7 แสนล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาตามความจำเป็นเห็นว่า 5 แสนล้านบาทเป็นตัวเลขที่เหมาะสม จึงกู้ 5 แสนล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวกับว่ากังวลว่าจะก่อหนี้ทะลุ 60% ของจีดีพี" ผอ.สบน.ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการวินัยการคลัง เพื่อพิจารณากรอบการก่อหนี้ที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี ซึ่งในปี 2564 ครบรอบ 3 ปี ที่จะต้องกลับมาทบทวน จะมาดูว่าจำเป็นต้องมีการขยายกรอบหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาความต้องการใช้เงินของรัฐในระยะปานกลาง หากต้องการใช้เงินกู้ก็สามารถปรับได้ แต่หากเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัว ก็อาจจะไม่ปรับก็ได้
    วันเดียวกัน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ได้มีการประสานไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ค. หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 และ 2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาฯ พ.ศ.2564.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"