คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับ 53/2560 ใหญ่กว่า พรป.พรรคการเมือง?


เพิ่มเพื่อน    

    ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ศาล รธน.วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค. หลังจากนี้โรดแมปก็เดินไปสู่การเลือกตั้งภายใน 11 เดือน หรือในช่วงเดือน เม.ย. ปี 62 แต่ปัญหาใหญ่อีกประการที่ยังเป็นโซ่ตรวนผูกมัดบรรดานักการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้ ก็คือต้องรอการวินิจฉัยของศาล รธน. ในวันที่ 5 มิ.ย. ว่าสุดท้ายแล้วคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 53/2560 กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) อะไรใหญ่และศักดิ์สิทธิ์กว่ากัน
    ที่จริงควรจะมีคำตอบจากศาล รธน.โดยเร็ว พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคการเมืองเก่าขนาดกลางได้รับความเสียหายและเดือดร้อนโดยตรงจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 53/2560 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 140 และ 141 เกี่ยวกับการให้สมาชิกพรรคยืนยันตนเองพร้อมหลักฐานการเป็นสมาชิกพรรค และประเด็นข้อจำกัดไม่สามารถcจัดประชุมใหญ่พรรค การจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560
    นักการเมืองมองว่าเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร และเป็นการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม แก่ทั้ง 2 พรรค จึงยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัย แต่ศาล รธน.ก็ทอดเวลาไป ซึ่งไม่ทราบจะออกมาในทิศทางใด
    หากย้อนเข็มนาฬิกาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มาตรา 44 รธน.ฉบับชั่วคราวที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. และนำไปใส่รับรองไว้ใน รธน.ฉบับ 2560 อำนาจตามมาตรา 44 จึงถูก คสช. และ พล.ประยุทธ์ใช้เป็นดาบอาญาสิทธิ์เรื่อยมา ส่วนการออกคำสั่งและการบังคับใช้เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องพูดถึง เพราะรู้ๆ กันอยู่
    ความแตกต่างในสาระสำคัญระหว่างคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 กับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง คือกระบวนการตรากฎหมาย พ.ร.ป.พรรคการเมืองผ่านขั้นตอนการตรากฎหมายเป็นไปตาม รธน.ที่บัญญัติไว้โดย สนช.ลงมติเห็นชอบวาระ 3 เป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ตุลาคม 2560 ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง  
    พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 34 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย....
    ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2561 และฉบับอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อประกาศในราชกิจจาฯ ก็บังคับใช้เลย โดยมิได้นำขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
    นี่คือความแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญของที่มาแห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองกับคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ก็มีเหลี่ยมกลทางกฎหมายแฝงฝังอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ซึ่งเป็นการยืดเวลาการเลือกตั้งให้ทอดยาวออกไป และฝ่ายที่อยากเลือกตั้งทำอะไรไม่ได้
    โปรดสังเกต คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2561ข้อ 8 ที่ระบุถึง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ว่าถ้าประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อใด นั่นแหละให้ ครม.แจ้ง คสช.เพื่อแก้ไขคำสั่ง ประกาศ คสช.ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง ดังข้อความ
    “เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.....ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง และร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้”
    เท่ากับว่าทุกอย่างที่ผ่านมายึกยักและชะงักอยู่กับที่ เพราะการวางหมากทางกฎหมายที่แยบยลของเนติบริกร เพื่อสร้างสภาวการณ์ไม่ให้นักการเมืองได้เคลื่อนไหว ขณะที่ฝ่ายหนุนรัฐบาล คสช. และลิ่วล้อยังเดินหน้าสะสมคะแนนเสียงและเสบียงกรังแต่ฝ่ายเดียวอย่างเต็มที่ 
    จึงต้องดูว่า ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ อะไรจะศักดิ์สิทธิ์กว่ากันระหว่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองและคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2561 นอกจากหลักนิติธรรมแล้ว ยังกำหนดทิศทางการเมืองหลังจากนี้อีกด้วย.   
            


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"