หมอพร้อมยังไม่เคลียร์ ‘สาธิต’จี้ศบค.อธิบายให้ชัด/ส.ส.ภท.โวย‘ไทยร่วมใจ’


เพิ่มเพื่อน    

 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นัดแถลงชัดๆ เรื่อง “วัคซีนทางเลือก” 28 พ.ค. “หมอนิธิ” ยันเป็นแค่ตัวเสริมทำงานประสานสาธารณสุขต่อเนื่อง เมื่อไหร่ไทยผลิตวัคซีนได้เพียงพอก็ลดการนำเข้า “หมอหนู” รับไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน “วิษณุ” แจงทำได้ งานไม่ซ้ำซ้อน สธ. เป็นการอุดช่องว่างยามนี้ ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือต้องผ่าน อย. “หมอพร้อม” ยังไม่เคลียร์ สาธิตจี้ ศบค.ต้องอธิบายให้ชัด ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มงอแงจัดสรรวัคซีน “ลูกเฮียตือ” โวยไทยร่วมใจทำไมมีแค่ใน กทม.

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 พ.ค. ยังคงมีความต่อเนื่องจากประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 112 ง และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ค. โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายว่า การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะมาช่วยจัดหาวัคซีนตัวเลือกมาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้เพียงพอ ทางราชวิทยาลัยจะค่อยๆ ลดปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง เช่นเดียวกับยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
ศ.นพ.นิธิโพสต์ต่อว่า สำนักงานราชวิทยาลัยที่เป็นส่วนงานยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า ร่วมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้ โดยประกาศนี้เป็นการประกาศตามภารกิจของราชวิทยาลัยตามพระราชบัญติจัดตั้งราชวิทยาลัยอันเป็นภารกิจปกติ โดยเป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ
“ราชวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุขทำงานประสานงานกันในเรื่องต่างๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย” ศ.นพ.นิธิโพสต์ทิ้งท้าย
    ขณะเดียวกัน ในวันที่ 28 พ.ค. ได้มีนัดแถลงข่าวเรื่อง "แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม" โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับ สธ. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งทำให้ประชาชนตื่นตัวแห่ไปลงทะเบียนเพื่อเข้ารับวัคซีน โควิด-19 กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จำนวนมาก ทำให้เว็บล่มเป็นระยะ และในเวลา 16.00 น. ก็ได้ปิดรับการลงทะเบียน เนื่องจากเต็มแล้ว
    ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย inside Thailand ในช่วงเช้ากรณีนี้ว่า ไม่ได้ทราบล่วงหน้ามาก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องถามรองนายกฯ วิษณุ ว่าหน้าที่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของ สธ.หรือไม่ เพราะการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ต้องผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนกำหนดการนัดแถลงข่าว เรื่องนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ 28 พ.ค.นั้น เป็นกำหนดการมานานแล้ว ไม่เกี่ยวกับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    ต่อมานายอนุทินกล่าวในเรื่องนี้อีกครั้งว่า สธ.ยังทำหน้าที่ตามภารกิจตามกฎหมายที่ระบุเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีเรื่องไหนที่ประชาชนต้องกังวลใจ หากทุกหน่วยงาน องค์กรจะเข้ามาช่วยทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เราพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ซ้ำซ้อน สธ.
ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อธิบายเรื่องนี้ว่า การออกประกาศดังกล่าวเพื่อมีอำนาจนำเข้าวัคซีน แต่ไม่ใช่นำเข้ามาโดยอิสระ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาต อย.และ สธ. แต่ถ้าไม่ออกประกาศมาก็ไม่สามารถขอยื่นอะไรได้เลย หรือเรียกว่าตกคุณสมบัติ โดยเป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น และใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน ดังนั้นประกาศดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเป็นการจัดหาซ้ำซ้อนกับ สธ.ที่กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เพราะต้องไปขออนุญาตจาก สธ.อยู่ดี เพียงแต่เขาเป็นอีกช่องทางหนึ่งเหมือนกับเอกชน หรือใครต่อใครที่ไปติดต่อแล้วกลับมาขออนุญาตโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศักยภาพไปติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สปุตนิก หรือแม้แต่ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เหมือนกับเอกชนหลายคนที่มีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาเอกชนไม่มีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องออกประกาศมาว่าตัวเองมีคุณสมบัติ แล้วจะมีสถานะเทียบเท่ากับเอกชนทั้งหลาย โดยต้องผ่าน อย.รวมทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ วัคซีนและเวชภัณฑ์ ไม่ว่าตัวใดก็ต้องมาขอ อย.อยู่ดี โดยไม่ได้มาของบประมาณของรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็จะไปทำเอง
    เมื่อถามว่าโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะดำเนินการเช่นเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องทำเช่นนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา คนที่จะนำเวชภัณฑ์เข้ามาได้ ถ้าเป็นราชการคือ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐก็เข้าข่ายตรงนี้อยู่แล้ว แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เข้าข่าย เขาจึงต้องออกประกาศสถานะเขาขึ้นมา หากในกรณีถ้าเป็น รพ.เอกชน เช่น รพ.บํารุงราษฎร์ เขาก็มาแบบเอกชน เขาทำได้อยู่ วันนี้เอกชนหลายเจ้าก็ทำกันอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ได้อธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมทั้งนายอนุทินทราบแล้ว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว เพราะองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้ลงนามใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้ลงนาม ซึ่งพระองค์ท่านเป็นประธานสภาฯ ดังนั้นคนอื่นลงนามไม่ได้ และกฎหมายก็เขียนไว้ว่า เมื่อเสร็จแล้วให้ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศให้คนทั้งประเทศรับทราบว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยกระดับขึ้น เพราะถ้าไม่มีการออกประกาศ และหากไปยื่นขอจาก อย.ก็จะถูกตีกลับ เพราะไม่มีคุณสมบัติ
    ส่วน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณี ปตท.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อนำไปใช้สำหรับพนักงานกลุ่ม ปตท. ภาคอุตสาหกรรมและเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน ว่า ปตท.ยังไม่ทราบปริมาณการนำเข้าวัคซีนและจำนวนวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างชัดเจน จึงไม่สามารถระบุเงินลงทุนที่แน่นอนได้ แต่ ปตท.ได้ตั้งงบประมาณโครงการต่อลมหายใจเดียวกันราว 200 ล้านบาทไว้ แต่หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ยืดเยื้อ ก็พร้อมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ ปตท.เตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ 2,000 ขวด จากไต้หวัน มาเสริมในประเทศไทย ที่มีอยู่ 4,000 ขวดในปลายเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อมอบแก่ภาครัฐใช้รักษาผู้ป่วยจากโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงด้วย
รพ.เอกชนแถลงใหญ่สัปดาห์หน้า
    นพ.บุญ วนาสิน คณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะประเด็นข่าว 7 HD ว่า วัคซีนทางเลือกของ รพ.เอกชนตอนนี้เล็งโมเดอร์นาไว้เป็นอันดับต้นๆ โดยได้รับคำชี้แจงจาก ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนว่า กำลังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับราคาของวัคซีนทางเลือกแต่ละชนิด โดยจะแถลงใหญ่ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในสัปดาห์หน้า
    พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เป้าหมายที่รัฐบาลประกาศว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนประมาณ 50 ล้านคน ให้เสร็จภายในปี 2564 ขณะนี้เหลือประมาณ 7 เดือนเศษ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นห่วงว่าต้องฉีดให้ได้วันละเกือบ 250,000 โดสต่อวัน เรื่องนี้บุคลากรทางการแพทย์เราพร้อมหรือไม่ เข็มฉีดวัคซีน สถานที่พร้อมหรือไม่ ควรให้ รพ.เอกชนที่ถือได้ว่ามีความพร้อม มีความรู้ มีบุคลากร ที่จะเข้ามาช่วยฉีดวัคซีน อย่างกรณีของราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ซึ่งคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนอันหนึ่งว่าการเข้าถึงวัคซีนที่ราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ได้ดำเนินการ โดยมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปซื้อวัคซีนที่แตกต่างจากรัฐบาลได้ และสามารถช่วยฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลลองพิจารณาว่าถ้าโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดนั้น สามารถช่วยฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการได้
    สำหรับความเคลื่อนไหวในการลงทะเบียนฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการชะลอการลงแอปพลิเคชันหมอพร้อมนั้น มีรายงานว่าภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ร่วมบันทึกเทปกล่าวอาเศียรวาท นายกฯ ได้หารือร่วมกับ ครม.บางส่วนนอกรอบในประเด็นการปรับแผนการกระจายวัคซีนเพื่อให้เหมาะสมกับการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ หลังนายกฯ สั่งชะลอการใช้แอปหมอพร้อม โดยหลังหารือนอกรอบกว่า 30 นาที นายกฯ ได้เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์หรือตอบคำถามสื่อมวลชนแต่อย่างใด
    ขณะที่นายอนุทินกล่าวถึงการชะลอลงทะเบียนผ่านแอปหมอพร้อม และการปรับแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นการช่วยกันทำงาน โดยบูรณาการร่วมกันกับหลายภาคส่วน ในการลงทะเบียนจองวัคซีน อาจใช้แอปพลิเคชันของจังหวัด หรือ อสม.ในพื้นที่ ส่วนการคำนวณวัคซีน จะนำจำนวนวัคซีนมาหารด้วยจำนวนจังหวัด และเปรียบอัตราส่วนการระบาดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การจัดสรรวัคซีนแต่ละจังหวัดย่อมไม่เท่ากัน แปรผันตามสถานการณ์การระบาด ไม่ได้คำนวณว่าจังหวัดไหนมีจำนวนประชากรมากอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ ศบค.จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสรร ส่วนหมอพร้อมยังคงเป็นแอปที่ใช้ตรวจสอบอาการหลังรับวัคซีน และใช้ในการออกใบรับรองเมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 โดส
ยันวัคซีนมาตามกำหนด
“วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังมาตามกรอบเดิมในเดือน มิ.ย. ส่วนจะทันฉีดตามกรอบของรัฐบาลที่กำหนดไว้ 7 มิ.ย.หรือไม่นั้น ต้องขอย้ำว่าการเดินหน้าฉีดวัคซีนของไทยมีมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ไม่ใช่เพิ่งมาฉีด และวัคซีนก็ไม่ได้มีแค่แอสตร้าเซนเนก้า แต่ยังมีซิโนแวค ซึ่งวัคซีนที่นำมาฉีดให้กับประชาชนมีคุณภาพทุกตัว และมีความปลอดภัย" นายอนุทินกล่าว
          ส่วนกระแสข่าวสหภาพยุโรป (อียู) กดดันให้ บ.แอสตร้าเซนเนก้า ต้องจัดส่งวัคซีนให้ 90 ล้านโดส หลังจากเกิดสถานการณ์การระบาดในหลายประเทศ นายอนุทินกล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้ายังไม่ได้ผิดสัญญา เพราะกรอบคือ มิ.ย. แต่หากว่าถึงเวลาการจัดส่งวัคซีนให้ไทยไม่เป็นไปตามสัญญาที่กำหนด และเกิดผลกระทบกับคนไทย ก็พร้อมดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้การควบคุมโรค และสถานการณ์การระบาดของไทยควบคุมได้ แต่หากไทยไม่ได้มีสถานการณ์ระบาดรุนแรง การจัดสรรวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยก็สามารถบริหารจัดการได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสม
    ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. กล่าวถึงการชะลอลงทะเบียนในแอปหมอพร้อม ว่าไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่เข้าใจในแง่การปรับการฉีดวัคซีนสำหรับหมอพร้อมใน 2 กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ลงทะเบียนอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ที่มี 7 โรคเสี่ยง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 30 พ.ค.นี้ จึงอยากให้ ศบค.ชี้แจงกับสังคมให้ชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไร ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร และประชาชนจะปฏิบัติตัวอย่างไร
    "สองกลุ่มข้างต้นจะต้องได้ฉีดตามที่กำหนดไว้ ส่วนการชะลอลงทะเบียนในกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยการปรับให้ไปลงในแต่ละจังหวัด ควรสื่อสารให้ชัดว่าในทุกจังหวัดจะต้องมีแอปหรือแพลตฟอร์มแยกในแต่ละจังหวัด ต้องอธิบายให้ชัดเจนมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนของ 2 กลุ่มที่ลงทะเบียนไปแล้วว่าจะได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่ง ศบค.ต้องตอบ" นายสาธิตกล่าว
    ส่วน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ปฏิเสธให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า เรื่องนี้ต้องถามรายละเอียดจาก ศบค. เนื่องจากนายกฯ มอบหมายให้ ศบค.เป็นผู้ดำเนินการ
    ขณะเดียวกัน นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย และนายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้แถลงถึงการจัดสรรวัคซีนของ ศบค. โดยมีเนื้อหาเรียกร้อง ศบค.ให้กระจายวัคซีนอย่างเหมาะสม และให้ ศบค.ทบทวนรูปแบบการลงทะเบียนใหม่ และจัดการวัคซีนใหม่ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนและเมืองเศรษฐกิจ
สำหรับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ในโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย Safe Bangkok” ผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com พบว่าผ่านไป 4 ชั่วโมง มีผู้ลงทะเบียนเกิน 1 ล้านคนแล้ว
ด้าน นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ว่า ไทยร่วมใจกรุงเทพฯ ปลอดภัย ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ ซึ่งเข้าใจในหลักคิดและเจตนาที่ดีที่จะให้เมืองหลวงซึ่งเป็นพื้นที่ไข่แดงได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง แต่อดคิดและตั้งคำถามไม่ได้ว่า แล้วคนต่างจังหวัด ใครจะร่วมใจให้พวกเขาปลอดภัย อย่าลืมว่าเรายังมีทรัพยากรคือวัคซีนจำกัด และวัคซีนก็เป็นของคนไทยทุกคน ไทยร่วมใจ ต้องทำให้คนไทยทั้งประเทศปลอดภัย ไม่ใช่แค่คนในกรุงเทพมหานคร.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"