โซเชียลมีเดียในความขัดแย้ง ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’


เพิ่มเพื่อน    

 

 ข้อกล่าวหาที่โซเชียลมีเดียได้รับจาก Marwa Alhelo ศิลปินชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา กรณีความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ครั้งล่าสุด

 

            การโจมตีทางอากาศระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์รอบล่าสุดที่กินเวลา 11 วัน ได้ยุติลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว หันมานับศพก็พบว่ามีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตรวมเกือบ 300 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 66 คน และพลัดที่อยู่เพราะบ้านเรือนได้รับความเสียหายราว 72,000 คน ฝั่งอิสราเอลเสียชีวิต 13 คน มีเด็ก 2 คน แรงงานชาวไทย 2 คน และชาวอินเดีย 1 คน

                เรื่องสู้รบด้วยอาวุธ ฝ่ายฮามาส-ปาเลสไตน์ไม่มีทางต่อกรกับอิสราเอลได้ ทุกฝ่ายย่อมทราบดี และทุกวันนี้ยังมีการต่อสู้ด้วยโซเชียลมีเดียอีก อุปกรณ์สื่อสารอาจจะมีประสิทธิภาพพอฟัดพอเหวี่ยง แต่กติกาถูกตั้งโดยผู้กำหนดนโยบายของแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ผู้นำของฝ่ายที่มีสัมพันธ์อันดีกับแพลตฟอร์มเหล่านี้จึงย่อมมีความได้เปรียบ

                ขออนุญาตนำเรื่องราวจากเว็บไซต์ข่าวตะวันออกกลาง Middle East Eye ของฝ่ายอาหรับที่ประมวลไว้เมื่อไม่กี่วันก่อน แปลและเรียบเรียงนำเสนอแด่ท่านผู้อ่านในวันนี้

                “Israel-Palestine : How social media was used and abused” (อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : การใช้และการครอบงำโซเชียลมีเดีย)

                บรรดาโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ถูกกล่าวหาว่าเซ็นเซอร์เนื้อหาของฝั่งปาเลสไตน์ ไม่สามารถจัดการกับข้อมูลเท็จ และปล่อยให้มีการยุยงปลุกปั่นและนำไปสู่การก่อความรุนแรง แพลตฟอร์มต่างๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ Middle East Eye แยกย่อยสิ่งที่พบเห็นออกเป็น 5 ลักษณะ

                1.ชาวปาเลสไตน์ถูกปิดปาก

                เริ่มต้นจากที่มีการรณรงค์ต่อต้านการขับชาวปาเลสไตน์ 6 ครอบครัวออกจากชุมชนชีคจาร์ราห์ ในเขตยึดครองเยรูซาเลมตะวันออก สถานการณ์คุกรุ่นจนนำไปสู่การสลายการประท้วงของชาวปาเลสไตน์โดยกองกำลังเจ้าหน้าที่อิสราเอล

                Middle East Eye รายงานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมว่า มีการลบเนื้อหาออกจากโซเชียลมีเดีย รวมถึงแขวนบัญชีผู้ใช้ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนชีคจาร์ราห์ โดยบัญชีอินสตาแกรมของ “โมนา เอล-เคิร์ด” นักข่าวชาวชีคจาร์ราห์ที่ถูกคำสั่งขับไล่ใช้การไม่ได้ ขณะนั้นเธอกำลังบันทึกสารคดีรายวันเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่เธอได้รับ นอกจากนี้โพสต์ของ “โมฮาเหม็ด เอล-เคิร์ด” น้องชายของเธอก็ถูกลบออกด้วยข้อกล่าวหา “Hate speech” เขาอธิบายว่าเป็นเพียงวิดีโอที่ถ่ายตอนตำรวจกำลังกระทำรุนแรง โดยที่ไม่ได้เขียนคำบรรยายใดๆ เพิ่มเติม

                ชาวชุมชนชีคจาร์ราห์ประท้วงว่าเนื้อหาของพวกเขาที่โพสต์ลงในอินสตาแกรมเข้าถึงผู้ใช้ได้น้อยกว่าปกติด้วยสาเหตุที่อธิบายไม่ได้ ขณะที่บริษัทแม่ของอินสตาแกรมคือเฟซบุ๊กก็พบว่ากลุ่ม Save Sheikh Jarrah ที่มีสมาชิกมากกว่า 130,000 ราย ก็ถูกใช้งานไม่ได้ชั่วคราว ด้วยคำอธิบายว่าขัดกับมาตรฐานของชุมชนเฟซบุ๊ก

                ด้านทวิตเตอร์ก็มีข้อน่ากังขาเช่นกัน บัญชีของนักข่าวชาวปาเลสไตน์ “มาเรียม บากูติ” ถูกแขวนในขณะที่เธอกำลังรายงานการประท้วงให้กำลังใจชาวชุมชนชีคจาร์ราห์ของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ ต่อมาทวิตเตอร์อธิบายว่าบัญชีของเธอถูกแขวนโดยเหตุผิดพลาดของระบบ

                เหตุการณ์ดำเนินมาจนถึงตอนที่ตำรวจอิสราเอลเข้าปะทะกับผู้ประกอบพิธีทางศาสนาในวันสุดท้ายของการถือศีลอดในมัสยิดอัล-อักซอ เยรูซาเลมตะวันออก สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 3 แห่งของชาวมุสลิม การใช้แฮชแท็ก “อัล-อักซอ” ในอินสตาแกรมถูกซ่อนชั่วคราว โดยสื่อสังคมออนไลน์เจ้านี้อธิบายว่า “มีบางเนื้อหาอาจไม่ตรงกับคำแนะนำการใช้ของอินสตาแกรม” ฝ่ายเฟซบุ๊กผู้เป็นเจ้าของอินสตาแกรมก็โยนความผิดให้กับ “ปัญหาทางเทคนิค” และอธิบายว่า “ไม่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อของเนื้อหาใดเป็นการเฉพาะ”

                อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ buzzfeednews รายงานว่า ระบบกลั่นกรองเนื้อหาของอินสตาแกรมเชื่อมโยงคำว่า “อัล-อักซอ” กับ “องค์กรที่มีความอันตรายและการก่อการร้าย” ซึ่งเว็บไซต์นี้อ้างจากการสื่อสารภายในของลูกจ้างในบริษัทอินสตาแกรมนั่นเอง

                นักสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มได้ให้ความเห็นว่าการปิดกั้นของโซเชียลมีเดียอาจนำไปสู่การทำลายหลักฐานอาชญากรรมสงครามต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งในเวลานี้ศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังพิจารณาเข้าทำการสืบสวนสอบสวน

                เว็บไซต์สำนักข่าว Intercept ของ First Look Media องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐรายงานว่า เฟซบุ๊กมีนโยบายในการถอดเนื้อหาที่ใช้คำว่า “ไซออนิสต์” ในความหมาย “ชาวยิว” หรือ “ศาสนายูดาห์” ซึ่งในความเป็นจริงปฏิบัติได้ยากมาก เป็นข้อกำหนดที่ทำให้แทบจะไม่มีพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการไซออนิสต์

                สัปดาห์ก่อน “เบนนี กานต์ซ” รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล (ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม) ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของ TikTokและ Facebook โดยขอให้โซเชียลมีเดียทั้ง 2 รายลบเนื้อหาที่มีความรุนแรง และให้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสำนักงานทางไซเบอร์ของอิสราเอล (ขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรม) อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ รายงานจาก 7amleh หน่วยงานสิทธิทางออนไลน์ของชาวปาเลสไตน์ระบุว่า เฟซบุ๊กได้ยอมรับว่า ร้อยละ 81 ของคำขอจากหน่วยงานไซเบอร์ของอิสราเอลได้รับการปฏิบัติตาม

                2.ข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอม

                ทุกวันนี้หลายคนทั่วโลกพึ่งพาข้อมูลข่าวสารความรุนแรงกรณีอิสราเอล-ปาเลสไตน์จากโซเชียลมีเดีย เพราะไม่สามารถเชื่อถือสื่อกระแสหลักของโลกตะวันตกได้ แต่เนื้อหาในโซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยข้อมูลไม่ถูกต้อง รวมถึงเนื้อหาจากหน่วยงานของรัฐ

                บัญชีทวิตเตอร์ของกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ได้แชร์คลิปที่อ้างว่ากลุ่มฮามาสกำลังติดตั้งเครื่องยิงจรวดเข้าไปในเขตชุมชน แต่ความจริงคือเป็นของอิสราเอลเองที่ใช้ในการซ้อมรบทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

                “แดน โบแรซ” ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลได้แชร์วิดีโอที่มีการอ้างว่าชาวปาเลสไตน์จัดงานศพขึ้นมาหลอกๆ เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากชาวโลก ในภาพมีกลุ่มวัยรุ่นแบกร่างคนตาย เมื่อเสียงไซเรนดังขึ้นทั้งคนแบกและร่างที่ถูกแบกต่างวิ่งหนีกระจัดกระจาย ความจริงเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในจอร์แดนเมื่อปีที่แล้ว โดยกลุ่มวัยรุ่นพยายามหลบเลี่ยงมาตรการโควิด-19 โดยแสร้งว่ากำลังจัดงานศพ

                อีกตัวอย่าง ได้แก่ การแชร์วิดีโอที่อ้างว่าชาวปาเลสไตน์กำลังแต่งหน้าให้ดูเหมือนว่าได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีของอิสราเอล ทั้งที่เหตุการณ์ในวิดีโอเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน และเป็นรายงานข่าวเกี่ยวกับศิลปินแต่งหน้าชาวปาเลสไตน์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง

                อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่สื่ออาหรับรายงานผิดพลาดเช่นกัน ตัวอย่างเช่น วิดีโอที่กลุ่มชาวยิวฉีกทึ้งเสื้อผ้าตัวเองเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาทางศาสนาในเยรูซาเลม แต่สื่อฝ่ายปาเลสไตน์ได้อ้างว่าพวกนี้กำลังหลอกให้คนดูคิดว่าพวกเขาได้รับบาดเจ็บ

                3.โฆษณาชวนเชื่อของอิสราเอล

                บัญชีทางการของอิสราเอลได้ถูกใช้ไปในทางยุยง ปลุกปั่น และโฆษณาชวนเชื่อ มีบัญชีอินสตาแกรมภาษาฮีบรูของทหารอิสราเอลใช้ภาพมีมแบบ “Before” และ “After” แสดงให้เห็นว่าอพาร์ตเมนต์ในฉนวนกาซาหลังหนึ่งก่อนและหลังถูกถล่มต่างกันอย่างไร

                บัญชีทวิตเตอร์ของ IDF ได้แชร์ภาพอาคารหลายหลังถูกระเบิดในกาซา รวมถึงหลังสำคัญอันเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวอัลจาซีรา, เอพี และรวมถึง Middle East Eye ซึ่งอ้างว่าเป็นที่อยู่ของทหารฮามาส ทั้งที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน และสื่อหลายเจ้าก็ออกมาให้ข่าวว่าหากมีฮามาสอยู่ในตึกดังกล่าวก็คงไม่ใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงาน

                นอกจากนี้อิสราเอลยังได้ประกาศบนทวิตเตอร์อันเป็นเหมือนการสื่อสารต่อสื่อมวลชนนานาชาติว่ากองกำลังภาคพื้นดินได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีเข้าไปในฉนวนกาซา ซึ่งต่อมาสื่อของอิสราเอลรายงานว่าทวีตดังกล่าวเป็นการขู่หรือลวงให้นักรบฮามาสเข้าใจผิดเพื่อปรากฏตัวในที่แจ้งให้เห็นมากขึ้นนั่นเอง

                การใช้โซเชียลมีเดียในจุดประสงค์ดังกล่าว ทำให้กองทัพอิสราเอลถูกกล่าวหาว่าใช้บัญชีทางการไปในทางที่ผิด ข่มขู่ประชาชน และกระจายข่าวบิดเบือน เป็นเหมือนการเผยแพร่อาชญากรรมสงครามสดๆ ผ่านทวิตเตอร์

                กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนทางไซเบอร์เปรียบเทียบการดำเนินการของบริษัทโซเชียลมีเดียว่าใช้มาตรฐานที่แตกต่างกัน ในขณะที่ปิดกั้นกลุ่มเคลื่อนไหวของปาเลสไตน์ แต่กลับปล่อยให้บัญชีทางการของอิสราเอลดำเนินการตามวัตถุประสงค์ทางการเมืองและทางทหารได้ทั้งที่ผิดระเบียบของแพลตฟอร์ม

                บัญชีทวิตเตอร์ทางการของ Israel Arabic ได้โพสต์ข้อความ “Throwing Jews into the sea - โยนชาวยิวลงทะเล” อ้างว่ามาจาก “เบลลา ฮาดิด” นางแบบอเมริกันชื่อดังซึ่งเป็นลูกหลานของปาเลสไตน์ ความจริงแล้วเธอพูดว่า “From the river to the sea, Palestine will be free - จากแม่น้ำถึงทะเล ปาเลสไตน์จักมีเสรี”

                นักสังเกตการณ์หลายคนยังเห็นความแตกต่างการใช้บัญชีทางการของกองทัพอิสราเอลในภาษาฮีบรูและภาษาอังกฤษ กล่าวคือ ในภาษาฮีบรูเนื้อหาจะมีความก้าวร้าวและน่าเกรงขาม แต่ในภาษาอังกฤษจะออกไปในทางตั้งรับหรือป้องกัน นำเสนอตัวเองในลักษณะเหยื่อของความรุนแรง

                4.แผนการศาลเตี้ยบนแอปส่งข้อความ

                แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มส่งข้อความอย่าง Signal, Whatsapp และ Telegram ถูกใช้โดยกลุ่มอิสราเอลขวาจัดในการส่งข้อความพร้อมรายละเอียดแผนการมุ่งทำร้ายชาวปาเลสไตน์

                กลุ่มแชตที่มีสมาชิกหลายร้อยคนอย่าง The Underground Unit มีคนเขียนข้อความว่า “พกมาทุกอย่าง มีด น้ำมัน” อีกคนเขียน “อย่ากลัว เราต่างหากคือผู้ถูกเลือก”

                ขณะที่อีกกลุ่มแชตชื่อ Israel People Alive Haifa มีคนเขียนว่า “ถ้าเจอชาวอาหรับ ให้แทงทันที” อีกคนเขียน “โปรดมาพร้อมธง ไม้ มีด ปืน สนับมือ แผ่นไม้ สเปรย์พริกไทย หรืออะไรก็ได้ที่ทำร้ายพวกมันได้ เราจะฟื้นคืนศักดิ์ศรีของชาวยิว”

                ผู้ใช้ Whatsapp คนหนึ่งเขียนว่า “เราต้องการระเบิดขวด ไปที่สุเหร่า ไปทำให้พวกมันสั่นกลัว เราจะเผาบ้าน รถยนต์ และทุกๆ อย่างของมัน”

                Fake Reporter กลุ่มเฝ้าระวังการบิดเบือนข้อมูลของทางอิสราเอล รายงานว่า พวกเขาได้ส่งเรื่องให้กับทางตำรวจและสื่ออิสราเอลเมื่อสัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับการข่มขู่โจมตีชีวิตและธุรกิจของชาวปาเลสไตน์จากกลุ่มขวาจัดในแอปส่งข้อความ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการดำเนินการเอาผิดใดๆ โดยสื่ออิสราเอลบางส่วนตอบโต้กลับมาว่าไม่มีประโยชน์ที่จะรายงาน เพราะอาชญากรรมยังไม่เกิดขึ้น

                5.กองทัพซอมบี้ไซเบอร์ที่รัฐสนับสนุน

                แพลตฟอร์มออนไลน์ Act.IL ของอิสราเอลถูกพัฒนาขึ้นมาเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อตั้งกองทัพอันธพาลไซเบอร์จำนวนหลายพันแทรกซึมเข้าไปในสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีการสนทนาถกแถลงกันในประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กองทัพอันธพาลหรือเหล่าซอมบี้ไซเบอร์ได้รับคำสั่งจากแพลตฟอร์ม Act.IL ให้โพสต์ รีทวิต กดไลค์ ในทิศทางสนับสนุนอิสราเอล ต่อต้านปาเลสไตน์ นอกจากนี้ก็ตั้งหัวข้อรณรงค์กันขึ้นมาเพื่อล่ารายชื่อ

                พวกเขาได้รับข้อความที่เป็นข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่มีลักษณะเหมือนกัน (เทมเพลต) จากเจ้าแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อจะได้ “ก๊อปปี้” และ “วาง” ลงในหัวข้อสนทนาต่างๆ ตามสังคมออนไลน์ได้ทันที

                ทั้งนี้ Act.IL ผนึกกำลังกับกระทรวงความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ (Ministry of Strategic Affairs) โดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงได้กล่าวถึงแพลตฟอร์มนี้ว่าเป็น “โดมเหล็กแห่งความจริง” เพื่อล้อกับชื่อ “โดมเหล็ก” ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล โดยแพลตฟอร์มนี้ได้รับทุนสนับสนุนและกำหนดทิศทางการดำเนินงานจากรัฐบาลอิสราเอล

                นักวิชาการชื่อ “ไมเคิล บูเอคเคิร์ต” รองประธาน Canadians for Justice and Peace in the Middle East ใช้บัญชีทวิตเตอร์ของเขาในการเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหลของแอป Act.IL ได้กล่าวว่า กระทรวงความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอลมีนโยบายในการทำงานกับองค์กรแนวหน้าเพื่อหลบซ่อนบทบาทของรัฐอิสราเอลไว้

            “หนึ่งในเป้าหมายหลักของแอปนี้ก็คือการทำให้ดูเหมือนว่าพฤติกรรมของผู้ใช้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ และออกแบบกิจกรรมในโซเชียลมีเดียที่สนับสนุนอิสราเอลให้ดูเหมือนว่าเป็นไปโดยธรรมชาติ เกิดขึ้นเอง หรือที่เรียกว่าออร์แกนิก”

                เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แอปนี้ได้จัดให้มีการถล่มหรือรุมใส่แฮชแท็กในทวิตเตอร์ด้วยคำว่า “Right to Self Defence” และ “Israel Under Fire” - “สิทธิในการป้องกันตนเอง” และ “อิสราเอลกำลังลุกเป็นไฟ” นอกจากนี้ยังได้ใช้ช่องในแอป Telegram ของพวกเขาในการส่ง “ภารกิจ” ให้แก่ผู้ใช้งานเพื่อเผยแพร่วาทกรรมแห่งความเกลียดชังต่อชาวปาเลสไตน์.

 

**********************

 

 

เว็บไซต์ The Conversation เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา หัวข้อ Social media platforms are complicit in cersoring Palestinian voices (โซเชียลมีเดียมีส่วนร่วมในการปิดปากชาวปาเลสไตน์)

                เนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนด้านไซเบอร์ของชาวปาเลสไตน์ Sada Social ได้รับแจ้งจากชาวปาเลสไตน์ที่ใช้โซเชียลมีเดียว่ามีการลบหรือแขวนบัญชีมากกว่า 200 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงในชุมชนชีคจาร์ราห์ ในขณะที่กลุ่ม 7amleh และ The Arab Center for the Development of Social Media บันทึกการละเมิดสิทธิชาวปาเลสไตน์ในการใช้โซเชียลมีเดียได้ประมาณ 500 กรณี ระหว่างวันที่ 6-19 พฤษภาคม โดยมาจากอินสตาแกรม 50 เปอร์เซ็นต์ เฟซบุ๊ก 35 เปอร์เซ็นต์ ทวิตเตอร์ 11 เปอร์เซ็นต์ และติ๊กต๊อก 1 เปอร์เซ็นต์

            “อัชราฟ ไซตูน” อดีตหัวหน้าฝ่ายนโยบายของเฟซบุ๊กในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กล่าวกับ “อัลจารีราพลัส” ว่ามีการกดดันทั้งในอดีตและดำเนินอยู่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบจากรัฐบาลอิสราเอลในการปิดกั้นการแสดงออกในโซเชียลมีเดียของชาวปาเลสไตน์ เฟซบุ๊กร่วมมือกับฝ่ายสนับสนุนอิสราเอลมาโดยตลอด

                ฝ่ายโฆษกของเฟซบุ๊กแก้ข่าวโดยการให้สัมภาษณ์ว่า อัชราฟ ไซตูน ทำงานกับเฟซบุ๊กไม่นานกว่า 4 ปี และไม่มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับกระบวนการการตัดสินใจของเฟซบุ๊กในเรื่องเหล่านี้

                และเพื่อสยบคำครหาต่างๆ นานา เฟซบุ๊กได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยการจ้างพนักงานผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่พูดได้ทั้งภาษาอารบิกและฮีบรู

                เฟซบุ๊กมีสำนักงานในอิสราเอล และมีผู้อำนวยการนโยบายสาธารณะสำหรับประเทศอิสราเอลและชาวยิวในดินแดนอื่นๆ เป็นการเฉพาะ เขาคนนี้คือ “จอร์ดานา คัตเลอร์” อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี “เบนจามิน เนทันยาฮู” ส่วนผู้ดูแลในส่วนของปาเลสไตน์เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

                ปีที่แล้วเฟซบุ๊กตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อดูในเรื่องการปิดกั้นการแสดงความเห็นผ่านสังคมออนไลน์ที่เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมอีกจนได้เมื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาคือ “เอมิ พาลมอร์” อดีตผู้อำนวยการทั่วไปของหน่วยงานไซเบอร์ กระทรวงยุติธรรมอิสราเอล

                ผู้เขียนอธิบายทิ้งท้ายว่า รูปแบบที่เป็นอยู่ทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่กับนักการเมืองกำลังทำงานร่วมกันอย่างขันแข็งในการควบคุมพื้นที่ของเนื้อหาและเสียงสะท้อนของแต่ละฝักฝ่ายในโลกออนไลน์.

 

//////


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"