ศบค.ขาดยุทธศาสตร์ โควิด-19 ระบาดหนัก การเมืองนอกสภาขย่มซ้ำฐานอำนาจ 'ประยุทธ์'


เพิ่มเพื่อน    

      การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ถือว่ายังหนักหน่วงรุนแรง ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันยังไม่ลดลงอย่างที่คาดไว้ บางวันกลับพุ่งขึ้น 3-4 พันราย และมีผู้เสียชีวิตนิวไฮแทบทุกวัน โดยเฉพาะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก และยังไม่รู้ว่าจะกดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงได้เมื่อไหร่

            ที่น่าสนใจ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า “ในที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกภาพรวมลดลง ขณะที่ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง แนวโน้มคงตัว ทั้ง กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องจากกลุ่มเดิม และมีโอกาสจะพุ่งสูงขึ้นหากเราค้นหาเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงยังพบผู้ติดเชื้อผ่านชายแดนของประเทศอย่างต่อเนื่อง”

            เท่ากับยอมรับว่า การระบาดในประเทศไทยขณะนี้ สวนทางกับภาพรวมการระบาดทั่วโลก สะท้อนว่าการรับมือไวรัสโควิด-19 ของ ศบค.ไม่ได้สำเร็จเหมือนช่วงแรกๆ  ที่นานาชาติเคยชื่นชมว่าประเทศไทยรับมือโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ทั้งนี้เนื่องจากการระบาดระลอก 2-3 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมแซงหน้าประเทศจีนในที่สุด โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 144,976 ราย เสียชีวิตสะสม 954 ราย

            สำหรับต้นเหตุของการระบาดก็ล้วนมาจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ และการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของ ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นั่งอยู่ในตำแหน่ง ผอ.ศบค.นั่นเอง

            การระบาดรอบ 2 มาจากแรงงานต่างด้าวและบ่อนการพนันผิดกฎหมาย ซึ่ง ธุรกิจสีเทา เหล่านี้เป็นที่รับรู้กันดีว่าต้องจ่ายส่วยสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนการระบาดรอบ 3 มาจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ กลางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เปิดโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งก็ต้องจ่ายส่วยสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจในท้องที่เช่นเดียวกัน?

            ปมปัญหาสำคัญคือ หลังจากมีรายงานการเกิด  คลัสเตอร์ทองหล่อ ระบาดใน กทม.ช่วงต้นเดือน เม.ย.  แต่ ศบค.ก็ยังไม่มีมาตรการขั้นเด็ดขาดในการรับมือกับการระบาดที่รุนแรง กลับปล่อยให้คน กทม.เดินทางออกไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งที่ควร ล็อกดาวน์ พื้นที่ที่เกิดการระบาดเพื่อจำกัดวงไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น

            เมื่อคนกรุงเดินทางไปต่างจังหวัด ศบค.ก็ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนให้ทุกคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน กลับให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดออกมาตรการเอง ทำให้เชื้อไวรัสโควิดระบาดจากในเมืองไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ และลุกลามไปถึงระดับหมู่บ้าน กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา บางจังหวัดต้องสั่งปิดหมู่บ้านเพื่อสกัดการแพร่ระบาด

            สำหรับมาตรการการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วงแรก ศบค.จองซื้อไว้เพียง 63 ล้านโดส โดยเชื่อว่าครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เป็นวัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดส และ  Sinovac 2 ล้านโดส

            แต่เมื่อมีการระบาดรุนแรง ศบค.จึงต้องปรับแผนการจัดหาวัคซีนสู่เป้าหมาย 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน  50 ล้านคน เพื่อครอบคลุม 70% ของประชากร 

            ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ต้องประเมิน สถานการณ์ในอนาคตที่​เลวร้ายที่สุด  (worst case scenario) ไว้ด้วย แต่เมื่อ ศบค.ชะล่าใจจนเกิดระบาดรอบ 2-3 ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจนต้องเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

            ขณะที่ประชาชนก็เริ่มหวาดผวากลัวจะติดเชื้อ ทุกคนก็ต้องการได้หลักประกันความปลอดภัยในชีวิตอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อ ศบค.ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนให้พึงพอใจได้ ก็เกิดคำถามต่างๆ นานามากมาย ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของ ศบค.และรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ต่อมายังเกิดปัญหาการกระจายวัคซีนอีก เดิมทีจะกระจายให้แต่ละจังหวัดตามสัดส่วนประชากร แต่เนื่องจากแต่ละจังหวัดระบาดมากน้อยไม่เท่ากัน จึงต้องปรับแผนอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการลงทะเบียนและแผนการแจกจ่ายวัคซีน จากเดิมที่ใช้ระบบผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม”  โดยโฆษก ศบค.ขอให้ชะลอการลงทะเบียนด้วยระบบหมอพร้อมไปก่อน และปรับให้ไปลงในแต่ละจังหวัด สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนกับระบบหมอพร้อม โดยเฉพาะ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยงที่ได้ลงทะเบียนไปแล้วอยู่ในระบบของหมอพร้อม ซึ่งจะได้รับวัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะสม

แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังสับสนว่าตนเองจะได้ลงทะเบียนเมื่อไหร่ อย่างไร และวัคซีนที่รัฐบาลจองไว้จะได้มาตามสัญญาหรือไม่ ผู้ที่ลงทะเบียนแล้วจะได้ฉีดตามนัดหรือไม่ หากไม่ได้ รัฐบาลก็ถูกถล่มยับเยิน

            นอกจากประชาชนทั่วไปที่ยังสับสนแล้ว ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังข้องใจเช่นกัน โดย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรคร่วมกันแถลงว่า จาก 20 อันดับที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน พบว่าในจังหวัดสีแดงได้รับการจัดสรรน้อยกว่าจังหวัดที่เป็นสีขาวและสีเขียว เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ได้รับเพียง 237,000 โดส ไม่เพียงพอกับยอดผู้ติดเชื้อที่มีอย่างต่อเนื่อง และอยากให้ทบทวนระบบการจัดสรรวัคซีนใหม่

            ส่วน นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย และนายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ  แถลงเรียกร้อง ศบค.ให้กระจายวัคซีนอย่างเหมาะสม พร้อมทบทวนรูปแบบการลงทะเบียนและจัดการวัคซีนใหม่  โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนและเมืองเศรษฐกิจ

            ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ก็ไม่เห็นด้วยกับการชะลอลงทะเบียนในแอปหมอพร้อมที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จึงอยากให้ ศบค.ชี้แจงกับสังคมให้ชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไร ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร และประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร

            อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล การเปลี่ยนแผนก็ปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ว่าอะไรดี อะไรใช่หรือไม่ใช่ ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

            ความจริงแล้วการเปลี่ยนแผนไปตามสถานการณ์ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ผู้รับผิดชอบจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องและประชาชนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วย มิเช่นนั้นการปรับเปลี่ยนแผนอะไรก็ตามจะไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

            โดยเฉพาะการเมืองไทยที่ยังเลือกข้าง ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่พร้อมโจมตีและกระพือปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนไขว้เขวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

            เช่นกรณีโลกโซเชียลเผยแพร่จดหมายจาก บริษัท  แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ในฐานะพันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทย ของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีนซิโนฟาร์มในภูมิภาคเอเชีย อ้างว่าส่งถึง ศ.นพ.นิธิ  มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่องการเสนอขายวัคซีนต้านโควิด-19 ยี่ห้อ SINOPHARM จำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งพยายามติดต่อนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ รวมถึง รมว.สาธารณสุขแล้ว แต่บริษัทไม่สามารถเข้าถึงเพื่อนำเสนอเอกสารพร้อมข้อเสนอวัคซีนยี่ห้อและจำนวนดังกล่าวได้

            เท่านั้นเองบรรดาโลกโซเชียลก็ดาหน้าถล่มรัฐบาลยับ  ส.ส.ฝ่ายค้านก็ผสมโรงว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีน แต่สุดท้ายก็โป๊ะแตกบริษัทดังกล่าวไม่ใช่ตัวแทน SINOPHARM จริง เป็นแค่บริษัทนายหน้านักวิ่งเต้นเท่านั้น

            ซึ่งเมื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงทันท่วงที ทุกอย่างก็กระจ่าง ไม่สามารถกระพือข่าวได้อีก

จะเห็นว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติ (Crisis  Communications) เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ต้องมีความรวดเร็ว ถูกต้องรอบด้าน จึงจะสามารถสยบข่าวลือ  ข่าวปลอม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ทันท่วงที

            อีกด้านหนึ่ง คณะไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน  เพื่อประเทศไทย นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์,  นายจตุพร พรหมพันธุ์  เดินสายกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก โดยยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ถอดสลักการเมือง เปิดทางให้มีการเลือกนายกฯ คนใหม่ เพื่อแก้วิกฤติของชาติบ้านเมือง

            นอกจากนี้ยังยื่นหนังสือถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่ง หยุดค้ำบัลลังก์รับใช้ระบอบประยุทธ์

            และได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการรัฐประหารมา 7 ปี ล้มเหลว 5 ด้าน คือ 1.การปฏิรูปประเทศล้มเหลว ไม่ปรากฏรูปธรรม เป็นเพียงแค่ผลการศึกษาและยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่เข้ากับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง 2.การสร้างความปรองดอง ปัจจุบันความขัดแย้งทางความคิดการเมืองยังคงเป็นไปอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนเกรงว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงมากกว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งของคนในชาติทุกครั้ง

3.ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีพัฒนาการไปในทางเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง คะแนนดัชนีรับรู้การทุจริตของไทยที่จัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เผยว่าประเทศไทยตกต่ำตกอันดับต่อเนื่อง 4.ปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ 7 ปี รัฐบาลใช้งบประมาณแผ่นดิน 20.8 ล้านล้านบาท แต่ตัวเลขคนจนยังพุ่งสูงขึ้น 100%  ประชาชนกำลังเผชิญความทุกข์ยาก 5.การละเมิดสถาบัน ยังเป็นปัญหาที่แบ่งแยกประชาชน โดยเฉพาะบุคคลในอำนาจรัฐและบริวารเครือข่าย กลับแอบอ้างเพื่อแสวงหาประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง

จังหวะเดียวกับที่ กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดย ทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ, พิชิต ไชยมงคล และ ปรีดา เตียสุวรรณ์ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เสียสละด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการรับลูกกันและจะเคลื่อนไหวคู่ขนานกันไป  รอสถานการณ์พร้อมก็อาจผนึกกันเป็นเวทีเดียว

            การเคลื่อนไหวของทั้ง 2 กลุ่มที่ตั้งธงไล่ พล.อ.ประยุทธ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้การเคลื่อนไหวของ กลุ่ม 3 นิ้ว ที่ชูธงปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แผ่วลงไปทันที

            ศูนย์รวมการเคลื่อนไหวนอกสภาจึงไหลมารวมกันที่  2 กลุ่มนี้ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด จึงมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ที่ทำได้แต่เปิดเวทีปราศรัยออนไลน์ชำแหละ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับการเดินสายจี้ให้องคาพยพของรัฐบาลถอนตัว

อย่างไรก็ตาม บรรดากองหนุนประยุทธ์จำนวนมากก็เริ่มอึดอัดเบื่อหน่ายกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่อยากเปลี่ยนม้ากลางศึก และยังมองไม่เห็นว่าหากไม่เอาประยุทธ์ แล้วจะเอาใครมาแทนได้ดีกว่านี้ ขณะที่กลุ่มไทยไม่ทนมองว่าประยุทธ์เป็น ม้าขาเป๋ ดังนั้นใครก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงตามกลไกรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา 272 และ 272(2)

แม้โดยข้อเท็จจริงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นไปได้ยาก แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนไม่ได้ ซ้ำเดินสะดุดขาตัวเองเหมือนเหตุการณ์ในอดีต การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"